xs
xsm
sm
md
lg

“ธปท.” หารือ “คลัง-ก.ล.ต.” ออกมาตรการคุมผู้ค้าทองคำ-ลดเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธปท.” เตรียมคลอดกฎเหล็กคุม “ผู้ค้าทอง” สกัดปัญหาเก็งกำไรค่าเงินบาท “ประสาร” ยอมรับกำลังหารือ “คลัง-ก.ล.ต.” เพื่อออกมาตรการดูแล ทั้งโบรกเกอร์ และร้านขายทอง เผยข้อมูลมีนักลงทุนบางส่วนใช้เป็นช่องทางเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับ กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อวางกติกาเกี่ยวกับการซื้อขายทองคำของร้านค้าทอง หรือบริษัทที่เป็นนายหน้า (โบรกเกอร์) ซื้อขายทองคำ เพื่อป้องกันใช้เป็นช่องทางเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน

นายประสาร ยอมรับว่าที่ผ่านมา ธปท.พบว่ามีปริมาณการซื้อขายทองคำเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ไม่ได้มีการส่งมอบกันจริง อีกทั้งยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งปัจจุบัน โบรกเกอร์มีทั้งสิ้น 14 ราย และมีตัวแทนขาย 21 รายที่ได้รับอนุญาตให้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้

นายประสาร กล่าวเสริมว่า การวางกติกาซื้อขายทองคำจะเกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนที่เป็นการซื้อขายสัญญาซื้อขายทองคำที่มีการชำระราคาในทันที (spot) โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้ติดตามดูการซื้อขายทองคำของร้านค้า หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และดูว่าตัวเลขที่มีการซื้อขายเมื่อหักกลบกันแล้วเป็นอย่างไร

“เรามีการนำตัวเลขต่างๆ มาดู ทั้งตัวเลขการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และตัวเลขการซื้อขายทองคำ ซึ่งปรากฏว่า ตัวเลขการซื้อขายเงินตราต่างประเทศมีมากกว่าการซื้อขายทองคำค่อนข้างมากแบบมีนัยสำคัญ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การซื้อขายในส่วนนี้คงมีเรื่องการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้เอาตัวเลขเงินตราต่างประเทศที่เขาบอกว่าขอแลกเพื่อไปซื้อทองคำมาดูเทียบกับตัวเลขที่มีการซื้อขายทองคำกันจริงๆ ปรากฏว่า ตัวเลขการขอแลกเงินตราต่างประเทศมันสูงกว่า ดังนั้น คงมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอนในเรื่องนี้” นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่เป็นการซื้อขายชำระราคาในทันที หรือตลาดสปอต โดยในระยะหลังคนไทยซื้อทองคำในลักษณะที่เป็นการเทรดมากขึ้น และมากกว่าการซื้อเพื่อเก็บสะสม ประกอบกับผู้ประกอบการร้านค้าทองได้ขยายการให้บริการของตัวเองไปสู่การเป็นโบรกเกอร์มากขึ้น และมีการซื้อขายผ่านทองคำทางออนไลน์ ซึ่งไม่ได้มีการส่งมอบทองคำกันจริงๆ มากขึ้น

ดังนั้น จึงมีโจทย์ในเรื่องของความเรียบร้อย กับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะต้องทำให้แน่ใจว่า ถ้าลูกค้าต้องการทองคำขึ้นมาแล้วไม่มีของจะหาวิธีชดเชยกันอย่างไร ที่สำคัญโบรกเกอร์เหล่านี้มีเงินกองทุนเพียงพอหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ ธปท.เชิญผู้ประกอบการร้านค้าทองมาหารือเป็นระยะ เพราะให้ความสนใจมาตั้งแต่ช่วงที่ปริมาณการซื้อขายทองคำไม่มาก เพียงแต่ตอนนั้นยังเป็นแค่การขอความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งในตอนนี้คงเป็นโจทย์ว่า เราจะวางกติกาต่างๆ อย่างไรเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น ตอนนี้ก็อยู่ในชั้นการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านข้อมูล ธปท. ระบุว่า ปริมาณการนำเข้าทองคำ 7 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 10,858.64 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 8.2% ของปริมาณการนำเข้ารวม 131,058.21 ล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านๆ มา หรือมีอัตราการขยายตัวสูงมาก โดยในปี 2555 มีการนำเข้าทองคำ 12,378.60 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 5.63% ของการนำเข้ารวม 219,860.33 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ถ้าหักมูลค่าการนำเข้าทองคำออกในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ จะทำให้ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4,793 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้านับรวมทองคำเข้าไปด้วย จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 5,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม นายประสาร ไม่กังวลว่าการนำเข้าทองคำจะทำให้ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากยังเห็นว่าผู้ประกอบการอัญมณีในประเทศนำทองคำเข้ามาเป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องประดับเพื่อส่งออกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น