xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ยังครองแชมป์ ดินแดนที่มีศก. ใหญ่สุดในโลก ญี่ปุ่นร่วงสู่ที่ 4 ส่วนอินโดฯก้าวกระโดดติด “ท็อปเท็น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-รายงานล่าสุดของธนาคารโลกระบุ อินโดนีเซีย ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็น “ลำดับที่ 10 ของโลก” อย่างเป็นทางการแล้ว ขณะที่สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ครองตำแหน่งชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของโลก ส่วนญี่ปุ่นถูกเขี่ยร่วงสู่อันดับ 4

รายงานข่าวซึ่งอ้างผลสำรวจ “International Comparison Program” ซึ่งเริ่มจัดทำตั้งแต่เมื่อปี 2011 แต่เพิ่งมีการนำ “ข้อมูลบางส่วน” ออกเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุ สหรัฐอเมริกายังคงครองตำแหน่งดินแดนที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป จากการที่เศรษฐกิจเมืองลุงแซมมีสัดส่วนของจีดีพีในแง่ของ “อำนาจซื้อ” อยู่ที่ร้อยละ 17.1 ของอำนาจซื้อทั่วโลก ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนรั้งอันดับ 2 ของโลกด้วยสัดส่วนอำนาจซื้อที่ร้อยละ 14.9 ส่วนอินเดียถูกจัดให้เป็นดินแดนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกด้วยสัดส่วนอำนาจซื้อที่คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของโลก

ขณะที่ญี่ปุ่น ดินแดนที่เคยรั้งตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับที่ 2 ของโลกมายาวนาน ถูกเขี่ยตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก หลังจากที่สัดส่วนจีดีพีในแง่ของอำนาจซื้อของแดนปลาดิบลดลงมาเหลือร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับอำนาจซื้อทั่วโลก

ผลสำรวจดังกล่าวของธนาคารโลกซึ่งทำการเก็บข้อมูลใน 199 ประเทศทั่วโลก และจะมีการเผยแพร่ “ข้อมูลฉบับสมบูรณ์”ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ระบุว่า นอกเหนือจากสหรัฐฯ จีน อินเดีย และญี่ปุ่นแล้ว ดินแดนอื่นๆที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกใน “10 อันดับแรก” ยังประกอบไปด้วย เยอรมนี รัสเซีย บราซิล ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

ข้อมูลของเวิลด์แบงก์ระบุว่า ประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอินโดนีเซียที่เป็นบ้านของประชากรมากกว่า 240 ล้านคน และเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นประเทศที่มีพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดที่สุด จากการเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับ 16 ของโลกในการสำรวจครั้งก่อน ขึ้นมาเป็นดินแดนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 10 ของโลกแล้ว แซงหน้าเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึง สเปน เกาหลีใต้ และแคนาดา

ผลสำรวจ “International Comparison Program” ของธนาคารโลกระบุ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีการเติบโตของจีดีพีในแง่ของอำนาจซื้อคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 2.3 ของเศรษฐกิจโลก

ข้อมูลล่าสุดของเวิลด์ แบงก์ยังระบุว่า ในขณะนี้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ “รายได้ปานกลาง” อย่าง จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล อินโดนีเซีย และเม็กซิโกมีสัดส่วนการเติบโตของจีดีพีรวมกันคิดเป็นร้อยละ 32.3 ของโลก

ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มี “รายได้สูง” จำนวน 6 ประเทศคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักรและอิตาลีมีสัดส่วนการเติบโตของจีดีพีรวมกันที่ราวร้อยละ 32.9 ของโลก โดยมีแนวโน้มว่า การเติบโตของจีดีพีของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง อาจแซงหน้า กลุ่มประเทศรายได้สูง ได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ รายงานล่าสุดยังระบุว่า สหรัฐฯซึ่งครองตำแหน่งดินแดนที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแบบผูกขาด มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1872 ส่อเค้าจะเสียบัลลังก์แชมป์ให้กับจีนภายในสิ้นปี 2014 นี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า เศรษฐกิจของแดนมังกรจะขึ้นแท่นเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกเร็วกว่าที่เคยมีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ระบุ จีนอาจต้องรอนานถึงปี 2019 กว่าจะแซงหน้าสหรัฐฯได้
กำลังโหลดความคิดเห็น