แม้สูญพันธุ์ไปแล้วแต่ก็ยังน่าหวั่นว่า รอยเท้าไดโนเสาร์ในโบลิเวียซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลกจะสูญหายตามไปด้วย เนื่องจากผลกระทบจากการท่องเที่ยวและการทำเหมืองปูนในพื้นที่ใกล้เคียง แต่รัฐบาลเตรียมขอยื่นเป็นมรดกโลกอีกครั้งหลังพลาดมาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน
เทือกเขาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศโบลิเวียเต็มไปด้วยไปด้วยร่องรอยของไดโนเสาร์กว่า 5,000 รอย บางรอยมีความยาวกว่า 1 เมตร และคาดว่าเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 65 ล้านปีที่ผ่านมา แต่ตามรายงานของเอเอฟพีนักอนุรักษ์กำลังวิตกว่า แหล่งสมบัติทางบรรพชีวินเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ที่คุกคามผืนดินที่ร่องรอยเหล่านั้นประทับอยู่
เทือกเขาดังกล่าวมีชื่อว่า แคลออร์กโก (Cal Orcko) ที่แปลว่า “เนินเขาหินปูน” ในภาษาเกชัว (Quechua) ของชาวชนพื้นเมือง โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ชานเมืองซูเกร (Sucre) เมืองหลวงของประเทศโบลิเวีย สถานที่ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์เท่าที่เคยค้นพบมา
รอยเท้าส่วนมากเป็นของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ “ไททาโนซอรัส” (Titanosorous) ราชาแห่งทีโรพอตกินเนื้อ, ออร์นิโทพอด (ornithopods) ไดโนเสาร์ที่มีส่วนสะโพกคล้ายนก และ อาร์มอร์แองคิโลซอรัส (armored ankylosauruses) หรือแองคิโลซอรัสที่มีผิวหนังเป็นเกราะแข็ง ที่ผู้เชี่ยวชาญประมาณไว้ว่าที่ค้นพบแล้วในสถานที่นี้มีไดโนเสาร์ถึง 8 สายพันธุ์ พื้นที่ดังกล่าวจึงดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก และต้อนรับนักท่องเที่ยวมากถึงปีละ 120,000 คน
“นักท่องเที่ยวจะตื่นเต้น และประหลาดใจมากเมื่อมาที่นี่” ฌอน คาร์ลอส โมลินา (Juan Carlos Molina) ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเผยแก่เอเอฟพี
นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงยังมีโรงงานผลิตซีเมนต์แฟนซีซา (Fancesa) ที่สกัดเอาหินปูนจากเหมืองแร่ข้างๆ โดยโรงงานดังกล่าวมีองค์กรท้องท้องถิ่น องค์กรประจำเมืองและมหาวิทยาลัยท้องถิ่นเป็นเจ้าของ
“หน้าผานี้ได้รับผลกระทบจากการสกัดเอาวัตถุดิบมาหลายปีแล้ว” อลิซาเบธ บอลดิวิเอโซ (Elizabeth Baldivieso) ผู้ดูแลมูลนิธิอุทยานครีเตเชียส (Cretaceous Park) ซึ่งเป็นมูลนิธิของภาคเอกชนที่ทำหน้าที่ปกป้องแหล่งพฟอสซิลดังกล่าว
ทว่า ฌอน ยอส พาดิลลา (Juan Jose Padilla) ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว และเลขานุการในท้องถิ่นกลับมองว่า การออกมาอธิบายเรียกร้องของอลิซาเบธเป็นการกระทำที่กระต่ายตื่นตูมเกินไป อีกทั้งยังไม่มีข้อผูกมัดด้วยว่าโรงงานฟรานซีซาต้องปกป้องพื้นที่บริเวณนี้
ร่องรอยฟอสซิลบนเนินเขา แคลออร์กโกครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมากกว่าแหล่งรักษาฟอสซิลอื่นๆ ในโลก เช่น เหมืองหินลาร์ค (Lark Quarry) ของออสเตรเลีย เหยียนกัวเฉีย (Yanguoxia) ในประเทศจีน และพื้นที่อัลทาร์มิรา (Altamira) ในประเทศสเปน
โอมาร์ เมดินา (Omar Medina) นักวิจัยชาวโบลิเวียผู้ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ จากมหาวิทยาลัยสังคมวิทยาศาสตร์แห่งบรรพชีวินวิทยา (University Scientific Society of Paleontology) ในท้องถิ่นดังกล่าว กล่าวว่า ร่องรอยที่ปรากฏเป็นรอยปีนในแนวตั้งชันมักก่อให้เกิดคำถามให้แก่ผู้ได้เห็นอยู่เสมอ
ทว่า เมื่อย้อนกลับไปตอนที่ไดโนเสาร์ยังโลดแล่นไปบนพื้นที่ดังกล่าว ผาลาดชันที่วัดเป็นระยะทางได้ 1.5 กิโลเมตร และสูงถึง 120 เมตรนั้น ต่างจากภาพที่เห็นในปัจจุบัน โดยเมื่อ 65 ล้านปีก่อนพื้นที่นี้เป็นโคลนตมและเป็นที่ราบ ด้วยเวลาที่ผ่านไป การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ได้เลื่อนแผ่นเปลือกโลกและแผ่นสมุทรที่อยู่ใต้พื้นผิวให้ขึ้นมาในตำแหน่งเกือบตั้งฉาก ส่วนโคลนตมก็แห้งกลายเป็นหินปูน
รอยเท้าแรกถูกค้นพบเมื่อกลางทศวรรษที่ 1990 เมื่อฝนชะล้างดินที่ปกคลุมร่องรอยเหล่านั้น และส่วนอื่นๆ ก็ถูกพบตามมาเมื่อโรงงานปูนซีเมนต์เริ่มระเบิดเหมืองในพื้นที่ใกล้ๆ ขณะที่โบลิเวียพยายามจะขอให้ แคลออร์กโกเป็นมรดกของยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2009 แต่บริษัทปูนคัดแย้งกับการประเมินตามนโยบายการอนุรักษ์ที่มีอยู่ ทว่าจะมีการยื่นขอเป็นมรดกอีกครั้งในปี 2015
*******************************