xs
xsm
sm
md
lg

อันซีนพังงา...ตื่นตาช้างเผือกในพุงช้าง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ก Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ในถ้ำเขาพุงช้างงดงามแปลกตาไปด้วยธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนได้รับการยกย่องให้เป็นอันซีนไทยแลนด์
มีมุกเล่น(คำ)กันมานานแล้วว่า “ช้างไม่กล้าไปจังหวัดไหน?”

คำเฉลยก็คือ “พังงา” เพราะช้างกลัวโดนพัง-งา(ทำลายงา)

แต่นั่นเป็นเพียงมุกที่เล่นกันขำๆ เพราะชื่อจังหวัดพังงาไม่ได้เกี่ยวข้องกับช้าง หากแต่(ข้อมูลส่วนใหญ่)ระบุว่ามาจากชื่อ(เดิม) “เมืองภูงา” ที่บ้างก็สันนิษฐานว่าน่าจะคือ ต.กราภูงา ตรงปากแม่น้ำพังงา หรือบ้างก็สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากชื่อ“เขางา” ที่อยู่ในตัวเมือง ก่อนที่ชื่อภูงาจะเป็นไปตามขนบแบบไทยๆ คือเพี้ยนเป็น “พังงา” มาจนทุกวันนี้
เขาช้าง หรือ เขารูปช้าง
แม้ชื่อพังงาไม่เกี่ยวกับช้าง แต่เมืองพังงา คนพังงา ก็มีความผูกพันกับช้างอยู่ไม่น้อย เพราะใจกลางเมืองพังงา มี “เขาช้าง” หรือ“เขารูปช้าง”ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ใจกลางเมือง(หลังศาลากลางประมาณ 300 เมตร)

เขาช้างมีลักษณะเป็นรูปช้างนอนหมอบ คนส่วนใหญ่ในพังงาให้ความเคารพนับถือ ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนเชื่อว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ และถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์จังหวัด รวมถึงมีการนำไปทำเป็นรูปช้างหมอบประดับหัวเสาไฟที่ในกลางเมือง
หัวเสาไฟรูปช้างหมอบ ใจกลางเมืองพังงา
ขณะที่ด้านใต้ของเขาช้างมี “ถ้ำพุงช้าง” ที่ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อในตัวเมืองพังงา ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ยกให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ อันเนื่องมาจากความสวยงามและธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว

เล่าขานตำนานเข้าช้าง-ถ้ำพุงช้าง

เป็นธรรมดาของสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติหลายแห่งในเมืองไทย (รวมถึงหลายแห่งในโลกนี้) ที่มักมีตำนานและนิทานปรัมปรา เล่าขานเคียงคู่มากับสถานที่นั้นๆ

สำหรับเขาช้างและถ้ำพุงช้างก็เช่นกัน ที่นี่มีตำนานเล่าขานที่ฟังแล้วน่าพรึงเพริศไม่น้อยกับเรื่องราวที่คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อๆ กันมาว่า
อีกมุมหนึ่งของเขาช้างที่ตั้งตระหง่านใจกลางเมืองพังงา
...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายคนหนึ่งชื่อ “ตายมดึง” เป็นชายพเนจรได้ไปขออาศัยอยู่กับ “ตาโจงโดง” ชายผู้มีลูกสาวคนสวย ตายมดึงเป็นคนขยันขันแข็ง เป็นที่ถูกอกถูกใจของตาโจงโดง เขาจึงยกลูกสาวคนสวยให้

ตายมดึงกับลูกสาวตาโจงโดงเมื่อแต่งงานกัน ได้ออกมาตั้งครอบครัวสร้างเนื้อสร้างตัว ทำสวนทำไร่ได้ผลผลิตงอกงาม แต่โชคร้ายเมื่อใกล้วันเก็บเกี่ยวดันมีช้างป่าลงมากินเหยียบย่ำทำลาย ตายมดึงทั้งเสียใจและแค้นใจ จึงคว้าหอกตามล่าช้างโขลงนั้น แต่ระหว่างทางตายมดึงไปเจอช้างของ “ตางุ้ม” ซึ่งแกคิดว่าเป็นช้างป่า จึงฆ่าช้างเชือกนั้นตายโดยหารู้ไม่ว่าช้างตัวนั้นไร้ซึ่งความผิด แถมแรงแค้นยังทำให้ตายมดึงได้ทะลวงแทงที่ท้อง ลากเครื่องในตับไตไส้พุงออกมาทำอาหารกิน อีกทั้งยังตัดงาออกมาอีกด้วย

ช้างบริสุทธิ์ตัวนั้นเมื่อตายไป จึงกลายเป็น “เขาช้าง” หรือ “เขารูปช้าง” ส่วนแผลที่ท้องที่ถูกทะลวงแทงก็กลายเป็น “ถ้ำพุงช้าง” อันซีนไทยแลนด์
หินงอกหินย้อยในถ้ำพุงช้าง
ถ้ำพุงช้างมีข้อมูลว่าถูกบุกเบิกโดยนายเอกพัฒน์ ขำณรงค์ ซึ่งเขาเล่าขานว่าในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2543 มีสิ่งดลบันดาลใจมาเข้าฝันให้ตนไปเที่ยวถ้ำพุงช้าง นายเอกพัฒน์จึงชักชวนสมัครพรรคพวกเข้าไปสำรวจ เมื่อเข้าไปถึงกับตื่นตะลึงในความมหัศจรรย์สวยงามภายในถ้ำอันเกิดจากการสรรค์สร้างของธรรมชาติ หลังจากนั้นในปี 2544 ถ้ำพุงช้างก็ได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และได้รับการยกย่องให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ในปีเดียวกัน
หินย้อยรูปหลอดกาแฟ
มุดพุงช้างสัมผัสความมหัศจรรย์

ถ้ำพุงช้างตั้งอยู่ใต้เขาช้าง ในบริเวณเดียวกับ“วัดประพาสประจิมเขต” หรือ วัด “ถ้ำพุงช้าง” หลังศาลากลางจังหวัด ถ.เพชรเกษม อ.เมือง จ.พังงา

ปัจจุบันถ้ำพุงช้างเปิดให้เที่ยวชมภายในเพียงส่วนหนึ่ง โดยมีเอกชนมารับสัมปทานทำการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว
สักการะพ่อตาเขาช้างเป็นสิริมงคลก่อนเข้าถ้ำ
ถ้ำพุงช้างที่เปิดให้เที่ยวชมมีความยาวประมาณ 1,200 เมตร ใช้เวลาเที่ยวภายในประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับการเข้าไปเที่ยวชมภายในถ้ำพุงช้าง ก่อนเข้าถ้ำทางเจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ไปสักการะ “พ่อตาเขาช้าง” ที่ “ศาลพ่อตาเขาช้าง” ที่ประดิษฐานอยู่ใต้หินชะง่อนเขาใกล้กับปากทางเข้า พ่อตาเขาช้างเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่เมืองพังงาที่มีคนรำช้างจำลองมาแก้บนกันเป็นจำนวนมาก วางเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวอยู่ริมศาล
การเข้าถ้้ำช่วงแรกต้องนั่งเรือยางเข้าไป
เมื่อไหว้พ่อตาเขาช้างเสริมสร้างสิริมงคลกันแล้ว ก็ได้เวลาเข้าถ้ำมุดพุงช้าง ซึ่งความที่ถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำน้ำลอดที่มีธารน้ำตื้นไหลเย็นฉ่ำอยู่ภายใน ช่วงแรกของการเที่ยวถ้ำ เราจึงต้องนั่งเรือคายัคเข้าไประหว่างทางช่วงแรกถ้ำพุงช้างจะทักทายเราด้วยหินงอกหินย้อยรูปร่างแปลกตา ขณะที่บนเพดานถ้ำช่วงหนึ่งก็จะเต็มไปด้วยค้างคาวที่เกาะห้อยหัวลงมา จากนั้นเราต้องลงคายัคเพื่อไปนั่งแพไม้ไผ่ต่อ(เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบ ไม่สะดวกต่อการ(วาด)พายเรือคายัค) แล้วจึงเป็นการลงเดินเท้าลุยน้ำที่ถือเป็นการเที่ยวชมถ้ำอย่างเป็นทางการ
เต่าตัวน้อยที่พบภายในถ้ำ
สำหรับสายน้ำที่ไหลเย็นในนี้ตื้นประมาณตาตุ่มถึงครึ่งหน้าแข้ง ส่วนในช่วงที่ลงเดินอากาศภายในถ้ำก็ถ่ายเท มีลมพัดเย็นสบายเนื่องจากเป็นถ้ำทะลุมีลมพัดผ่านตลอด นอกจากนี้ในลำธารน้ำก็ยังมีปลา มีเต่า(หากโชคดี)ให้ชมกัน ปลา เต่า บางส่วนพวกมันมาเองตามธรรมชาติจากสายน้ำที่พัดพามาและก็ออกไปเองตามธรรมชาติจากสายน้ำเช่นกัน ส่วนที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติก็คือที่นี่ยังมีคนบางคนนำสัตว์มาปล่อยอย่าง ปลาคาร์ป ปลาไหล ที่สัตว์พวกนี้สุ่มเสี่ยงต่อการตายมาก เพราะไม่ใช่ระบบนิเวศตามธรรมชาติของมัน

หลังออกเดินลุยไปในสายน้ำได้ไม่นาน พี่เจ้าหน้าที่ก็ส่องไฟให้ดูหินงอกหินย้อยที่ขึ้นเป็นลักษณะเสาแปลกตา เสาหินต้นนี้มีชื่อว่า “เจดีย์ช้าง” มีลักษณะคล้ายรูปช้างตัวเล็กๆ ขึ้นก่อตัวเกาะกันเป็นชั้นๆ ดูสวยงามชวนให้จินตนาการ
หินเจดีย์ช้าง(น้อย)
จากนั้นเส้นทางลุยน้ำก็นำพาไปชมกับหินงอกหินย้อยรูปร่างแปลกตาชวนให้จินตนาการมากมาย อาทิ เต่ายักษ์ ไดโนเสาร์ ช้าง แมงกะพรุน หลอดกาแฟ ฯลฯ โดยหินในหลายๆ จุดเจ้าหน้าที่จะชี้ชวนให้ดูพร้อมอธิบายบอกลักษณะให้เห็นภาพ เพื่อช่วยให้เราจินตนาการได้ง่ายและตรงประเด็นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “หินรูปเด็ก”-กับรูปเด็กตัวน้อยนั่งอยู่บนเนิน, “หินรูปนกกระยาง” ที่มีสีขาวรูปร่างคล้ายนกชูคอและควรมองให้เป็นนกกระยาง, “หินหัวใจ”-กับหินที่ดูธรรมดาๆ แต่มีช่องเล็กๆ รูปคล้ายหัวใจ เมื่อสาดแสงไปถูกมุมจะเกิดเป็นเงามืดรูปหัวใจบนผนังหินที่ตกกระทบ ส่วนถ้าเปลี่ยนมุมก็จะเป็นเงาหัวใจสีขาวและดำหรือใจสว่างกับใจมืด แต่ในมุมนี้ผมมองดูคล้ายรูปแอปเปิ้ลมากกว่า
หินรูปหัวใจสว่างกับหัวใจมืด
จากนั้นก็เป็น “ลวดลายหินแกรนิต” เป็นลวดลายสีขาวที่เป็นเส้นสายโยงใยของหินแกรนิตอันเกิดจากศิลปินนามธรรมชาติที่ได้บรรจงสร้างสรรค์เอาไว้ ถัดเป็นเป็นหินรูป “บัวคว่ำ” ที่มีลักษณะเป็นหินรูปกลีบบัวคว่ำหยดย้อยลงมาอย่างสวยงาม ใกล้กับหินบัวคว่ำเป็น “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” เป็นแอ่งน้ำเล็กๆ มีหินรูปหัวคล้ายช้าง 3 เศียร หรือ ช้างเอราวัณ ต่อไปเป็น “หินน้ำไหล” หรือ “หินม่านทองคำ” กับห้อนหินสีแดงที่มีน้ำไหลเอื่อยลงมาสู่เบื้องล่างย้อมตัวหินอยู่ตลอด
หินบัวคว่ำ
เส้นทางยังพาไปชมหินงอกหินย้อยในสองฝั่งฟากผนังที่สวยงามอีกหลากหลาย ใครเห็นเป็นอะไรก็สามารถปลดปล่อยจินตนาการได้เต็มที่ ส่วนที่เจ้าหน้าที่ชี้ชวนให้เห็นตามก็คือ “หินรูปปลา” ที่มีลักษณะคล้ายซากปลาดึกดำบรรพ์ในอารมณ์ปลากลายเป็นหินยังไงยังงั้น
หินม่านทองคำ
แล้วก็มาถึงจุดสิ้นสุดของการเที่ยวถ้ำกับ “หินอ่างทองคำ” ที่มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขังตามธรรมชาติสีแดง มีอยู่ 2 อ่างด้วยกัน หินชุดนี้จินตนาการหนึ่งผมนึกถึงหนังจีนกำลังภายในกับเหล่ายอมยุทธ์ที่เหนื่อยหน่ายต้องการวางมืออำลาจากยุทธภพด้วยการ “ล้างมือในอ่างทองคำ” ขณะที่หากนึกถึงที่บ้านเรา ผมก็อดนึกถึงอ่างโลกีย์ของนายหนวดเสี่ยอ่างไม่ได้
หินอ่างทองคำ
ณ จุดสิ้นสุดการเที่ยวที่อ่างทองคำนี้ เจ้าหน้าที่บอกให้มองกลับไปข้างหลังที่บนเพดานถ้ำเหนือหัว พร้อมกลับส่องไฟนำสายตาขึ้นไป ผมก็ได้พบกับความน่าทึ่งของธรรมชาติกับหินรูปพรรณสัณฐานที่ดูเหมือนช้างมาก เป็นหินสีขาวเทาลักษณะคล้ายช้างตวัดงวง แถมยังมีรอยแดงบนก้อนหินที่เป็นดังตาช้างอีกต่างหาก

“นี่คือจุดไฮไลต์ของถ้ำเรียกว่าจุด “ช้างเผือกมหัศจรรย์” เหนือหัวช้างขึ้นไปข้างบนเป็นเศวตฉัตร” พี่เจ้าหน้าที่ส่องไฟบอกกับผม
ช้างเผือกมหัศจรรย์ ไฮไลต์แห่งถ้ำพุงช้าง
หลังพวกเราดูช้างเผือกกันได้พักใหญ่ พี่ๆ เจ้าหน้าที่ก็ลองให้ทุกคนดับไฟ ซึ่งก็ปรากฏว่าในนี้มืดสนิทจริงๆ

เมื่อเสร็จจากนี้เราก็เดินย้อนรอยออกมาทางเดิม นั่งแพ นั่งเรือ มายังปากถ้ำ ออกจากพุงช้างแห่งเขาช้าง ที่ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่มหัศจรรย์เล็กๆ ที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ความงดงามมากำนัลแด่มนุษยชาติ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องช่วยกันรักษาสิ่งสวยงามเหล่านี้ไว้ให้ตราบนานเท่านาน
หินรูปนกกระยาง
*****************************************

“ถ้ำพุงช้าง” ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดประพาสประจิมเขต หลังศาลากลางจังหวัด ถ.เพชรเกษม อ.เมือง จ.พังงา เปิดให้เที่ยวทุกวัน ตั้งแต่ 08.30-16.00 น. ค่าเข้าชมคนไทย 200 บาท ชาวต่างชาติ 500 บาท สนใจท่องเที่ยวติดต่อที่ หจก.ทองแท้ ซี แคนู โทร. 0-7626-4320, 08-6683-6844 สำหรับการถ่ายรูปในถ้ำพุงช้าง ต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการก่อนและห้ามใช้แฟลช เพราะแสงแฟลชจากกล้องจะไปกระทบต่อหินงอก หินย้อยในถ้ำ จนอาจทำให้หินหยุดการเจริญเติบโตได้

นอกจากนี้การเที่ยวถ้ำจับแตะหินงอก หินย้อย ที่เป็นหินเป็นต่างๆ เพราะหินเหล่านี้มีชีวิต ซึ่งหากไปสัมผัสจะทำให้หยุดการเจริญเติบโตทันที

สำหรับผู้สนใจสัมผัสกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดพังงาเชื่อมโยงกับถ้ำพุงช้าง สามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โทร.0-7648-1900-2

หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วน เอื้อเฟื้อโดย ทองแท้ ซี แคนู
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น