xs
xsm
sm
md
lg

ซัด"ปรีชา"ตั้งลูกชายเป็นทหารท้าทายธรรมาภิบาล กระทบนโยบายคสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีมีการเผยแพร่เอกสารลับการแต่งตั้งนายปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา บุตรชายของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแหง่ชาติ (คสช.) เข้ารับราชการทหารในตำแหน่งรักษาราชการนายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน ทภ.3 และติดยศเป็นว่าที่ร้อยตรี รับเงินเดือน 15,000 บาท โดยมี พล.อ.ปรีชา ในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ลงนามในคำสั่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 เม.ย.59 ซึ่งทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่ พล.อ.ปรีชายอมรับว่า “ลูกชายจบปริญญาตรีมา ก็ต้องทำงาน เมื่อมีตำแหน่งว่าง ก็ให้เข้ามาทำงาน ซึ่งก็มีหลายคนในกองทัพที่ทำแบบนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ลูกชายพี่คนเดียวที่ทำแบบนี้ได้"

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า การรับบุคคลกลุ่มที่มีเส้นสายเข้ารับราชการอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องปกติของวงราชการ ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎระเบียบที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการในการรับบุคคลเข้ามานั้นก็มีขั้นตอน ผู้มีอำนาจลงนามก็ทำไปตามกระบวนการที่ผ่านเรื่องขึ้นมา โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งคือจรรยาบรรณ สำหรับผู้เข้ามาในแนวทางแบบนี้อาจขาดความสง่างาม และสำหรับผู้ลงนามคำสั่งก็อาจมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

"ประเด็นที่เราต้องพิจารณาคือ ความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสของคนไทยทุกคนที่จะต้องมีความเท่ากัน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะให้สิทธิพิเศษจากชาติกำเนิด แต่ก็ไม่นับรวมถึงกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ เช่น การเป็นนักกีฬาทีมชาติ, บุตรของข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่จนเสียชีวิต เป็นต้น อีกทั้งในเรื่องกฎหายที่เกี่ยวกับการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลระโยชน์ส่วนรวมกับส่วนตัว หรือกฎหมาย 7 ชั่วโคตรในสมัยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2549 ได้เสนอเอาไว้แต่ไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้หยิบยกขึ้นมาปรับแก้ใหม่ ว่าจะสามารถครอบคลุมการกระทำในลักษณะเช่นนี้หรือไม่"

นายมานะกล่าวถึงเรื่องจรรยาบรรณว่า เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องใส่ใจว่า การกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่นั้น เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ เห็นประโยชน์ของสาธารณะเป็นใหญ่มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ หากเกิดกรณีที่อำนาจหน้าที่ซึ่งตนมีอยู่นั้นจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ตน กลุ่มหรือพวกพ้อง จะใช้อำนาจที่มีอยู่ไม่ได้

ด้านนายวันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญงานความมั่นคง และติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงการทหารอย่างใกล้ชิด ให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพหลายรายนิยมให้บุตรหลานเข้ารับราชการตามแบบของตน แม้ไม่ได้เรียนจบทหารหรือโรงเรียนนายร้อยก็ตาม อาจจะเป็นเรื่องของความห่วงใย ความสบายใจ เป็นหลักประกันในอาชีพ ซึ่งเรื่องแบบนี้ทำกันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์คือ การไม่เปิดสอบอย่างตรงไปตรงมา หรือเปิดสอบคัดเลือกเป็นการทั่วไป แต่เลี่ยงไปใช้วิธีเปิดอัตราพิเศษ ซึ่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในอดีตทำกันมาตลอด

"ที่ผ่านมามีการเปิดอัตราพิเศษเฉพาะบางสาขาบ้างเหมือนกัน และลูกหลานผู้ใหญ่ก็ได้เข้าไปเป็นทหาร แต่เป็นพวกที่จบสาขาวิชาที่จำเป็นหรือกองทัพขาดแคลน เช่น วิทยาศาสตร์บางแขนง หรือภาษาต่างประเทศ จึงเปิดรับบุคคลภายนอกเข้าไปเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อย หรือกรมยุทธศึกษาของกองทัพ ซึ่งถ้าเป็นสาขาวิชาเฉพาะจริงๆ ก็อาจมีเสียงวิจารณ์ไม่มากนัก แต่กรณีจบนิเทศศาสตร์ จบสื่อสารมวลชน อาจเกิดคำถามว่าจะไปทำงานอะไรในกองทัพหรือ บางคนบอกว่างานกิจการพลเรือน งานประชาสัมพันธ์ ก็ต้องถามว่าจำเป็นแค่ไหน"

นายวันวิชิตชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ากองทัพเป็นระบบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งมาก คล้ายๆ กับกระทรวงมหาดไทยหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิม พวกลูกท่านหลานเธอ ผู้ใหญ่ในกองทัพก็เอาเข้ามารับราชการเหมือนพ่อ เหมือนปู่ หรือต้นตระกูล แต่ผลที่เกิดตามมาอีกด้านหนึ่งคือ การไม่เปิดโอกาสให้คนเก่งที่ไม่มีเส้นสายเข้าสู่ระบบราชการตามปกติ เท่ากับเป็นการกัดกร่อนระบบธรรมาภิบาลของสังคมไทย แม้จะไม่ใช่การทุจริตคอร์รัปชันโดยตรง แต่ก็กระทบกับนโยบายและค่านิยมที่ คสช.กำลังพยายามบอกสังคม ทั้งเรื่องธรรมาภิบาลและความเท่าเทียม

"เท่าที่เคยศึกษาและรวบรวม พบว่ามีบุตรหลานของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้รับการบรรจุเข้าเป็นทหารสัญญาบัตรจำนวนไม่น้อย และมีแทบทุกยุค ที่ผ่านมาก็เช่นลูกสาวอดีต ผบ.ทบ.ที่เพิ่งเกษียณอายุไปเมื่อไม่นานนี้ จบการศึกษาด้านภาษาจีน ก็บรรจุเข้าเป็นอาจารย์ที่กรมยุทธศึกษาทหารบก, ลูกสาวของอดีต ผบ.ทบ.อีกคนที่เป็นญาติผู้พี่ของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้โด่งดัง ก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นทหาร เช่นเดียวกับลูกของอดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ.ตระกูลใหญ่ หรือแม้แต่อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกท่านหนึ่งที่เกษียณอายุไปนานหลายปีแล้ว ลูกชายไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อย แต่ก็เข้ามาเป็นทหาร ไม่เว้นแม้แต่อดีตนายทหารที่เคยเป็นผู้นำการชุมนุมขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็มีลูกสาวรับราชการทหารเช่นกัน"

นายวันวิชิตกล่าวด้วยว่า หลายกรณีเท่าที่ตรวจพบ บางคนเอาลูกเข้ามาเป็นทหารเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหารก็มี พอพ้นกำหนดเกณฑ์ก็โอนไปอยู่หน่วยงานอื่น หรือไม่ก็ลาออกไปประกอบอาชีพอื่น หรือไปทำธุรกิจส่วนตัว ทำให้เกิดปัญหาต่อกองทัพและสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่เทรนด์ในระยะหลังๆ ลูกคนใหญ่คนโตที่ฝากกันเข้ามาเป็นทหารมักจะเป็นลูกสาวมากกว่าลูกชาย
กำลังโหลดความคิดเห็น