นักวิทยาศาสตร์เจอไข่สภาพสมบูรณ์อายุกว่า 120 ล้านปีของ “ทีโรซอร์” สัตว์เลื้อยคลานบินได้ในยุคไดโนเสาร์ เผยลักษณ์เฉพาะในการใช้ชีวิตและความแตกต่างทางเพศของสัตว์ดึกดำบรรพ์ดังกล่าว
ก่อนหน้านี้มีการค้นพบไข่ของ “ทีโรซอร์” (pterosaur) สัตว์เลื้อยคลานบินได้ที่มีชีวิตอยู่ในยุคไดโนเสาร์เพียง 4 ฟอง แต่ไข่เหล่านั้นก็ฝ่อไปตามกระบวนการเกิดฟอสซิล ทว่ารายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบไข่ของไดโนเสาร์ดังกล่าวในสภาพสมบูรณ์ถึง 5 ฟอง
ไข่ที่เพิ่งค้นพบนั้นมีอายุกว่า 120 ล้านปี ถูกขุดขึ้นจากทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยอยู่รวมกับไดโนเสาร์เต็มวัยอื่นๆ ที่คาดว่าเป็นสปีชีส์ใหม่ไม่น้อยกว่า 40 ตัว และเคยอาศัยในอาณาบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่คับคั่งไปด้วยสิ่งมีชีวิต
โจว จงเหอ (Zhonghe Zhou) ผู้อำนวยการสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์ ของสภาวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) กล่าวว่า บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งของทีโรซอร์ที่มีความหมายมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ
สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบนี้คือสปีชีส์ แฮมิทีรัส เทียนซานเอ็นซิส (Hamipterus tianshanensis) ซึ่งมีหงอนด้านบนกะโหลกที่ยื่นยาว มีฟันแหลมสำหรับจับปลา และมีปีกที่กางได้มากกว่า 3.5 เมตร โดยมีรายงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการค้นพบในวารสารเคอร์เรนท์ไบโอโลจี (Current Biology)
หวัง เสี่ยวหลิน (Xiaolin Wang) นักวิจัยอีกคนในการค้นพบครั้งนี้ อธิบายว่าไข่ที่ค้นพบนั้นมีลักษณะกลมรีและยืดหยุ่น โดยมีเปลือกแข็งบางๆ เคลือบชั้นด้านนอกซึ่งมีรอยร้าวและรอยแตกก่อนถึงชั้นเนื้อเยื่อด้านใน ทำให้ไข่ของสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์นี้ดูคล้ายไข่ของงูและสัตว์เลื้อยคลานยุคปัจจุบัน
“พวกมันเป็นไข่ทีโรซอร์ที่ถูกรักษาไว้อย่างดีที่สุดเท่าที่เคยพบ” หวังกล่าว ซึ่งบริเวณยังเป็นจุดสำคัญที่จะเผยถึงความเป็นอยู่ของทีโรซอร์ โดยมีทีโรซอร์ตัวผู้และตัวเมียอย่างน้อย 40 ตัวได้รับการจำแนกแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีไดโนเสาร์ชนิดนี้อยู่อีกนับร้อยตัว นอกจากนี้ยังบ่งชี้ว่าทีโรซอร์อาศัยอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ และพวกมันยังสร้างรังเพื่อวางไข่และฝังในดินชื้นๆ ใกล้ทะเลสาบ เพื่อป้องกันไข่แห้งด้วย
“หนึ่งในความเห็นสำคัญจากการค้นพบที่มีประชากรเป็นร้อยตัวและไข่อยู่รวมกันในบริเวณเดียว เป็นสิ่งยืนยันว่าทีโรซอร์นั้นเป็นสัตว์สังคมที่ชอบอยู่รวมกลุ่ม และขนาดประชากรก็ใหญ่จนน่าประหลาดใจ” โจวกล่าว
ส่วนฟอสซิลก็บ่งชี้ถึงความแตกต่างทางเพศของทีโรซอร์ อย่างตัวผู้มีหงอนบนหัวที่ใหญ่กว่าชัดเจน โดยหวังได้อธิบายว่า ในกรณีของทีโรซอร์สายพันะแฮมิทีรัสนั้น ขนาด รูปร่าง ละความแข็งแกร่งถูกกำหนดโดยเพศ ซึ่งแย้งความเข้าใจก่อนหน้านี้ที่ว่า ลักษณะทางเพศในทีโรซอร์นั้นสะท้อนออกมาจากการหงอนหรือไม่มีหงอนเท่านั้น
สำหรับบริเวณที่พบฟอสซิลมาตั้งแต่ปี 2005 นั้นอยู่ในมณฑล ซึ่งอาจรักษาสภาพของฟอสซิลไว้มาตั้งแต่หลังยุคครีเตเชียส ซึ่งโจวกล่าวว่าไดโนเสาร์เหล่านี้ตายพร้อมกันจากพายุใหญ่
ทีโรซอร์เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มแรกที่บินได้ ขณะที่นกและค้างคาวเกิดขึ้นบนโลกภายหลังจากนั้นอีกนานมาก โดยสัตว์เลื้อยคลานบินได้นี้เคยอาศัยอยู่เมื่อ 220-65 ล้านปีก่อน โดยจากโลกนี้ไปพร้อมไดโนเสาร์อื่นๆ จากมหันตภัยดาวเคราะห์น้อยถล่มโลก และความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์บินได้ชนิดนี้ก็มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย เนื่องจากโครงกระดูกที่เปรอะบางไม่เอื้ออำนวยให้กลายสภาพเป็นฟอสซิลได้ดีนัก และความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวหมันก็น้อยตามไปด้วย
“ผมทึ่งจริงๆ จากจำนวนกระดูกและไข่ที่มีอยู่มากมาย รวมถึงศักยภาพที่จะมีการพบมากขึ้นอีกในบริเวณดังกล่าว” โจวให้ความเห็น
สำหรับชื่อทางวิทยาศาสตร์ของทีโรซอร์นี้ ในส่วนของชื่อสกุล (genus) ว่า แฮมิทีรัสนั้นมีความหมายว่า “ปีกฮามิ” ซึ่งเป็นการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติแก่เมืองฮามิ (Hami City) ของจีนที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณที่ค้นพบ ส่วนชื่อสปีชีส์ว่า “เทียนซานเอ็นซิส” ก็หมายถึงภูเขาเทียนซาน