เปิดรายงาน WWF ระบุ จำนวนประชากรสัตว์ป่ากว่าครึ่งทั่วโลก เมืองใหญ่ใช้พลังงานไปกว่า 70% และตอนนี้เราต้องการโลก 1.5 ใบในการผลิตทรัพยากรให้เพียงพอต่อการบริโภคของมนุษย์ ทว่าเชื่อโลกยังมีทางออก
ความจริงของโลกที่ต้องรู้
ในช่วงเวลาแค่ 40 ปีที่ผ่านมา จำนวนสัตว์ป่าถูกล่าและสูญพันธุ์ไปมากกว่าครึ่งจากที่เคยมีด้วยฝีมือของมนุษย์ เป็นหนึ่งในความจริงจากรายงาน Living Planet Report 2014 ล่าสุดที่ WWF หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลกนำมาเปิดเผยในวันนี้
รายงาน Living Planet Report คือรายงานผลการวิจัยชี้แจงข้อมูลแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรโลกฉบับที่ 10 ที่ WWF จัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรของโลกในด้านต่างๆ เช่น สัตว์ป่า ผืนป่า แหล่งน้ำ และพลังงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชากรมนุษยชาติ
รายงานดังกล่าวติดตามสถานภาพและจำนวนประชากรของสัตว์ป่ากว่า 10,000 สายพันธุ์นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา และเก็บข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลที่เรียกว่า The Living Planet Index ซึ่งได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากองค์กรพันธมิตร Zoological Society of London และข้อมูลในส่วนของสถิติต่างๆ เกี่ยวกับรอยเท้าคาร์บอนนั้นได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากองค์กร Global Footprint Network
“สัตว์ป่าหายไปมากกว่า 52 เปอร์เซนต์ทั่วโลกใน 40 ปี”
ไฮไลท์ของ Living Planet Report 2014 คือ การเปิดเผยข้อมูลวิกฤตการณ์การสูญเสียจำนวนประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน ที่หายไปจากโลกมากกว่า 52% จากที่เคยมีอยู่ทั้งหมด ภายในช่วงระยะเวลาแค่เพียง 40 ปีที่ผ่านมา และการสูญเสียดังกล่าว เกิดขึ้นมากในทวีปเอเชียเป็นอันดับสอง รองจากทวีปอเมริกาใต้ในระยะเวลาเท่ากัน
"ความหลากหลายทางชีวภาพถือเป็นส่วนสำคัญที่เกื้อหนุนทุกชีวิตบนโลก และเป็นตัวชี้วัดได้ว่าเราได้ทำร้ายโลก บ้านที่มีอยู่เพียงหลังเดียวของเราไปมากมายแค่ไหนเเล้ว และตอนนี้โลกต้องการความช่วยเหลือจากเราทุกคน จากทุกภาคส่วนของสังคมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของโลกใบนี้และเพื่ออนาคตของมนุษยชาติรุ่นหลัง" มาร์โค ลัมเบอร์ตินี (Marco Lambertini) ผู้อำนวยการ WWF International กล่าว
สิ่งที่สร้างความสูญเสียให้กับความหลากหลายทางชีวภาพและชนิดพันธุ์ทั่วโลกก็คือ การถูกคุกคามและสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย การเสื่อมถอยของสายพันธุ์ การถูกล่า และสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และในรายงานฯ ยังระบุว่า จำนวนสายพันธุ์นับพันๆ ชนิดที่ถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปแล้วนั้น เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในเขตผืนป่าร้อนชื้นกว่า 56% มากกว่าเขตอบอุ่นที่มีรายงานการสูญหายของสายพันธุ์อยู่ที่ 36%
“เรารู้ว่าทรัพยากรที่มีอยู่นั้นจำกัด การหายไปของทรัพยากรก่อให้เกิดต้นทุนมากมาย ซึ่งมันจะไม่ส่งผลกระทบต่อท่านใน 5 วัน หรือ 10 วันแต่มันจะส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคนในเวลาไม่ช้า” คุณรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF-ประเทศไทย
เราต้องการโลกถึง 1.5 ใบ
ในขณะที่ความหลากหลายทางชีวภาพของธรรมชาติลดลง แต่จำนวนประชากรและความต้องการทรัพยากรทั่วโลกกลับเพิ่มสูงขึ้น มีการเปรียบเทียบจากสถิติว่า มนุษยชาตินั้นใช้ทรัพยากรที่โลกสามารถให้กับเราได้ในแต่ละปีเกินไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงเราต้องการโลก 1.5 ใบในการผลิตทรัพยากรให้เพียงพอต่อการบริโภคของมนุษย์ในทุกวันนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเรามีโลก เพียงใบเดียว โดยสิบอันดับประเทศที่มีรอยเท้านิเวศต่อคนใหญ่ที่สุด คือ คูเวต, กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เดนมาร์ก, เบลเยียม, ทรินิแดดและโทบาโก, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา, บาเรห์น และ สวีเดน
เมืองใหญ่ทั่วโลกใช้พลังงานไปกว่า 70%
"Living Planet Report 2014 เล่มนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Living Planet Report ที่จะพูดถึงประเด็นการใช้ทรัพยากรของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะเมืองใหญ่ทั่วโลกคือสถานที่ๆ ใช้พลังงานและสร้างรอยเท้าคาร์บอนให้กับโลกนี้มากที่สุด ข้อมูลในรายงานได้ระบุว่าเมืองใหญ่ทั่วโลกนั้นใช้พลังงานไปกว่า 70% ของพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด นอกจากนี้กว่าหนึ่งในสามของเมืองสำคัญของโลกต่างก็ใช้น้ำดื่มที่พึ่งพาน้ำจากพื้นที่ป่าสงวนในประเทศ อย่างไรก็ตามเมืองใหญ่เหล่านี้อาจเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าเดิมได้ด้วยการใช้พลังงานทางเลือกที่ไม่ก่อเกิดมลภาวะ" จดหมายข่าวจาก WWF ระบุ
การเสนอแนะแนวทางสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการลดการสร้างรอยเท้าคาร์บอนให้กับโลกคือหัวใจหลักของรายงาน Living Planet Report 2014 ฉบับนี้ ได้นำเสนอแนวคิดงานวิจัยที่สามารถระบุได้ว่า มนุษย์สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นพร้อมๆ กับลดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นได้หากคิดที่จะทำ ซึ่ง “มุมมองของโลกใบเดียวกัน” คือ ทางออกที่ยั่งยืน
Living Planet Report 2014 ยังได้นำเสนอแนวคิด “มุมมองของโลกใบเดียวกัน” หรือ “One Planet Perspective” ที่เสนอทางออกโดยมุ่งเน้นการรักษาต้นทุนทางธรรมชาติ กระบวนการผลิตที่ดีขึ้น การบริโภคอย่างชาญฉลาด การเปลี่ยนทิศทางกระแสการเงิน และดูแลทรัพยากรอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ที่จะเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนา การปกป้องรักษา การผลิต และการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่ดีกว่าเดิมได้จากแบบอย่างการพัฒนาที่ไม่ส่งผลกระทบถึงธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จในมาแล้วในหลายประเทศทั่วทวีปเอเซียและทั่วโลก
พร้อมกันนี้ WWF ยังเสนอตัวอย่างเมืองใหญ่ในการพัฒนาที่เหมาะสมและเป็นมิตรต่อโลกในแนวคิด “มุมมองของโลกใบเดียวกัน” จากการสนับสนุนจาก WWF และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน: รัฐบาลจีนได้ผลักดันและสนับสนุนการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาสิ่งปลูกสร้างเพื่อสร้างพลังงานทางเลือกและลดค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวและธุรกิจ และเซี่ยงไฮ้นั้นเป็นเมืองใหญ่ที่ประสบความเร็จในการผลักดันแนวคิดสวนผักคนเมือง โดยกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของพืชผักที่ชาวเมืองเซี่ยงไฮ้บริโภคนั้นได้มาจากการปลูกและเกี่ยวเก็บในพื้นที่รอบเมือง ซึ่งช่วยลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอนจากการขนส่ง ช่วยเพิ่มงานและการกระจายรายได้ รวมไปถึงลดภาระให้กับระบบนิเวศอีกด้วย
กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้: เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าพลังงานเชื้อเพลิงนั้นคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สร้างภาระให้กับรอยเท้านิเวศของโลกอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองโซลเกือบหนึ่งล้านคนได้เข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรม “วันงดใช้ถนน” หรือ “No Driving Day” ที่ภายใน 1 สัปดาห์จะมี 1 วันที่ทุกคนจะใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนรถส่วนตัวเพื่อรถการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยปรับคุณภาพอากาศภายในเมืองให้ดีขึ้นและยังเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรได้อีกทางหนึ่งด้วย
เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น: ประเทศญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่คำนึงถึงอนาคตสีเขียวที่ยั่งยืนของโลกใบนี้ ด้วยร่างข้อบังคับว่าด้วยรายการสินค้าสีเขียวที่เป็นมิตรต่อโลก ซึ่งชาวเมืองเซนไดได้เป็นหนึ่งในเมืองหลักของการสร้างเครือข่ายสินค้าสีเขียวนี้ด้วยการร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในสังคมกว่า 1,000 องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและเครือข่ายอาสาสมัคร
เดนมาร์ก : ในเดือนธันวาคม 2013 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเดนมาร์กกว่า 57.4% ได้มาจากพลังงานลม อันเป็นผลมาจากนวัตกรรมและนโยบายสนับสนุนในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
Earth Hour City Challenge: ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของเมืองแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่เมืองที่มีรอยเท้านิเวศต่ำลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
ออสเตรเลีย: แนวทางการเกษตรน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยในการอนุรักษ์แนวปะการัง Great Barrier Reef โดยการลดผลกระทบจากสารเคมีและการชะล้างหน้าดิน
“ข้อมูลที่แม่นยำและพิสูจน์ได้ของรายงาน Living Planet Report ฉบับล่าสุดนี้ ได้เฉลยความจริงที่ว่าเราชะล่าใจมานานและเหลือเวลาอีกไม่มากนักสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของโลก เราจำเป็นที่จะต้องคว้าโอกาสไว้ในขณะที่เรายังสามารถทำได้ เพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดต่ออนาคตของมนุษยชาติรุ่นหลังและโลกใบนี้ที่ซึ่งเป็นบ้านเพียงหลังเดียวของพวกเราทุกชีวิต” ลัมเบอร์ตินีกล่าว
“รายงานฉบับนี้ทำให้ WWF-ประเทศไทย มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะกระตุ้นให้ทุกฝ่ายได้ทำงานร่วมกันในอนาคตในประเด็นสิ่งแวดล้อมในขอบเขตที่กว้างขึ้นเพื่อร่วมพัฒนากิจกรรมอนุรักษ์ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลน้ำ ผืนป่า สัตว์ป่า ทะเลเมืองชุมชน และประเทศของเราให้ดีกว่าเดิมและดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนอันจะช่วยรักษาสุขภาพของโลกที่มีอยู่เพียงใบเดียวของเราให้คงอยู่ได้อย่างแข็งแรง” เยาวลักษณ์ เธียรเชาวน์ ผู้อำนวยการ WWF-ประเทศไทยระบุ
*******************************