xs
xsm
sm
md
lg

ภัยพิบัติทางธรรมชาติกับ “King CONG”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ข่าวภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศเนปาลคงยังอยู่ในความรู้สึกของคนไทยที่เราควรจะหยิบเอาเรื่องทำนองนี้มาคุยกันนะครับ และในเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้ประเทศเราเองก็เจอกับพายุฤดูร้อนจำนวนมากและรุนแรงจากเหนือจรดใต้ รวมถึงแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในจังหวัดพังงา แม้ไม่ได้มีการสืบค้นข้อมูลให้แน่ชัด แต่ทุกคนก็คงรู้สึกได้เช่นเดียวกันว่า นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติของธรรมชาติอย่างแน่นอน

ความจริงแล้ว ผมได้เตรียมโครงเรื่องไว้แล้วว่าจะนำเสนอเรื่องนี้อย่างไร แต่พอไปเจอข้อมูลที่น่าสนใจ ผมขออนุญาตนำมาแทรกไว้ตรงนี้ก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดคนไทยเราเองให้หันมาสนใจเรื่องนี้กันให้มากขึ้นกว่าเดิมครับ ไม่มีอะไรซับซ้อน

ข้อมูลที่ว่านี้ผมได้นำมาสรุปอยู่ในแผ่นภาพนี้ (รวมทั้งแหล่งที่มาด้วย) พบว่าในช่วง 20 ปีมานี้ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติของประเทศไทยเราถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งก็คือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่เรียกว่า “เอาอยู่ๆ” นั่นแหละครับ

ข้อมูลจากหน่วยงานในระดับสากลเดียวกันนี้ (สำนักงานตั้งอยู่ในประเทศเบลเยียม) ยังได้สรุปเชิงตั้งคำถามว่า “คุณรู้ไหม นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติร้อยละ 41 เกิดขึ้นในทวีปเอเชียและได้ทำให้คนเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 7 แสนคน” เอกสารดังกล่าวตีพิมพ์ในเดือนกันยายน 2557 ดังนั้น จึงยังไม่ได้รวมเหตุการณ์ในประเทศเนปาลอีกร่วมหนึ่งหมื่นคน

หน่วยงานที่มีชื่อย่อว่า CRED ยังได้นำเสนอข้อมูลในปีต่างๆ (ในลักษณะ Interactive) ผมจึงได้เลือกข้อมูลย้อนหลังไป 100 ปีเพื่อดูความถี่ ความห่างของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพราะเรารู้ว่าตอนที่เรายังเป็นเด็กนั้นมันไม่ได้เกิดบ่อยอย่างนี้ ผมนำภาพมาเสนอพร้อมกับเพิ่มเติมข้อมูลบางอย่างมาประกอบให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น อาจจะรู้สึกว่ารกไปสักนิด เดี๋ยวผมจะค่อยๆ ทำความเข้าใจนะครับ

เส้นกราฟในภาพใหญ่คือจำนวนครั้งในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีการบันทึก เส้นสีแดงเป็นของทั้งโลก ในขณะที่เส้นสีเหลืองๆ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ส่วนที่เหลืออีก 2 เส้นเป็นของทวีปอเมริกาและยุโรป ไม่ได้ใส่ทวีปที่เหลือลงไปเพราะเกรงว่าจะดูยาก

จากเส้นกราฟดังกล่าว เราจะสังเกตได้ว่า ในช่วง 50 ปีแรก ในแต่ละปีจะเกิดภัยพิบัติเพียงประมาณไม่ถึง 10 ครั้งต่อปี แต่ในระยะหลังนี้มันได้เพิ่มขึ้นถึง 400-500 ครั้งต่อปี

หน่วยงาน CRED แม้จะขยันทำข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ แต่เขาก็ไม่ได้วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไรภัยพิบัติจึงได้เกิดขึ้นถี่ยิบราวกับลูกระนาด

กราฟในรูปเล็ก ผมได้หยิบมาใส่เองครับ เป็นความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในลักษณะที่คล้ายกับเส้นกราฟของภัยพิบัติ นี่เป็นแค่การอธิบายทางสถิติ แต่ในเชิงเหตุผลและกลไกของระบบภูมิอากาศของโลกก็ได้ข้อสรุปว่าเกิดจากก๊าซเรือนกระจก

นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนที่สำคัญนั้นมีอยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน (เกิดจากซากพืช) และไนตรัสออกไซด์ (เกิดจากปุ๋ยเคมี)

สำหรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมาจากการเผาไหม้ในภาคพลังงานมากที่สุด (ดังภาพ)

ที่กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นทั่วโลก แต่ที่เกิดมากที่สุดอยู่ในทวีปเอเชียซึ่งประชาชนยากจน ในขณะที่ประชาชนร่ำรวยในทวีปอเมริกาและยุโรปเกิดขึ้นน้อย ทางองค์กร CRED ไม่ได้วิเคราะห์ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่ผมได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ว่าเกิดจากการใช้พลังงานมากที่สุด

นอกจากนี้ จากข้อมูลอื่นๆ ทำให้เราทราบว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชากรเพียง5% ของโลก แต่ใช้พลังงานสูงถึงกว่า 20% ของโลก สรุปย้ำอีกครั้งว่า

สิ่งที่เรียกว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แท้ที่จริงแล้วเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง โดยมนุษย์ที่ร่ำรวยเป็นผู้ใช้พลังงานจำนวนมาก แต่ภัยพิบัติกลับมาเกิดกับประเทศยากจนในทวีปเอเชียถึง 41% ดังนั้น ความพยายามในการฟื้นฟูโลกด้วยการลดที่ต้นเหตุจึงควรเริ่มต้นจากประเทศที่ยากจนและด้วยการสร้างเครือข่ายกับปัญญาชนพลเมืองของประเทศที่ร่ำรวยทั้งหลายนั่นแหละครับ

อนึ่ง ภัยพิบัติอีกอย่างหนึ่งที่เรามักจะนึกกันไม่ถึง คือ ภัยพิบัติทางชีวภาพในมหาสมุทร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดกับปะการังฟอกขาวซึ่งนอกจากจะเป็นบ้านของปลา (และแหล่งอาหารของคน) แล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ของประเทศยากจนซึ่งไม่ค่อยจะมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น ประเทศไทย

ภาพซ้ายมือนี้เป็นปะการังในประเทศออสเตรเลียที่เรียกว่า Great Barrier Reef ซึ่งเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาได้ถูกทำลายไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง อันเนื่องมาจากน้ำมาจากน้ำทะเลเป็นกรด และมีการพยากรณ์ไว้ว่าภายในปี 2050 หรืออีก 35 ปีข้างหน้าจะสูญเสียไปถึง 95% รูปทางขวามือ เป็นภาพปะการังในบริเวณปากบารา จังหวัดสตูล ของประเทศไทย ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้กัน ผมนำมาลงในที่นี้ก็เพราะเป็นห่วงไม่ทราบว่ามีผลการศึกษาในลักษณะดังกล่าวหรือไม่

เขียนมาถึงตอนนี้ ผมยังไม่ได้ให้ความหมายของ “King CONG” ที่ผมนำมาเป็นชื่อบทความ

คำว่า CONG ในที่นี้มาจากตัวอักษรตัวแรกในภาษาอังกฤษของเชื้อเพลิงที่นำมาเป็นพลังงาน นั่นคือ Coal (ถ่านหิน), Oil (น้ำมัน), Nuclear (นิวเคลียร์) และ Gas (ก๊าซธรรมชาติ) ไม่เกี่ยวอะไรกับ “King Kong” ในภาพยนตร์ยอดฮิตของเด็กๆ

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติก็มาจากการเผาเชื้อเพลิง 4 ชนิดนี้แหละครับ

ผมได้เชื่อมโยงให้เห็นถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติกับการใช้พลังงานประเภท“King CONG” แล้วนะครับ เรามาดูแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยซึ่งเรียกว่า “แผนพีดีพี 2015” ของประเทศไทยกันบ้างครับ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558-2579 นับว่าหวังเอาไว้นานทีเดียวครับ

ทางราชการไทยกำลังจัดรับฟังความคิดเห็นต่อแผนดังกล่าวนี้ รวมทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย ผมขอถือโอกาสนี้ให้ความเห็นสัก 2-3 ดังนี้

1. อย่าหวังว่าจะใช้แผนนี้ในระยะยาวถึง 22 ปีเลยครับ เพราะที่ผ่านมา เรามีแผนใหม่บ่อยๆ เช่น พีดีพี 2007, 2010 และ 2012 แต่ละแผนก็วางเอาไว้ยาวๆ ทั้งนั้น แต่ไม่ได้เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดการณ์อัตราการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินความจริงทุกแผน ในแผนนี้ได้อ้างถึงอัตราการเติบโตของจีดีพีในปี 2557 ไว้ที่ร้อยละ 2.0 เพื่อเป็นฐานในการคำนวณความต้องการไฟฟ้าในอนาคต แต่พอเริ่มต้นก็สูงเกินความจริงแล้วเพราะเศรษฐกิจในปี 2557 เติบโตแค่ 0.7% เท่านั้น

2. แผนนี้ยังตกอยู่ในมือของ “King CONG” เป็นสำคัญ คือใช้ถ่านหิน น้ำมันนิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่รวมศูนย์ ผูกขาดกล่าวคือ ปิดกั้นไม่ให้ผู้ที่ผลิตไฟฟ้าชนิดอื่นที่นอกไปจาก “King CONG” ไม่ให้ขายไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งได้เป็นระบบที่คนจำนวนน้อยรายขายให้กับคนจำนวนหลายล้านราย นอกจากนี้ยังเป็นการใช้เทคโนโลยีระบบเครื่องจักรไอน้ำที่ล้าสมัย 200-300 ปี

มันเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะเยาะที่แผนพีดีพี 2015 ที่มีอายุใช้งานถึง 22 ปี ได้กำหนดมีพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจาก 1,570 เมกะวัตต์ (ความจริงมีอยู่แล้ว 3,000 เมกะวัตต์-จากเอกสารอื่นระบุไว้) เป็น 6,000 เมกะวัตต์หรือปีละประมาณ 200 เมกะวัตต์ แต่สหรัฐอเมริกาได้เพิ่มมาแล้วในปีเดียวคือ 2014 ถึง 6,201 เมกะวัตต์จากที่มีอยู่แล้ว 18,280 เมกะวัตต์ ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่น แต่ของไทยต้องรอ 22 ปีกว่าจะเพิ่มได้จริงแค่ 3,000 เมกะวัตต์

ที่น่าเกลียดกว่านี้ พบว่าในขณะที่ประเทศเยอรมนี และมาเลเซีย เน้นที่การส่งเสริมผู้ผลิตโซลาร์เซลล์รายย่อยบนหลังคาบ้าน อาคาร แต่ประเทศไทยเราเน้นที่รายใหญ่เป็นหลัก ดังภาพ

นอกจากนี้จากการเปิดเผยของคุณกษิต ภิรมย์อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยรังสิต (7 พ.ค.58) ว่า บริษัทธุรกิจเหมืองถ่านหินของไทยซึ่งไปมีสัมปทานเหมืองในต่างประเทศ กำลังไปลงทุนทำโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่น แต่ไม่ทำในเมืองไทยด้วยเหตุผลที่ท่านกษิตพูดว่า “เป็นที่รู้กันดีถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ…” (ขอโทษผมจับความไม่ทันจริงๆ จึงไม่กล้าเขียน ทั้งๆ ที่รู้ความหมาย)

3. แผนพีดีพี 2015 ไม่ได้นำแนวคิด “ปฏิรูปประเทศไทย” มาใช้เลย เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญมี 4 ข้อ โดยที่ข้อที่ 3 คือ “หนุนสังคมที่เป็นธรรม” คำถามก็คือว่า แผนพีดีพี 2015 คิดถึงเรื่องนี้บ้างไหม?

ผมไม่เห็นครับ

ผมขอสรุปบทความนี้ด้วยภาพอีก 2 ภาพครับ (ถือว่าเป็นบทความฉบับภาพประกอบ) ภาพแรกเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ Nikola Tesla พร้อมกับคำพูดของเขาว่า

“พลังงานไฟฟ้ามีอยู่ทุกหนทุกแห่งอย่างไม่จำกัดจำนวน และสามารถขับเคลื่อนเครื่องจักรกลของโลก โดยไม่จำเป็นต้องใช้ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติหรือเชื้อเพลิงในรูปแบบอื่นๆ” พูดภาษาของผมก็คือ ไม่ต้องใช้ King CONG

ถ้าเราฟังแค่นี้ เราอาจจะยังไม่ให้ความสำคัญกับคำพูดดังกล่าว แต่เขาผู้นี้เป็นผู้ริเริ่มคิดประดิษฐ์สมาร์ทโฟนที่เรากำลังใช้กันอยู่นี้ตั้งแต่ 100 กว่าปีมาแล้ว ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมโลกจึงเพิ่งได้มีสมาร์ทโฟนใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เหตุผลแค่นี้อาจจะยังไม่น่าสนใจ

แต่เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 บริษัทแห่งหนึ่ง โดยนักประดิษฐ์มือฉมังอีกคนหนึ่งของโลก เขายังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลก เขาได้เปิดตัวสินค้าตัวหนึ่งที่ได้นำชื่อของนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้มาเป็นชื่อสินค้า

สินค้าตัวนี้เป็นความจริงแล้ว วางตลาดแล้วครับ เป็นแบตเตอรี่ที่ชาร์จด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้พื้นที่หลังคาอาคารที่มีอยู่แล้วสามารถผลิตไฟฟ้าป้อนประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทั้งประเทศ แม้กระทั่งไฟฟ้าสำหรับคนทั้งโลกใช้ด้วย รวมกับเชื้อเพลิงที่รถยนต์ รถบรรทุกทุกคันในโลกนี้ใช้อยู่ (ประมาณ 2,000 ล้านคัน) ก็สามารถป้อนด้วยพลังงานที่ผลิตมาจากดวงอาทิตย์คือโซลาร์เซลล์ได้ โดยใช้พื้นที่รับแสงแดดเพียงไม่มาก

ผมนำรูปมาให้ดูด้วยครับ ที่เห็นพื้นที่เป็นจุดสีฟ้าในแผนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

กรุณาอย่าหาว่าผมเป็นนายหน้าขายสินค้าเหมือนกับตัวป่วนที่เข้ามาป่วนในท้ายบทความผมเป็นประจำจำนวน 1-2 คนนะครับ

เรียนตามตรงว่า ผมไม่ได้ต้องการสมบัติทางวัตถุใดๆ อีกแล้ว ไม่ว่าเงินทองหรือชื่อเสียง อย่าป้ายสีผมเลยครับ สิ่งที่ผมอยากได้มี 2 อย่าง คือความเป็นธรรมและสันติสุขในสังคมเท่านั้นเอง

กับอีกอย่างหนึ่งคือสุขภาพที่แข็งแรง

เอาไว้สู้กับ King CONG นิ! จริงๆ ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น