xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่” โครงการที่รัฐพยายามผลักดัน แต่เป็นหนามยอกอกของคนรักกระบี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตอนนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะยังคงผลักดันโปรเจกต์สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต่อไป แม้จะเจอกระแสต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่

“จริยา เสนพงศ์” ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก “กรีนพีซ” ในฐานะผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่และการสร้างท่าเทียบเรือถ่านหิน ออกมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจกับ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์

จริงหรือไม่ที่ว่าถ่านหินสะอาด?

ถ่านหินทำให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานจริงหรือไม่?

ข้อเท็จจริงที่ได้รับจากกรีนพีซ จะทำให้สังคมทราบว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุทำร้าย “กระบี่” โดยตรงและทางอ้อม

คิดอย่างไรที่รัฐบาลจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือล้มเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนพีดีพีได้ แผนพีดี พีคือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นตัวแผนที่จะบอกคนไทยทั้งประเทศว่า นับจากนี้เป็นต้นไปภายในระยะเวลา 20 ปี เราจะเอาไฟฟ้ามาจากไหน ควรผลิตไฟกี่เมกะวัตต์ และควรจะมีโรงไฟฟ้ากี่โรง

ล่าสุดเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการประชุมเรื่องของพลังงานเกิดขึ้น โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานรับรองในหลักการเบื้องต้นว่า ในปี 2558 นี้จะมีแผนพีดีพีฉบับใหม่ และประเทศไทยจะมีโครงการถ่านหินอย่างน้อย 16,000 เมกะวัตต์เกิดขึ้น หรือเท่ากับจำนวน 3 เท่าของแผนเดิมที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนถ่านหิน 16,000 เมกะวัตต์ นี้ เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน้อย 20 กว่าโรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้นต้องบอกว่ารัฐบาลชุดนี้เกินความคาดหมาย เกินความคาดหมายในแง่ที่ว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยพูดถึงเรื่องการปฏิรูปพลังงาน จนนำมาสู่การเรียกร้องการปฏิรูปพลังงานให้เกิดขึ้น แต่พอรัฐบาลชุดนี้อยู่ในภาวะของการเป็นรัฐบาลแล้ว การปฏิรูปพลังงานของประเทศไม่ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง

หมายความว่าตอนนี้เรากำลังติดกับดักเดิมที่ไม่สามารถล้มโต๊ะของการจัดการพลังงานได้ ทางกรีนพีซเองมองว่าประชาชนเองยังต้องเหนื่อยอีกต่อไป เพราะว่าการต่อสู้เรื่องพลังงาน ถือเป็นการต่อสู้ที่ยาว และการต่อสู้ครั้งนี้ มันไม่เหมือนกับการต่อสู้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เวลาที่เราสู้เรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องของพลังงาน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักคำนึงถึงคะแนนเสียงของตัวเองที่จะมีผลกระทบในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถ้ามองสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ผลกระทบเรื่องของการเลือกตั้ง หรือคะแนนเสียงไม่ได้มีผลมาก เพราะตอนนี้อำนาจทุกอย่างมันเบ็ดเสร็จหมด แต่สิ่งหนึ่งที่จะมีผลกระทบนั้น มาจากแรงขับของภาคประชาชนมากกว่า ที่ต้องการทวงสัญญาว่า ไหนบอกว่าจะปฏิรูปประเทศไทย และหนึ่งในข้อปฏิรูปที่คนไทยผลักดันมาโดยตลอดคือ การปฏิรูปพลังงาน

มีข้อมูลไหนที่คุณคิดว่าไม่ถูกต้องและอยากชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจบ้าง

ที่ผ่านมา เราสู้เรื่องของแผนพีดีพีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทำแผน เพราะถ้าตัวแผนแม่บทไม่สมบูรณ์ หรือมีการบิดเบือนตั้งต้น การที่จะยืนยันเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าต่อในพื้นที่มันจะถูกบิดเบือน

ถามว่ากระบวนการจัดทำแผนพีดีพีของประเทศไทย ถือว่าล้มเหลวหรือเปล่า ซึ่งถ้าดูจากกระบวนการที่เกิดขึ้นตอนนี้ ตอบได้ว่ามันล้มเหลว เพราะมีการอนุมัติในหลักการเบื้องต้นไปแล้วว่า จะใช้ถ่านหิน 16,000 เมกะวัตต์ แล้วถึงมารับฟังความคิดเห็นประชาชนตอนหลัง เพื่อไปประกอบกับหลักการที่ตัวเองอนุมัติ ทั้งที่ในการจัดทำแผนจริงๆ แล้ว มันต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งหมด จากนั้นถึงค่อยคุยกันอีกครั้งหนึ่งว่า แผนนี้มันมีจุดบอดอย่างไร จะอุดจุดบอดอย่างไร แล้วถึงค่อยอนุมัติแผนถูกต้องใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นนี่คือจุดบอดอันที่หนึ่ง ที่เราผิดซ้ำซากมาตลอด และแผนใหม่ปี 2558 กำลังจะผิดเหมือนเดิม

ประเด็นที่ 2 อย่างที่เคยบอกตอนต้นว่า แผนพีดีพีเราล้มเหลวเรื่องของการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ที่ผ่านมามีการโฆษณาบอกคนไทยว่า เราไม่มีพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอใช้ ทั้งที่ตอนนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 33,000 เมกะวัตต์ โดยเมื่อปีที่แล้วเราใช้ไฟอยู่ที่ประมาณ 26,000 เมกะวัตต์ของทั้งประเทศ และมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากกว่า 20% ทั้งที่โดยพื้นฐานแล้ว เราต้องการการสำรองไฟฟ้าเพียงแค่ร้อยละ 15 เท่านั้นเอง คำถามที่ย้อนกลับมา คือ การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่มันเกินจริงแบบนี้จะมีผลอะไร คำตอบคือมีผลให้เราไปสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แห่งใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่เราไม่ได้จำเป็นเอามาใช้ในระบบเลย แต่นั่นคือความเกินที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่ 3 ที่เราถูกบิดเบือนอีก คือ แผนที่ประชาชนจะได้เห็นหลังจากนี้คือ การประหยัดพลังงาน หรือการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ หมายความว่า ถ้าเราทุกคนช่วยกันประหยัดไฟ มันสามารถลดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ สิ่งที่มีการคำนวณและมีการวิจัยมาโดยตลอดคือ ถ้าเราสามารถดำเนินตามแผนของกระทรวงพลังงาน ที่ระบุว่าจะมีการประหยัดพลังงาน 100% ประเทศไทยสามารถที่จะลดการใช้ไฟฟ้า หรือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้อย่างน้อย 17,000 เมกะวัตต์

คราวนี้เรื่องมันบิดเบือนว่า แผนพีดีพีฉบับนี้ไม่ได้เอามาตรการการประหยัดพลังงานมากำหนดในแผนที่จะทำให้ได้ 100% ปีที่แล้วแผนเดิมเราเอามาแค่ 20% แผนครั้งนี้เราเอามาแค่ 75% คำถามในวงคณะกรรมการที่ถูกคัดเลือกเข้าไป เพื่อจะทำแผนพีดีพีถามว่า ทำไมถึงไม่เลือกทำให้ได้100% แต่มันไม่มีคำตอบที่ออกมาจากตรงนั้นว่า ทำไมไม่เดินหน้าให้ได้ 100% ภายใน 10 ปี เพื่อไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม เราไม่มีคำตอบจากตรงนั้น

ถัดมาประเด็นที่ 4 พลังงานหมุนเวียนเป็นแผนหนึ่งที่ถูกระบุในแผนของเรา แต่พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยไม่สามารถโตได้เลย เวลาเราเห็นโฆษณา หรือการสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐพูดถึงพลังงานหมุนเวียน สิ่งหนึ่งที่เราได้ยินเสมอคือ พลังงานหมุนเวียนไม่มั่นคง แต่ ณ เวลานี้ตัวเลขการใช้พลังงานหมุนเวียนตัวนี้มันต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการบิดเบือนตัวนี้ก็เป็นตัวสำคัญเหมือนกัน ที่ทำให้ตัวเลขของพลังงานหมุนเวียนไม่มีวันโต อันนี้คือเรื่องใหญ่ที่มันอยู่เบื้องหลังทั้งหมด

แล้วถ้าจะดูจากแผนพีดีพีของประเทศไทย จะเห็นได้ว่าแผนนี้มีผลโดยตรงต่อกระบี่ ซึ่งกระบี่เป็นโมเดลที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะเวลาที่แผนกำหนดจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ถูกเลือกเป็นโมเดลแรก ถ้าเกิดทำที่กระบี่สำเร็จ หลังจากนั้นทุกจังหวัดในประเทศไทยจะต้องทำด้วย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับกระบี่คือคนกระบี่ต้องยอมรับในแผนที่มันบิดเบือนตัวนี้

ต้องเข้าใจก่อนว่าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ที่มาของถ่านหิน คือ มาจากประเทศอินโดนีเซีย และประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำสัมปทานไว้ ทีนี้เส้นทางขนส่งถ่านหินของอินโดนีเซียและออสเตรเลีย จะเป็นเส้นทางที่ขนถ่านหินทางทะเลมายังกระบี่ หากนับจากจุดที่เข้าสู่เกาะปอที่เขตพื้นที่ของกระบี่ จะอยู่ที่ประมาณ 76 กิโลเมตรทางทะเล เพื่อจะยิงตรงเข้าไปพื้นที่ที่เรียกว่า บ้านคลองรั้ว ซึ่งอยู่ที่ ต.ตลิ่งชัน จากนั้นจะต้องทำอุโมงค์ลอดใต้ป่าชายเลน และทำสายพานข้ามป่าชายเลน และพื้นที่ของชุมชน เพื่อจะเลื่อนสายพานเข้าถ่านหินเข้ากับโรงไฟฟ้า อันนี้คือตามแผน ดังนั้นเราเห็นได้ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ว่าที่ผ่านมาคนไทยเองหรือโฆษณาของหน่วยงานภาครัฐเอง มักจะตัดตอนผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เราไม่รู้ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ขนาดออสเตรเลียเองยังเจอว่าคนในประเทศของเขากำลังคัดค้านการขยายโครงการท่าเรือส่งออกถ่านหิน ล่าสุดที่เป็นกรณีใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ออสเตรเลียคือว่า การจะสร้างท่าเรือในพื้นที่ปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกของยูเนสโกคือ Great Barrier Reef ในขณะที่อินโดนีเซียเอง ได้มีการเปิดเผยรายงานถึงผลกระทบต่อแหล่งน้ำของคนที่อยู่ที่เกาะนั้นทั้งหมด เพราะว่ากระบวนการของการเอาถ่านหินของบริษัทสัมปทานคือ ต้องเปิดหน้าดิน เพราะฉะนั้นอินโดนีเซียเขาจะต้องตัดต้นไม้ทั้งหมด นั่นคือการตัดไม้ทำลายป่า เพราะฉะนั้นการปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั้งหมดจะเกิดขึ้น และผลกระทบจะตกอยู่ที่ประชาชนที่อยู่ในอินโดนีเซีย วันนี้บอร์เนียวทั้งหมดกำลังได้รับผลกระทบ และยังไม่ได้รับการเยียวยา

แต่สิ่งที่เราจะต้องเข้าใจตอนนี้คือ เวลาที่เราพูดถึงเรื่องของความมั่นคงของพลังงาน เราคิดว่าถ่านหินมีใช้ได้ตลอด แต่ถ่านหินมันเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป และเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรก คราวนี้เวลาที่เราคิดว่า มันจะต้องส่งออกมาถึงประเทศเราตลอดเวลา จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันคือคำโกหกของคำโฆษณาที่บอกว่า ถ่านหินสามารถสร้างความมั่นคงได้ อินโดนีเซียเองเขากำลังอยู่ในช่วงภาวะคับขันเหมือนกันในระดับระหว่างประเทศ เพราะอินโดฯ เป็นประเทศส่งออกถ่านหินอันดับต้นของโลก แรงกดดันของเขาคือในระดับนานาชาติ เขาเป็นประเทศที่ก่อให้เกิดมลพิษคือ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ดังนั้นเขาเองจะต้องลดการส่งออกถ่านหิน ลดในเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่าลง ซึ่งมีผลในเรื่องของเหมืองถ่านหินโดยตรง

ฉะนั้นการที่ประเทศไทยโฆษณาว่า เราจะต้องมีความมั่นคงด้านพลังงานโดยการใช้ถ่านหิน มันไม่ใช่ความจริง เพราะวันหนึ่งที่ประเทศที่ส่งออกถ่านหินมายังประเทศไทย เขาโดนมาตรการการบีบบังคับภายใต้ผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างที่เราเห็นผลกระทบทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น เขาไม่มีทางที่จะส่งออกมาหาเราได้ทั้งหมด ดังนั้นถ้าจะมาบอกว่าถ่านหินคือความมั่นคงทางพลังงาน ก็ไม่ถูกต้อง

ถ้าอย่างนั้นควรจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังไง

จริงๆ แล้วการเกิดขึ้นของแผนพีดีพีต่างประเทศ เขามีการคำนวณพยากรณ์อย่างที่เราทำ แต่ว่าการคำนวณพยากรณ์ของเขาอยู่พื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ได้โอเวอร์เหมือนของเรา ของเราโอเวอร์กำลังสำรองที่เก็บมาตลอด ในแผนระบุว่า เราจะผลิตไฟฟ้าเพื่อสำรองแค่ว่า 15% แต่ว่าความเป็นจริงของไทย 20 กว่าเปอร์เซ็นต์มาโดยตลอด

ประการที่ 2 คือว่าเวลาที่เราทำแผน เราต้องมองถึงผลกระทบรวมทั้งหมดด้วย สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยไม่มี และต่างประเทศมีคือ เขาจะมีแผนที่เรียกว่า Strategic Impact Assessment เรียกว่าเป็นการประเมินผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ หมายความว่า แผนที่วางไว้ เขาจะคำนวณให้เห็นเลยว่า ถ้าคุณลงทุนถ่านหิน 16,000 เมกะวัตต์ จะเกิดผลกระทบแก่ประเทศอย่างไร เช่น จะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร จะเสียค่าซื้อถ่านหินกับประเทศต่างๆ เท่าไร จะมีผลกระทบเรื่องของการจัดการน้ำเท่าไร จะมีผลกระทบในเรื่องของสุขภาพของคน ในประเทศทั้งหมดเท่าไร และค่าจัดการของระบบเวลาที่โรงไฟฟ้าถ่านหินดำเนินการครบตามกำหนดอายุของงานแล้ว คือ เขาจะต้องถูกคำนวณไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น การคำนวณแบบนี้ ทำให้เรารู้อย่างหนึ่งคือว่า จริงๆ แล้วต้นทุนถ่านหินมันไม่ได้ถูกอย่างที่เป็น นั่นคือหลักการง่ายๆ ที่เราสามารถที่จะเข้าใจได้

ดังนั้นหากถ้าเรามีการคำนวณตามความเป็นจริง และมองถึงผลกระทบรวมทั้งหมดด้วย จะทำให้เรารู้ว่าควรจะทำแผนพีดีพีอย่างไร จึงจะเหมาะสมที่สุด

ถ้าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ จะส่งผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างไรบ้าง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในกระบี่ จะเกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องของเส้นทางขนส่งถ่านหิน ระยะทางมากกว่า 70 กิโลเมตร คือเริ่มตั้งแต่เกาะปอ เกาะลันตา เกาะศรีบอยา และมาถึงตรงท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ซึ่งในบริเวณเกาะลันตา เราทราบดีว่าเป็นจุดดำน้ำที่สำคัญระดับโลก และติดระดับ Top 10 ในเอเชีย ดังนั้นหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าจริงๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อเส้นทางดำนำเหล่านี้แน่นอน เพราะเส้นทางดำน้ำมันไปทับซ้อนกับเส้นทางขนส่งถ่านหิน

แล้วที่ผ่านมา ศรีบอยาคือพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดของหญ้าทะเล ถือเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ถ้าเราศึกษาดูเส้นทางอพยพของพะยูน จะเห็นว่าตัวเลขเพิ่มขึ้น 2 เท่า เนื่องจากพะยูนว่ายจากเกาะลิบงที่ตรัง และเข้ามาที่เกาะศรีบอยา ซึ่งเขาจะไต่มาตั้งแต่เกาะลันตา ว่ายอ้อม และตรงมาที่ศรีบอยา ซึ่งเป็นเขตพื้นที่หญ้าทะเลทั้งหมด ดังนั้นถ้ามีการทำท่าเทียบเรือถ่านหิน มันจะกลายเป็นปัญหา เพราะพื้นที่นั้นจะต้องมีการขุดดินหน้าทะเลทำร่องน้ำ เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินเรือ ผลคือจะทำให้น้ำเกิดตะกอน และส่งผลให้หญ้าทะเลตายได้ เพราะหญ้าทะเลมีความเปราะบางต่อน้ำเสียและน้ำตะกอน ผลสุดท้ายจะทำให้หญ้าทะเลหายไปจากพื้นที่ พอไม่มีหญ้าทะเล ก็จะทำให้พะยูนไม่เข้ามา นี่คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

กระบี่ยังมีความสำคัญว่าเมื่อปี 2553 ประเทศไทยลงนามรับรองข้อตกลงเรื่องของนกอพยพ และการใช้ประโยชน์ของนกอพยพ หรือนกย้ายถิ่นของเส้นทางบินเอเชียตะวันออกกับออสเตรเลีย แล้วกระบี่เป็นเครือข่ายนกอพยพแรกของประเทศไทย ฉะนั้นการลงนามรับร้องนี้เป็นการลงนามเพื่อปกป้องเส้นทางของนกอพยพ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือว่า นกอพยพที่เข้ามาในกระบี่ทั้งหมด นอกจากจะเป็นตัวชี้วัดของการที่ไทยรับรองมาถึงข้อตกลงนั้นแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทยคือ เรื่องของการลงนามสนธิสัญญา Ramsar Sites ซึ่ง Ramsar Sitesนี้หมายถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

ตัวชี้วัดที่สำคัญว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ คือ นกอพยพ และนกถิ่นที่อยู่ ซึ่งกระบี่มีนกมากกว่า 200 ชนิด นอกนั้นกระบี่ได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก คือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศอยู่ที่ลำดับที่ 1,100 หมายความว่า มันบ่งบอกถึงพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มันบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจของคนกระบี่ที่เขาสามารถปกป้องพื้นที่นั้นได้ นอกจากนั้นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลกมันครอบคลุมทั้งป่าชายเลน ครอบคลุมทั้งหญ้าทะเล ครอบคลุมทั้งนกที่มีอยู่ และครอบคลุมทั้งเส้นทางอพยพของนกที่เราไปลงนามบันทึกข้อตกลงเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

ทีนี้สิ่งสำคัญคือว่า ถ้าเกิดมีการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ณ วันนี้ เราได้พูดถึงการสูญเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำหรือเปล่า มันไม่มีในรายงานที่จะบอกว่า เราจะมีผลกระทบ แต่รายงานกลับประเมินผลต่ำกว่าความเป็นจริงว่า สามารถควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ Ramsar Sites แห่งนี้ได้ แล้วพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นคือว่า เขาได้ขึ้นทะเบียนระหว่างประเทศ เพราะคนกระบี่รวมกัน เพื่อจะเสนอบัญชีรายชื่อนี้ สู่รัฐบาลไทยและสู่นานาชาติ ดังนั้นมันไม่ใช่เป็นเรื่องที่รัฐบาลลงไปประกาศว่า ฉันจะประกาศเป็นพื้นที่นี้ แต่มันมาจากการทำงานมาอย่างยาวนานของการอนุรักษ์พื้นที่แห่งนี้ของคนกระบี่

แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ เรื่องของการเผาถ่านหิน เวลาที่เราเห็นโฆษณาถ่านหินสะอาด แล้วเรามองไม่เห็นอะไรเลย เพราะว่าเวลาที่เราไปดูงานที่โรงไฟฟ้า ควันต่างๆจะไม่ออกมาให้เห็น เราจึงไม่รู้เลยว่า ภายใต้สิ่งที่มองไม่เห็นมันคือสิ่งเล็กๆ ที่หลุดออกมาคืออะไร การเผาถ่านหินทำให้เกิด“ปรอท” และ “โลหะหนัก” ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น หากสูดดมไปมากๆ ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เวลาเราดูโฆษณา มักได้ยินว่า “ถ่านหินสะอาด” ทั้งที่ความจริงแล้ว ถ่านหินสะอาดไม่มีจริงในโลกนี้หรอก มันคือคำโกหกของนักโฆษณา คำโกหกขององค์กรที่ต้องการจะโฆษณาสิ่งนี้

เวลาที่เขาเผาถ่านหินแล้วบอกว่าเป็นเทคโนโลยีสะอาดและมีเทคโนโลยีดักจับนั้น ความจริงการเผาถ่านหิน 100 เปอร์เซ็นต์ เราอาจจะมีเทคโนโลยีดักจับสามารถควบคุมได้ 70% ส่วนที่ถูกดักจับไปจะกลายเป็นขี้เถ้า ซึ่งปนเปื้อนด้วยสารโลหะหนักและสารปรอท และขี้เถ้านี่เองที่จะถูกนำไปผสมใช้ในปูนซีเมนต์ หรือทำอิฐบล็อก อิฐมวลเบา กลายเป็นว่าสารพิษเหล่านี้ถูกเอากลับมาใช้ในพื้นที่และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในชีวิตประจำวันได้ นี่คือผลกระทบที่คนไทยจะต้องรับทราบว่า มันมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก

หรือเวลาที่เราเผาถ่านหิน โลหะหนักจะตกลงสู่น้ำ ปลา ปะการังก็ได้ผลกระทบนั้นไปด้วย แล้วเราเอาปลามากิน เราก็ได้ผลกระทบในร่างกายคือสะสมสารพิษไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีครรภ์ นอกจากจะพบว่ามีสารปรอทอยู่ในตัวแม่แล้ว ยังพบว่ามีสารปรอทอยู่ในตัวเด็กด้วย ซึ่งจะมีผลในเรื่องของพัฒนาการ นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่เราเองไม่ควรจะเพิกเฉยเลย

นอกจากมีผลกระทบด้านสุขภาพ มีผลกระทบด้านระบบนิเวศแล้ว กระบี่ยังต้องเจอกับผลกระทบเรื่องของการท่องเที่ยว ปกติรายได้ของการท่องเที่ยวกระบี่มากกว่า 4 หมื่นล้านต่อปี กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายหลักของกระบี่เป็นกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ค่อนข้างจะ sensitive ต่อผลกระทบมลพิษแบบนี้ เวลาเราไปไร่เลย์ เราจะเห็นปล่องโรงไฟฟ้า เวลาที่นักท่องเที่ยวลงเรือมา เขายืนยันชัดเจนว่าถ้ามีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทิศทางลมที่เกิดขึ้นจะมาถึงไร่เลย์แน่นอน นักท่องเที่ยวกับกลุ่มผู้ประกอบการยืนยันชัดเจนว่า เขาย่อมได้รับผลกระทบ เพราะไร่เลย์เป็นจุดปีนผาที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะไม่ยอมขึ้นปีนผา หากพบว่ามีผลกระทบเรื่องของถ่านหิน

แล้วอย่างที่บอกว่าจุดที่ผ่านเส้นทางขนส่งถ่านหิน คือ เส้นทางดำน้ำของนักท่องเที่ยว และจุดสำคัญของปะการัง ซึ่งถ้าปะการังมันหาย การท่องเที่ยวก็หาย ไม่มีใครอยากจะดำน้ำในวันที่เรือถ่านหินวิ่งกันตลอดเวลา เพื่อขนถ่านหินอย่างน้อย 2.5 ล้านตันต่อปีเข้ามาในกระบี่ ดังนั้นนี่คือเรื่องใหญ่ที่จะเกิดขึ้น

หลังจากนี้กรีนพีซวางแผนดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

เรามองเสมอว่าสิ่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน และรัฐบาล กลัวที่สุด ณ เวลานี้ คือ “กลัวคนรักระบี่” คือ เขาไม่ได้กลัวกรีนพีซหรอกค่ะ แต่เขากลัวความเข้มแข็งของคนที่จะมาร่วมกันปกป้องกระบี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด เรามองว่าการต่อสู้เพื่อจะหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของกระบี่จะทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนถือกระบี่ ถ้าวันนั้นเป็นวันที่ประชาชนใน จ.กระบี่ และประชาชนเป็นคนตัดสินใจ คิดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือกระบี่ไม่มีวันจะสร้างขึ้นได้ แต่ถ้าเราปล่อยให้กระบี่อยู่ในมือของอุตสาหกรรมถ่านหิน รัฐบาล และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงกระทรวงพลังงานรับรองได้ว่า นั่นคือความล้มเหลว และหายนะที่จะเกิดขึ้นกับกระบี่แน่นอน

ดังนั้นเราจึงมีโปรเจกต์ที่เรียกว่า “กอดกระบี่” หรือ “Hug Krabi” คือจะเป็นการรวบรวมรายชื่อของคนที่รักกระบี่ โดยเฉพาะกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่เขาเคยมากระบี่ เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือกระบี่ ซึ่งรายชื่อเหล่านี้เราจะส่งไปที่ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และรวมทั้งนายกรัฐมนตรี เพื่อจะกระตุกเตือนเขาว่ายังมีคนรักกระบี่และไม่เห็นด้วยนะ ฉะนั้นคนที่สนใจยังสามารถร่วมลงชื่อได้ที่
www.hugkrabi.org เพื่อเป็นอีกแรงพลังในการปกป้องกระบี่จากหายนะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ด้วยกันค่ะ

ภาพโดย ปวริศร์ แพงราช




กำลังโหลดความคิดเห็น