xs
xsm
sm
md
lg

“ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” รอดบัญชีมรดกโลกอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผาเดียวดาย ส่วนหนึ่งของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่
“ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” รอดพ้นจากการถูกขึ้นบัญชีมรดกโลกในภาวะอันตราย เนื่องจากยูเนสโกเห็นว่าทางการไทยแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน “เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ” แนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลกของออสเตรเลีย ก็รอดพ้นจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในภาวะอันตรายเช่นกัน

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 38 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. เป็นต้นมา มีมติไม่ขึ้นทะเบียน “ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” เป็นมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย ภายหลังจากเห็นว่าทางการไทยได้ลงมื้อแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้อย่างจริงจัง ซึ่งก่อนหน้านี้มรดกโลกป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ถูกจับตามองว่าอาจถูกขึ้นบัญชีอันตรายด้วยเหตุผล 2 ประการคือ มีการลักลอบตัดไม้พะยูงจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก และมีการบุกรุกพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศและรีสอร์ต เป็นการทำให้เสี่ยงต่อคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่

แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมรดกโลกมีมติขึ้นทะเบียนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกที่ถูกคุกคาม และออกคำสั่งให้ทางการไทยส่งแผนการแก้ไขและรับมือกับภัยอันตรายที่คุกคามระบบนิเวศในบริเวณมรดกโลกป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยเฉพาะการจัดการเพื่อลดการลักลอบตัดไม้พะยูงและการค้าไม้พะยูงข้ามชาติ โดยจะต้องส่งแผนดังกล่าวให้ศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558

โดยไทยจะต้องเชิญองค์กรอนุรักษ์ระหว่างประเทศ (ไอยูซีเอ็น) มาติดตามการดำเนินการในพื้นที่มรดกโลกป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ว่ามีความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนมากน้อยเพียงใด เพื่อพิจารณาว่าจะขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกในภาวะอันตรายหรือไม่ ในการประชุมมรดกโลกครั้งที่ 40 ในปี 2559

ขณะเดียวกัน “เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ” (Great Barrier Reef) แนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลกของออสเตรเลีย ก็เป็นมรดกโลกอีกแห่งที่รอดพ้นจากการถูกขึ้นทะเบียนมรดกโลกในภาวะอันตราย โดยสาเหตุที่ถูกจับตามอง เนื่องจากแนวปะการังเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำมือมนุษย์ คณะกรรมการมรดกโลกให้เวลาทางการออสเตรเลียอีก 1 ปี เพื่อพิสูจน์ว่ามีความทุ่มเทที่จะแก้ปัญหานี้ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการมรดกโลกก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับแผนการพัฒนาชายฝั่งทะเล รวมถึงโครงการสร้างท่าเรือแห่งใหม่ และโรงงานก๊าซธรรมชาติเหลวในบริเวณชายฝั่ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น