xs
xsm
sm
md
lg

มจธ.ประกวดนวัตกรรมไขบทเรียนเด็ก ม.ต้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มจธ.จัดโครงการประกวดนวัตกรรม Learning Tool เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาปล่อยของเค้นความรู้สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการสอนทุกแขนงสำหรับ ม.ต้น ซึ่งในปีแรกนี้มีทีมชนะเลิศถึงสองทีมคว้าทุนการศึกษากว่าห้าหมื่นบาท

​ในยุคสมัยที่เด็กเกิดมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เป็นเหตุให้เด็กในยุคนี้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว และเรียนรู้ได้รวดเร็ว จึงไม่แปลกนักที่เด็กยุคใหม่จะรู้ตัวเองเร็วว่าชอบหรือถนัดอะไร และประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย

​สถาบันการศึกษานับเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายให้กับเด็กๆ ในสมัยนี้ รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดโครงการประกวดนวัตกรรม Learning Tool โดยสำนักงานการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ GEO หรือ Gifted Education Office

ดร.ปิติวุฒญ์ ธีรกิตติกุล หนึ่งในทีมงานโครงการประกวดนวัตกรรม Learning Tool กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการประกวดนวัตกรรมสื่อการสอนด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านความรู้ที่นักศึกษาเคยเรียนมา โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรก มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาที่ต้องการพัฒนาความสามารถ และพร้อมที่จะทดสอบศักยภาพของตัวเองได้เข้าร่วมโครงการ และมาประลองวิชาว่าพวกเขาจะสามารถนำความรู้ที่มีไปสร้างสรรค์สื่อเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับคนอื่นได้จริงหรือไม่

“สาเหตุที่เราทำโครงการนี้เพราะที่ผ่านมาเราพบปัญหาว่าระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนั้นส่วนใหญ่จะจัดการเรียนการสอนให้อยู่ในระดับกลางเพื่อรองรับเด็กที่มาจากทุกหนแห่งได้มีสิทธิการศึกษาที่เท่าเทียมกัน แต่จะเป็นปัญหาสำหรับเด็กมีของ ที่ลำพังการเรียนแค่ในห้องไม่สามารถตอบโจทย์ให้พวกเขาได้ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้ง มจธ.มีเด็กกลุ่มนี้อยู่มาก เราจึงเปิดพื้นที่ให้เค้าได้แสดงพลังออกมาซึ่งส่วนใหญ่เค้าจะทำได้ดีเพราะการที่เด็กตัดสินใจเข้าร่วมโครงการก็เท่ากับใจเค้ามาด้วย ความสำเร็จก็มาครึ่งทางแล้ว”

ดร.ปิติวุฒญ์ กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้เข้าสมัครว่าคือนักศึกษาชั้นปีที่ 1-3 ทุกคนในรั้ว มจธ. ที่สนใจและอยากทดสอบความสามารถของตัวเอง โดยในปีแรกนี้มีนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 11 ทีมซึ่งแต่ละทีมจะได้งบประมาณในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการสอนทีมละ 2,000 บาท นอกจากนั้นนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับสิทธิ์ใช้พื้นที่ ในการพัฒนานวัตกรรมได้ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยเพื่อค้นคว้า ทดลอง และประดิษฐ์ผลงาน โดยในการตัดสินผลงานนั้นยังได้เปิดโอกาสให้ User หรือผู้ใช้งานจริงอย่างนักเรียนชั้น ม.ต้น และครูจากโรงเรียนนาหลวง ทีมงาน Teach For Thailand มาทดลองเรียนรู้จากผลงานต่างๆ และร่วมตัดสิน

ในปีแรกนี้มีทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ถึงสองทีมคว้าทุนการศึกษาร่วมกันทั้งสิ้น 50,000 บาท
โดย นายศุภณัฐ หาญพีรเกรียงไกร ภาควิชาวิศวกรรมเคมี หนึ่งในตัวแทนของทีม Banana เจ้าของผลงาน “วงจรไฟฟ้ามาหานะเธอ” กล่าวว่า ผลงานนี้เป็นสื่อการสอนสำหรับนักเรียนชั้น ม.3 เพื่อการเรียนรู้เรื่องวงจรไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ตรงที่เคยเรียนเรื่องวงจรไฟฟ้าตอนเด็กๆ แล้วไม่เข้าใจ เพราะได้แค่เรียนตามในหนังสือ หรือวาดรูปตามครูบนกระดานจึงไม่เข้าใจว่าเรียนวงจรไฟฟ้าไปทำไม มองภาพไม่ออกว่าจะนำไปทำอะไรได้

“เราทำสื่อการสอนเรื่องวงจรไฟฟ้าสร้างเป็นโมเดลจำลองให้เห็นภาพโดยเปรียบกระแสน้ำที่ไหลอยู่ในท่อเป็นกระแสไฟฟ้า แรงดันน้ำที่ระดับต่างๆ ก็เปรียบเสมือนพลังงานจากแบตเตอรี่ที่เลือกใช้ ซึ่งเราพยายามอธิบายและสาธิตให้น้องๆ ได้เข้าใจจากนั้นจะมีการทำเวิร์คช็อปเล็กๆ โดยเราจะให้โจทย์แก่ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ทดลองต่อกระแสไฟฟ้าด้วยตัวเองจากอุปกรณ์ที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขโจทย์ปัญหาที่ได้รับ เช่น มีของเล่นที่ต้องใช้แบตเตอรี่ขนาด 3 โวลต์ แต่ผู้เรียนมีแบตเตอรี่ขนาด 9 โวลต์ จะต้อต่อวงจรไฟฟ้าอย่างไรของเล่นจึงจะใช้งานได้ ซึ่งจากการทดลองกับน้องๆ แล้วหลายคนบอกว่าสนุกและเข้าใจในบทเรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น” นายศุภณัฐกล่าว

ทางด้าน นายประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ตัวแทนจากทีม Long Try เจ้าของผลงาน “Mini Pulleys Truck” กล่าวว่า ผลงานที่พัฒนาขึ้นเป็นสื่อการเรียนรู้เรื่องรอก เพราะจากประสบการณ์ที่เรียนมาเรื่องรอกเป็นเรื่องที่มีการคำนวณค่อนข้างมากและยาก ซึ่งเมื่อไม่ได้ทดลองจึงไม่เข้าใจอยู่ดีว่ารอกช่วยทุ่นแรงได้อย่างไร

“สื่อการเรียนรู้ของเรายึดหลักการว่า เล่นให้สนุกเพื่อการเรียนรู้อย่างไร้ขอบเขต ผ่านรถเครนขนาดเล็กที่ต้องบังคับด้วยรีโมทและมีการติดตั้งรอกไว้ โดยผู้เรียนจะได้ทำภารกิจนำรอกไปทุ่นแรงการขนย้ายมวลที่มีขนาดต่างๆ ซึ่งผู้เรียนจะได้เล่นสนุกพร้อมกับการเรียนรู้ในการขนย้ายว่ามวลขนาดต่างๆ ควรจะออกแบบรอกให้ทำงานอย่างไรจึงจะเหมาะสมและใช้งานได้” นายประพันธ์พงศ์กล่าว

นอกจากนั้น ดร.ปิติวุตญ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้นอกจากผลงานที่นักศึกษาได้สร้างสรรค์ขึ้นจะถูกนำไปขยายผลต่อให้เกิดประโยชน์ต่อครูและนักเรียนในโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับนักศึกษาผู้พัฒนาผลงานได้อย่างดี ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้เขารู้ว่าตัวเองถนัดด้านไหนและยังขาดอะไรที่ต้องพัฒนาตัวเองต่อไปอีก โดยคาดว่าโครงการนี้จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องทุกปีซึ่งแต่ละปีอาจมีโจทย์ที่ปรับเปลี่ยนและแตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน
ทีม Banana
ทีม Long Try
ดร.ปิติวุฒญ์ ธีรกิตติกุล






*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น