xs
xsm
sm
md
lg

“สถาบันคีนันเอเชีย” ร่วม “เชฟรอน” นำแนวคิดสเต็มศึกษา เสริมทักษะวิทย์แก่ นร.ในภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - “สถาบันคีนันแห่งเอเชีย” ร่วมมือ “เชฟรอน ประเทศไทย” เข้าพัฒนาโรงเรียนสร้างเครือข่ายโรงเรียนส่งเสริมการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้แนวคิด “สเต็มศึกษา” ในชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็กไทย ซึ่งมีโรงเรียนกว่า 27 แห่งเข้าร่วม

วันนี้ (12 ก.ย.) วิทยาศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ยากสำหรับนักเรียน นักศึกษาอีกไม่น้อย ผลพวงจากการขาดแรงดึงดูดที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ ทำให้หลายส่วนขาดบุคลากรคุณภาพในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์อีกไม่น้อย เช่น ในกลุ่มนักวิจัย นักวิชาการ วิศวกร ขณะที่ความก้าวหน้าทางวิทยาการ เทคโนโลยี และการสื่อสารที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนา คิดค้น สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ กับประเทศที่เป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีเป็นหลักเป็นอย่างมาก

แนวคิด “สเต็มศึกษา” หรือ (Science, Technology, Engineering and Mathematics Education / STEM) หลายประเทศให้การยอมรับว่า สามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี แนวคิดนี้จึงถูกนำมาใช้พัฒนาศักยภาพของเด็กไทยที่จะเป็นอนาคตของประเทศในวันหน้า บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย จึงร่วมกันจัดทำ Chevron - INCREASE หรือ “โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้” ด้วยวิธี “การอบรมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษา” เพื่อพัฒนาโรงเรียน STEM ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนขึ้น ในจังหวัดชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยมีตัวแทนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 27 โรงเรียน เป็นกลุ่มที่ผ่านการดำเนินการไปแล้ว

“ความร่วมมือระหว่างเชฟรอน และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เราหวังถึงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนผ่านการศึกษาในระบบมาตั้งแต่ปี 2556 เราได้มุ่งส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยอาศัยการทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา การอบรมครูผู้สอน และการจัดกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ของการดำเนินโครงการฯ เราได้ร่วมมือกันในการขยายโครงการฯ เพื่อช่วยส่งเสริมศักยภาพของครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ และช่วยส่งเสริมความรัก ความเข้าใจ ในการเรียนวิทยาศาสตร์ และทักษะการคิดวิเคราะห์ให้แก่เยาวชนต่อไป” นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ระบุ

ขณะที่ นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย อธิบายว่า สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คือ ทำอย่างไรให้กระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นแบบ Inquiry-based Learning คือ ใช้การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดสืบเสาะต่อ “เปรียบเหมือนว่าการตั้งคำถามคือ การสอนอย่างหนึ่ง และจะทำอย่างไรให้ครูพูดน้อยกว่านักเรียน ซึ่งมักจะพบว่าครูส่วนใหญ่มักจะพูดมากกว่าที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูด และบางทีอาจบอกคำตอบก่อนที่นักเรียนจะได้มีโอกาสคิด หรือพูดออกมา ทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนรู้อะไรในครั้งนั้น ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาต้องเป็นแกนนำสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตามแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ Inquiry-based พร้อมทั้งให้คำแนะในการปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม ให้เขาได้คิด วิเคราะห์ และรู้สึกสนุกกับวิทยาศาสตร์นี่คือหลักสำคัญ” เขาอธิบาย

นางฐิติมา นาครพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมบ้านทำเนียบ แสดงความเห็นว่า ในส่วนของ Learning Walk หรือการฝึกปฏิบัติการสังเกตชั้นเรียน แม้จะเป็นผู้บริหารที่มีงานมากไม่ได้เป็นปัญหา กลับสามารถทำได้ดีด้วยซ้ำ หลังจากได้แนวคิดหลักในวิธีการเรียนการสอบแบบนี้จะพยายามไปเดินสังเกตชั้นเรียนในช่วงเช้าทุกวัน พบว่า ถ้าครูมีการสอนที่เร้าความสนใจ รู้จักใช้คำถาม เด็กก็จะสนุกสนาน และชอบเรียน แต่ถ้าสอนแบบทื่อๆ เด็กจะไม่ตั้งใจ หรือสนุกกับการเรียนเท่าไร โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้นั้นดีมาก อย่างน้อยก็ช่วยสร้างกระบวนการคิดให้แก่เด็ก ซึ่งตรงกับนโยบายของทางโรงเรียนอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับ นายประเสริฐ รอบคอบ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาค่าย จ. ชุมพร ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ส่งครูในโรงเรียนสองคนเข้าอบรมโครงการพัฒนา และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ และเมื่อเขานำมาปรับวิธีเอามาใช้ในการสอน ทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในการตั้งคำถามให้เด็กคิดเด็กตอบ เราก็เริ่มนำกระบวนการเรียนการสอนแบบนี้มาใช้ ให้เด็กๆ ไปคนไปสืบค้นข้อมูล ออกความเห็น และจัดงานขึ้นมา ถือว่าได้ผลดีทีเดียว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น