xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

60 ล้านบาท ส่งเสริมนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพื่มเวลารู้”**

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุด คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะอนุกรรมการ ขับเคลื่อนฯ ด้านการศึกษา ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ก็เห็นชอบ “นโยบายลดเวลาเรียน เพื่มเวลารู้” ไว้ในช่วงหลังเลิกเรียน 14.00 น. ใน 3,800 โรงเรียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กำลังขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.

คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เห็นชอบทั้งการบูรณาการงบประมาณ จากกระทรวงต่างๆ ที่มีงบประมาณในลักษณะเดียวกัน แต่ในส่วนของ “โรงเรียนเอกชน” นั้น อนุกรรมการฯได้ขอความร่วมมือไปว่า “บริษัทใดที่มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอยู่ในพื้นที่ ขอให้สนับสนุนงบประมาณในส่วนของความร่วมมือความรับผิดชอบต่อสังคม”

โดยจะเริ่มทดลองใช้ในวันเปิดภาคการศึกษา วันที่ 2 พ.ย.นี้ พร้อมกับให้มีการวัดผล “หลังเรียนจบ 1 ภาคการศึกษา” โดยการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเรียนรู้ จะดำเนินการใน 3 กลุ่ม คือ 1.เพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้ 2.ทัศนคติค่านิยม 3.ทักษะ

ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังอยู่ในระหว่างการอบรมในเชิงปฏิบัติการให้กับครูใน 4 ส่วน คือ 1.หลักสูตร การปรับเนื้อหา 2.กระบวนการจัดการเรียนรู้ 3.วัดผล ประมวลผล 4.ทบทวนการปฏิบัติ

ที่ประชุมยังรับทราบว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะมีการตั้ง “ผู้นำการนิเทศการจัดกิจกรรม” หรือ Smart trainning ที่จะเข้ามาปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ วัดผลประมินผล และ โดยให้บูรณาการงบ ประมาณจากกระทรวงอื่นๆ จัดตั้งเป็นงบประมาณเพื่อความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR-Cooperated Social Responsiblity

อย่างวันก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ Smart Trainer : ผู้นำการนิเทศการจัดกิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" รุ่นที่ 1 รวมจำนวน 300 ทีม ซึ่งส่วนใหญ่ เป็น “ศึกษานิเทศก์และผู้เกี่ยวข้อง”ศึกษานิเทศก์จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำกับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในระยะแรกกว่า 3,800 แห่ง

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปให้นโยบายว่า “ศึกษานิเทศก์”จะต้องเป็นผู้มารับนโยบายให้ลึกซึ้ง สามารถทำงานเป็นทีมได้ ให้เทคนิควิธีการในการจัดการเรียนรู้อย่างรอบด้าน ตลอดจนคอยผลักดันให้ครูมีบทบาทต่อกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ใน 3 ด้าน คือ บทบาทของผู้อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนในการหาความรู้ บทบาทของผู้สร้างแรงจูงใจ และบทบาทของผู้ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และช่วยให้นักเรียนมีจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์

กระทรวงศึกษาธิการยังหวังว่า Smart Trainer ที่แบ่งเป็นทีมละ 3 คน มีศึกษานิเทศก์เป็นหัวหน้าทีมและเป็นผู้นำในการลงพื้นที่โรงเรียนในความรับผิดชอบประมาณ 10-13 แห่งต่อทีม โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป

ส่วนกิจกรรม ก็มีการแนะนำโรงเรียนเกี่ยวกับการเลือกเมนูกิจกรรม ที่จะช่วยเสริมทักษะหลักทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสติปัญญา (Head) ที่จะช่วยฝึกให้เด็กคิดเป็น วิเคราะห์เป็น มากกว่าแค่ท่องจำ คือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ วิเคราะห์และสังเคราะห์ได้ 2) ด้านทัศนคติ (Heart) จะต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม เคารพกฎกติกา และมีระเบียบวินัยควบคู่ไปด้วย 3) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (Hand) ที่เปิดโอกาสให้ได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเอง

ขอให้เลือกกิจรรมที่มีความเหมาะสมกับบริบทและสิ่งแวดล้อมของแต่ละโรงเรียนด้วย ทั้งนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างรวบรวมเมนูกิจกรรมของกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนต่างๆ ที่ต้องการจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีเมนูกิจกรรมให้โรงเรียนเลือกอย่างหลากหลายกว่า 400 กิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ไม่ตายตัว โรงเรียนสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมได้ตามระยะเวลา ตามความพร้อม และบริบทของแต่ละแห่ง

“ต้องฝากความหวังไว้กับศึกษานิเทศก์ทุกคน ซึ่งเป็นทีมที่มีประสบการณ์จากการทำงานเกี่ยวกับด้านพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้แนวทางพัฒนาการทางสมอง (Brain-based Learning : BBL) ในพื้นที่ต่างๆ และเชื่อว่าศึกษานิเทศก์จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายในช่วงต้นโครงการได้เป็นอย่างดี”พลเอกดาว์พงษ์ให้นโยบายอย่างสวยหรูไว้อย่างนี้

อีกตัวอย่างที่ดี จะมองว่าเป็น Smart Trainer ด้วยหรือไม่นั้น เมื่อ “น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ออกมาขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่ หรืออยู่ใกล้โรงเรียน ส่งอาจารย์ หรือนักศึกษาพลศึกษา เข้าไปช่วยจัดกิจกรรมให้โรงเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ สกอ. และตามนโยบายส่งเสริมกิจกรรมพลศึกษา ในช่วงลดเวลาเรียน ของรัฐบาล เพื่อเข้าไปช่วยจัดกิจกรรมพลศึกษาให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนครูพลศึกษา

นอกจากนั้น สกอ.ยัง ส่งเสริมการผลิตมัคคุเทศก์น้อย ร่วมกับ ศธ. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก ถือเป็นการสนับสนุนการฝึกอบรมในเรื่องของภาษาเหล่านี้ให้แก่นักเรียน เพื่อใช้ในการสื่อสาร และแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนวัฒนธรรมต่างๆ ของไทย

ส่วนเรื่องของงบประมาณ วันก่อน “นายการุณ สกุลประดิษฐ์” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยคราวการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.ได้รับงบประจำปีงบ 2559 จำนวน 319,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละกว่า 60 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่เหลืองบดำเนินการเพียง 17,000 ล้านบาท จะเน้นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล

หนึ่งในนั้นมีงบประมาณสำหรับ “โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” ใช้งบเบื้องต้น 60 ล้านบาท มีผู้อำนวยการ (ผอ.) สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) เป็นเจ้าภาพ รวมกับงบประมาณเพื่อความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ คสช.เห็นชอบ เป็นการบูรณาการงบประมาณ จากกระทรวงต่างๆ ที่มีงบประมาณในลักษณะเดียวกัน

“ผมต้องการให้แต่ละสำนักเข้าใจตรงกันว่า ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่สังคมเคยบอกว่านักเรียนของเราหิ้วกระเป๋าหนัก ทำการบ้านหนัก จนไม่มีเวลาพักผ่อน เห็นตรงกันว่าโครงการนี้จะสามารถฝึกสมองเด็กให้เกิดทักษะด้านอื่นๆ ที่สำคัญทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ดังนั้น เราจะนำเอางบประมาณที่มีอยู่ของแต่ละสำนักมาเชื่อมกันหมด นำงบมาหลอมรวมกันแล้วมีซีอีโอรับผิดชอบ” นายการุณ กล่าวไว้

ที่เห็นชัด ๆแล้วน่าจะมี งบประมาณของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ไปมอบนโยบายเมื่อเร็ว ๆนี้

“เร็ว ๆ นี้ รมว.ศึกษาธิการ จะลดเวลาเรียน ให้มีเวลาทำกิจกรรม 2 ชั่วโมง จึงอยากให้กระทรวงนำวิทยาศาสตร์เข้าไปเสริม ต้องทำให้คนไทยรู้ว่าวิทย์สำคัญกับไทยอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องดีไซน์ ทำให้เด็กคิดเป็น และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่เอาไว้ใช้ไปเรียนหมอ หรือวิศวะ”

ตามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ไว้ และหลายกระทรวงก็กันงบประมาณตรงนี้ไว้แล้ว

ส่วนการคัดเลือกโรงเรียน จนได้มา 3,800 โรงเรียน ที่ สพฐ.ส่งไปยัง ผอ.สำนักงานเขตการศึกษา ให้พิจารณาโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจ ร้อยละ 10 ของโรงเรียนในสังกัด และให้ครอบคลุมกระจายทุกสภาพพื้นที่นอกเมืองในเมือง

“เป็นโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด โรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ โรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นโรงเรียนมัญยมขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ” โดยมีพี้เลี้ยง 3 คน หรือ Smart Trainer ประกอบด้วย ศึกษานิเทศน์ 1 คน ผอ.โรงเรียน 1 คน และครูฝ่ายวิชาการ 1 คน”

ส่วนรายชื่อ 3,800 โรงเรียนทั่วประเทศ คนในจังหวัดนั้น ๆ ก็คงรู้


กำลังโหลดความคิดเห็น