ล้มสมาร์ทคลาสรูม สพฐ. แจงไม่ปูพรมตามแผนที่เคยวางไว้ 1.9 หมื่นโรง ระบุไม่กำหนดตายตัว ดูความต้องการ ร.ร. และจัดตามเหมาะสม รอสำรวจข้อมูล ร.ร. ก่อนสรุปให้ฝ่ายสังคมฯ เดือนก.ย. นี้ พร้อมเร่งขยายการศึกษาทางไกลดาวเทียมวังไกลกังวล ใช้สอนทุกวิชาเริ่มทันทีเทอม 2 ใน 1.6 หมื่นโรง และปลายเทอมจะประเมินผลสัมฤทธิ์ระดับชาติด้วย
ที่โรงแรมวาสิฐี จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดอบรมการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ให้แก่ผู้บริหาร ครู และศึกษานิเทศก์ โดยมี พลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิด
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวภายหลังว่า ทางฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ได้หารือกับ สพฐ. ว่า จะยังคงดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่อไป แต่แน่นอนแล้วว่า จะไม่มีการปูพรมสร้างห้องสมาร์ทคลาสรูม หรือ ห้องเรียนอัจฉริยะ ให้โรงเรียนตามแผนเดิมซึ่ง สพฐ. เคยคำนวณไว้ว่าถ้าเปลี่ยนแปลงงบประมาณปี 2556 และ 2557 ของโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน จำนวน 6,970 ล้านบาท มาแล้วจะจัดสร้างห้องสมาร์ทคลาสรูมได้ ประมาณ 19,000 โรง ทั้งนี้ เพราะ คสช. ต้องการให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงเห็นว่าจะไม่มีการกำหนดตายตัวว่าต้องจัดทำเป็นห้องสมาร์ทคลาสรูม แต่จะดูความต้องการของโรงเรียนและความเหมาะสมเพื่อจัดสรรอุปกรณ์เพิ่มเติมให้ตามความเหมาะสม
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สพฐ. ได้สำรวจโรงเรียนในสังกัด จำนวน 38,000 โรงอย่างละเอียด ว่า โรงเรียนมีอุปกรณ์ไอซีทีอะไรบ้าง คาดว่า อีก 2 สัปดาห์จะประมวลผลข้อมูลตรงนี้เสร็จ จากนั้นจะส่งข้อมูลไปให้ยังฝ่ายสังคมจิตวิทยา ซึ่งมีนักวิชาการที่มีความรู้ประจำอยู่มาช่วยกันวิเคราะห์ว่าเราจะพัฒนาการศึกษา โดยใช้ไอซีทีในโรงเรียนแต่ละแห่งใช้รูปแบบใดบ้าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ให้เป็นไปตามสภาพจริงและความต้องการของโรงเรียน แต่เบื้องต้นแล้วโรงเรียนขนาดเล็ก 1,615 โรง ที่ไม่มีดาวเทียมเพื่อการศึกษาจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กและกลาง ซึ่ง สพฐ. จะเน้นไปในทางเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู ในโรงเรียนขนาดเล็ก และขณะนี้กำลังเติมเต็มโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โรงเรียนวังไกลกังวลให้ครบ 100% เหลือแต่โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่จะต้องมาหารูปแบบการใช้ไอซีทีเพื่อพัฒนาการศึกษา โดยบางโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่มากนั้น อาจจัดหาคอมฯให้ครู แล้วฉายขึ้นโปรเจกเตอร์ให้นักเรียนดู
“สรุปว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น และ สพฐ. ก็จะไม่สรุปข้อมูลไป แต่จะส่งข้อมูลให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ตัดสินใจเอง เชื่อว่าน่าจะสรุปเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้น จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ให้ความเห็นชอบและเร่งดำเนินการให้ทันปีงบประมาณ 2557”นายกมล กล่าวและว่า ทั้งนี้ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้ไอซีที จะคำนึงถึง 4 องค์ประกอบหลักเป็นสำคัญ คือ การจัดสรรฮาร์ดแวร์ให้โรงเรียนตามความจำเป็น การพัฒนาเนื้อหาของวิชาต่างๆ การพัฒนาครูให้มีความพร้อมสำหรับการใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษา และการจัดเตรียมการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับสถานศึกษา
นายกมล กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเติมเต็มโครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โรงเรียนวังไกลกังวลนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาอุปกรณ์ให้กับโรงเรียนที่ไม่มีจานดาวเทียมและอุปกรณ์รับสัญญาณ จำนวน 1,214 โรง พร้อมซื้อทดแทนให้กับโรงเรียนที่อุปกรณ์ชำรุด จำนวน 14,309 โรง และเมื่อเปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2557 โรงเรียนขนาดเล็ก ประมาณ 16,000 โรง จะพร้อมสำหรับการรับสัญญาณถ่ายทอดจากโรงเรียนวังไกลกังวล โดยจะนำมาใช้กับการเรียนการสอนในทุกวิชา ขณะเดียวกัน ในปลายภาคเรียน สพฐ. จะประเมินผลสัมฤทธิ์ระดับชาติ เช่น การวัดผลทางการศึกษา NT ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ว่าหลังจากเรียนด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นหรือไม่ และในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ สพฐ. จะจัดมหกรรมเฉลิมฉลองความสำเร็จที่โครงการดังกล่าวได้รับการเติมเต็มครบ 100% หลังจากที่เริ่มดำเนินโครงการนี้มาร่วม 20 ปี นับจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสในเรื่องการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่