สาวไทยรับจ้างอุ้มบุญโจษจันกันในระดับสากล เทคโนโลยีฝากถ่ายตัวอ่อนเริ่มเป็นจริงเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่คงเป็นแค่ชั้นอนุบาล หากเทียบกับกลยุทธ์ฝากไข่ให้แม่เลี้ยงฟัก ความจริงโลกอยู่ยากนี้ยิ่งกว่าละคร ถ้าไม่ยอมอุ้มบุญให้ก็อาจจะต้องสูญพันธุ์กันไปข้างหนึ่ง
ในโลกของสัตว์ พฤติกรรม “ฝากเลี้ยง” หรือ “brood parasite” เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์มานาน แต่หลักฐานและการศึกษาเชิงลึก จนถึงขั้นสร้างทฤษฏีการกำเนิดพฤติกรรมนี้ยังคงเป็นเงื่อนงำ นกวงศ์นกคัคคู อย่างนกกาเหว่า มักเป็นตัวเอก เพราะสมาชิกเกือบทั้งวงศ์ล้วนแต่ไข่ในรังนกอื่น ยกเว้นนกโกโรโกโส และนกบั้งรอก นอกจากนั้น นกอีกหลายสายพันธุ์ก็นิยมฝากไข่ให้นกอื่นเลี้ยง เช่น สมาชิกในวงศ์นกพรานผึ้ง วงศ์นกเอี้ยง วงศ์นกฟินซ์ และเป็ดอีก 2-3 ชนิด ส่วนแมลงก็พบพฤติกรรมลักลอบฝากไข่ จนถูกเรียกว่า ผึ้งคัคคู (cuckoo bee) และตัวต่อคัคคู (cuckoo wrap)
โลกของสัตว์โหดร้ายและน้ำเน่ายิ่งกว่าละครหลังข่าว พวกนางร้ายมีกลยุทธแยบยลหลายเล่มเกวียน ที่ทำให้บรรดานางเอกต้องตายใจ เทคนิคพื้นฐานที่สุด คือ ต้องตาไววางไข่เร็ว เมื่อเจ้าของรังไม่อยู่ต้องรีบวางไข่ให้เสร็จ นกปรสิตบางชนิดวางไข่เสร็จภายใน 10 วินาที เทคนิคขั้นถัดมาคือต้องเลียนแบบไข่ให้ แนบเนียน นกนักฉวยโอกาสมักเลือกรังของนกที่มีลวดลายและขนาดของไข่ใกล้เคียงกับของตัวเพื่อตบตาแม่เลี้ยง ส่วนเทคนิคชั้นสูงก็ยังมีอีก เช่น นกคัคคูบางสายพันธุ์เลียนแบบพฤติกรรมให้คล้ายเหยี่ยว แถมยังมีลายบนตัวเหมือนนักล่าจนแม่นกพงตกใจต้องบินหนีออกจากรัง จากนั้นนกคัคคูก็จะเข้าไปถีบไข่ออกและวางไข่ตัวเองแทนหน้าตาเฉย
ลูกนกก็ร้ายได้ไม่แพ้แม่ เพราะลูกนกปรสิตทุกชนิดจะฟักเป็นตัวเร็วกว่าลูกนกเจ้าของรังราว 24 ชั่วโมง พอออกมาก็มักจะถีบไข่เจ้าบ้านให้ร่วงแตก บ้างก็โตไว กินไว แย่งอาหารจนใหญ่เกือบเขมือบหัวแม่เลี้ยงได้ ที่ร้ายสุดๆ คือนกพรานผึ้งในแอฟริกา ที่ทำตัวเป็นเพชฌฆาตฟันน้ำนม เพราะปลายจงอยปากของลูกเจี๊ยบมีเดือยแหลมใช้ฆ่าพี่น้องร่วมรัง แต่ไม่ร่วมสายเลือดตั้งแต่ตายังไม่แตก
พฤติกรรมโลกไม่สวยแบบนี้กระตุ้นให้นักชีววิทยาพยายามหาคำตอบกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า สมมุติฐานหลายแบบถูกตั้งไว้เนิ่นนาน แต่กุญแจลึกลับพึ่งเริ่มถูกไขทีละดอก เมื่อใช้หลักฐานจากพันธุศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีชีวภาพเข้าช่วย เพื่อตอบคำถามและย้อนถึงต้นกำเนิดพฤติกรรมน่าฉงน
“พฤติกรรมการฝากไข่ ไม่ได้เกิดขึ้นจากบรรพบุรุษเพียงชนิดเดียว แต่เกิดจากต้นกำเนิดที่แยกจากกันโดยอิสระ และอาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วโลก” เป็นข้อสรุปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จากงานวิจัยของ Michael Sorenson และ Robert Payne นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน และมิชชิแกน หลังจากย้อนรอยวิวัฒนาการของนกปรสิตทั่วโลก ด้วยการตรวจสอบจากสารพันธุกรรมที่บรรจุอยู่ในไมโตรคอนเดรีย (เทคนิคเดียวกับที่เราใช้ตรวจสอบว่าต้นกำเนิดของมนุษย์สปีซีส์ โฮโม ซาเปียนคนแรก น่าจะกระจายออกจากจากแอฟริกา) ซึ่งพบว่าต้นกำเนิดของนกแต่ละวงศ์ที่มีพฤติกรรมฝากเลี้ยงนั้นมีต้นกำเนิดที่อิสระจากกัน และน่าจะเริ่มพัฒนาขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกแยกจากกัน จากหลักฐานทางพันธุศาสตร์นี้ช่วยให้นักชีววิทยารุ่นหลังคลำทางหาคำตอบได้ตรงทางมากขึ้น
“พฤติกรรมการฝากไข่น่าจะเกิดขึ้นหลายจุดบนโลกพร้อมๆ กัน โดยมีพฤติกรรมการช่วยเลี้ยงลูกในฝูงนกกระตุ้นให้เกิดขึ้น” เป็นข้อสรุปจากงานวิจัยของ William Feeney แห่ง Australian National University การศึกษาเริ่มต้นที่ออสเตรเลีย เมื่อพบว่า นก Fairy-Wren ซึ่งมีสังคมใหญ่ หากินเป็นฝูงและช่วยกันเลี้ยงลูกหลาน มักช่วยกันไล่ตีนกคัคคูไม่ให้เข้ามาฝากวางไข่ แต่จากการติดตามนานถึง 6 ปี กลับพบว่ายิ่งนก Fairy-Wren มีขนาดฝูงใหญ่เท่าไร ก็ยิ่งดึงดูดให้นกคัคคูมาวางไข่ และมีลูกหลานเติบโตจากแม่เลี้ยงมากขึ้นตามไปด้วย เข้าทำนองยิ่งไล่เหมือนยิ่งยุ จึงตั้งสมมติฐานว่า ยิ่งนกที่มีพฤติกรรมช่วยเหลือกันมากเท่าไหร่ ก็น่าจะยิ่งเป็นที่สนใจของนางอิจฉาอย่างนกคัคคูมากขึ้น เพราะถ้าแอบวางไข่ได้สำเร็จก็น่าจะมีพี่ป้าน้าอาปลอมๆ ทั้งตระกูลมาช่วยดูแลลูกนกได้ดีกว่า
เมื่อลองเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างความหลากหลายของชนิดพันธุ์ของนกที่มีสังคมเกื้อกูลกัน กับนกนักฉวยโอกาสก็พบว่า พฤติกรรมทั้งสองอย่างน่าจะมีความสัมพันธ์กัน เพราะมีรูปแบบการกระจายตัวทั่วทั้งโลกในแบบเดียวกัน ตัวอย่างในออสเตรเลียพบว่า นกที่ตกเป็นเหยื่อของการฝากเลี้ยงของนกคัคคูชนิดหนึ่ง มีชนิดพันธุ์ที่สังคมดีช่วยกันเลี้ยงลูกนกถึง 53% ส่วนนกที่เลี้ยงลูกเองถูกฝากวางไข่เพียง 12 % เท่านั้น คำถามที่เกิดขึ้นคือ จริงๆ แล้วนก Wren สร้างระบบบสังคมที่ดีเพราะถูกกระตุ้นจากผู้ร้ายอย่างนกคัคคู หรือเพราะมีสังคมดีอยู่แล้วจึงเป็นที่หมายปองของผู้ร้าย หรือพฤติกรรมทั้งสองด้านอาจจะเป็นปัจจัยเสริมกันก็เป็นไปได้?
“การทดสอบสมมุติฐานมาเฟีย (Mafia Hypothesis) ด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ พบว่าการชิงไหวชิงพริบของนกนางอิจฉาและแม่นกนางเอก อาจเป็นกระบวนการที่วิวัฒนาการร่วมกัน” นกจอมฝากไข่และแม่เลี้ยง ทำสงครามชิงไหวชิงพริบกันตลอดมา นักชีววิทยาเรียกแนวคิดนี้ว่า “สมมุติฐานมาเฟีย” (Mafia Hypothesis) โดยเริ่มอภิปรายกันตั้งแต่ปี 1970 แต่ไม่มีการยืนยันว่า เป็นพฤติกรรมที่ถือเป็นคำตอบของจุดเริ่มต้นการฝากไข่หรือไม่ และยังเป็นข้อถกเถียงของนักชีววิทยามาจนปัจจุบัน
สมมุติฐานมาเฟีย เกิดขึ้นเมื่อสังเกตว่านกคัคคูมักถีบไข่ของเจ้าของรังออกไปลูกหนึ่ง ก่อนที่จะวางไข่ของตัวเองลงไปแทน แต่หากมันกลับมาพบว่าแม่นกนางเอกจับได้แล้วผลักไข่มันทิ้ง มันก็จะแสดงบทนางร้ายรื้อทำลายรังให้เฮี้ยนเตียน ชนิดที่ว่า “ถ้าชั้นไม่ได้ เธอก็อย่าหวังว่าจะอยู่ดี” (สงสัยว่านางคัคคูจะติดละครไทย) พฤติกรรมนี้มีผู้สังเกตมานานแต่ไม่มีข้อสรุปว่ามันคือกลไกทางวิวัฒนาการจริงหรือไม่?
จนเมื่อปี 2556 ได้มีอัศวินขี่นกเอี้ยง คือ Maria Abou Chakra และคณะ จาก Max Planck Institute for Evolutionary Biology ได้ ศึกษาพฤติกรรมมาเฟียในนกเอี้ยงหัวเทา (brown-headed cowbird) ในอเมริกาเหนือ จนพบว่าพ่อแม่นกหลายชนิดยอมจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ยอมก้มหน้าก้มตาเลี้ยงดูลูกนกเอี้ยงจนโต เพื่อให้รังของตนเองปลอดภัย แม้ไข่ของนกเอี้ยงจะมีขนาดรูปร่างและสีสันแตกต่างอย่างชัดเจนก็ตาม เพราะถ้ามันไม่ทำแบบนั้นนกเอี้ยมาเฟียจะทำลายรังของมันทันทีที่ตรวจพบว่าไข่ของมันถูกทำลาย
เมื่อใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อทำนายว่าถ้านกเจ้าบ้านคิดทำลายไข่หรือไม่ทำลายไข่จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อีกทางหนึ่งหากนกเอี้ยงฝากวางไข่แค่ใบเดียว เทียบกับการวางไข่หลายใบจะเกิดอะไรขึ้น ผลปรากฏว่า พฤติกรรมมาเฟียและแม่เลี้ยงใจดี เกิดไม่คงที่ และขึ้นๆลงๆ คล้ายกับกราฟการเปลี่ยนแปลงประชากรของเหยื่อและผู้ล่า หากมีนกเอี้ยงที่ไข่แล้วไม่ทำลายรัง นกเจ้าบ้านส่วนมากก็จะยอมให้วางไข่ถี่ขึ้นหรือยอมเลี้ยงลูกให้ แต่ถ้าเจอนางร้ายนกเอี้ยงจำนวนมากรุมไข่แล้วรื้อรังทิ้งจนทนไม่ไหว นกแม่เลี้ยงก็จะแก้เผ็ดไม่ยอมสร้างรังวางไข่อีกรอบ ถ้าอยากมีลูกก็ไปหาที่อื่น ทั้งลูกชั้นลูกเธอไม่ต้องได้เกิดกันทั้งคู่ ไว้ถ้าเธอลดความอันธพาลงค่อยว่ากันใหม่
เรื่องน่าสนใจของนางอิจฉาจอมเหวี่ยงกับแม่เลี้ยงใจดี ยังมีเงื่อนงำอีกมากที่ยังน่าศึกษา เช่น เมื่อตรวจสอบลวดลายบนไข่ นกกระจิบหญ้าแอฟริกันสร้างลวดลายที่สะท้อนคลื่นแสงช่วงที่ตนเองเห็นแต่นกปรสิตไม่เห็น การศึกษาในจีนพบว่านกนางแอ่นจำนวนหนึ่ง พยายามหาที่ทำรังใกล้กับคนมากขึ้นเพื่อลดโอกาสที่จะถูกนกคัคคูลักลอบวางไข่ เพราะในธรรมชาตินกคัคคูชอบพื้นที่เปิดโล่ง และไม่ชอบพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น นายปรี๊ดและเพื่อนนักวิจัยก็ยังตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ภายในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ใน จ.นครปฐม กลับได้ยินเสียงนกกาเหว่าถี่ขึ้น พื้นที่เปิดโล่งน่าจะมีผลต่อการขยายพันธุ์ของนกจอมฉวยโอกาสหรือไม่?
ในประเทศไทย มีรายงานจากนักดูนกเกี่ยวกับพฤติกรรมน่าตื่นเต้น เช่น นกคัคคูแต่ละสายพันธุ์เลือกฝากไข่ไว้กับแม่นกต่างชนิด นกกินปลีและนกกินปลีกล้วยมักตกเป็นเหยื่อของนกคัคคูมรกต แต่การศึกษาเชิงลึกด้านชีววิทยา วิวัฒนาการ แม้แต่การเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองที่สัตว์อย่างนกปรสิตต้องปรับตัวตาม ยังเป็นช่องว่างทางวิชาการขนาดใหญ่ที่ยังรอให้นักชีววิทยาวิทยารุ่นใหม่ค้นหา
อ้างอิง
1. Maria Abou Chakra, Christian Hilbe, Arne Traulsen.2014. Plastic behaviors in hosts promote the emergence of retaliatory parasites. Scientific Reports:4.
2. Michael D. Sorenson and Robert B. Payne.2002. Molecular Genetic Perspectives on Avian Brood Parasitism. Integrative and Comparative Biology:42(2). pp. 388-400.
3. Willaim E. Feeney et al., 2013. Brood Parasitism and the Evolution of Cooperative Breeding in Birds. Science:342 (6165). pp. 1506-1508.
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์
*******************************
*******************************