xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดการเลือกตั้งได้ ตามรัฐธรรมนูญและหลักประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

บทความทางวิชาการ
ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

26 เม.ย 57

ข้อ 1. ในสถานการณ์ขณะนี้ กกต.หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมีความเข้าใจผิดคิดว่าตนเองมีอำนาจที่จะจัดการเลือกตั้งได้ ซึ่งที่แท้จริงแล้ว กกต.ไม่มีอำนาจที่จะจัดการเลือกตั้งได้ตามปรัชญา “ ประชาธิปไตย ” หรือ Democracy มีที่มาจากภาษากรีก demokratia ซึ่งหมายถึงการปกครองที่ประชาชนมีอำนาจการปกครองหากไม่โดยตรงก็โดยตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้ง เป็นการปกครองโดยเสียงข้างมาก โดยมีหลักของการสมภาพในสิทธิ โอกาสและการรักษาพยาบาล หรือสามัญชนเป็นผู้ใช้อำนาจในทางการเมือง ซึ่งต่างกับราชาธิปไตย ( monarchy ) อภิชนาธิปไตย ( aristocracy ) หรือ คณาธิปไตย ( Oligarchy )

ในภาวะที่ไม่ปกติโดยมีการเคลื่อนไหวของมวลชน ( Mass movement ) การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยที่จะร่วมกับพรรคการเมือง หรือหน่วยงานของรัฐอื่นใดที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นได้ เพราะการเลือกตั้งเป็นเรื่องของสามัญชนเป็นผู้ใช้อำนาจในทางการเมือง ที่จะแสวงหาผู้ปกครองของเขาเอง ไม่ใช่การยัดเยียดให้มีผู้ปกครองโดยการจัดการเลือกตั้งตามอำเภอใจ โดยร่วมกับพรรคการเมืองและหน่วยงานอื่นใดของรัฐได้แต่อย่างใด อำนาจหน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยหลักปรัชญาแล้วเป็นอำนาจหน้าที่ของประชาชน เพราะประชาชนเป็นปัจจัยหรือเป็นเหตุแห่งการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ใช่เป็นวัตถุหรือเป็นเครื่องมือของการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น และคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ เป็นผู้ใช้อำนาจในการจัดการเลือกตั้งแทนประชาชน ไม่ใช่เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ในการเลือกตั้งได้ด้วยอำนาจของตนเอง การใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงถูกจำกัดขอบเขตทั้งในด้านกระบวนการและเนื้อหา โดยจะจัดการเลือกตั้งโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ และโดยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีช่องทางใดที่คณะกรรมการเลือกตั้งจะจัดการเลือกตั้งขึ้นได้เลย จึงเป็นทางตันโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ( dead lock ) ที่จะจัดการเลือกตั้งได้

ข้อ 2.
เมื่อทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นประชาชน พรรคการเมือง ข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือ ตุลาการได้ยอมรับในกติกาของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย โดยการเลือกตั้งผู้แทนเข้ามาเป็นผู้ปกครองตนเองแล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นผู้ปกครองนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้ปกครองและใช้อำนาจในการปกครองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กลับมีเจตนาที่จะใช้อำนาจในทางปกครองและอำนาจในทางการเมืองในฐานะเป็นตัวแทน เพื่อประโยชน์แก่พวกพ้องหรือบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด ด้วยการออกกฎหมายล้างผิดให้แก่ผู้กระทำความผิดโดยไม่ต้องรับโทษหรือยกเลิกความผิด ซึ่งขัดต่อหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรม หรือมีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศชาติโดยตรง โดยมีการวางแผนกระทำการในรูปนโยบายเพื่อใช้เป็นการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยนโยบายนั้นเป็นนโยบายที่ขัดต่อนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติเป็นแม่แบบไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือเป็นนโยบายที่เล็งเห็นผลได้ว่าเป็นนโยบายบ่อนทำลายโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็นนโยบายที่ขัดต่อหลักทฤษฎีความยุติธรรม โดยจะเกิดความยุติธรรมตามสัญนิยม ( Conventional justice ) อันเป็นความยุติธรรมที่พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่เป็นความยุติธรรมที่มนุษย์ในสังคมเป็นผู้กำหนด นโยบายประชานิยมที่ใช้หาเสียงที่มิได้ตั้งอยู่บนหลักการ ผลประโยชน์ที่แท้จริงมีความสมภาพในสิทธิของประชาชนแล้ว นโยบายประชานิยมดังกล่าวย่อมขัดต่อทฤษฎีความยุติธรรมเชิงอรรถประโยชน์ ( utilitarian justice ) ได้ และไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย การกระทำดังกล่าวของพรรคการเมืองย่อมเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญาตั้งแต่เริ่มหาเสียง (ซื้อเสียง) และอาจเข้าข่ายเป็นการวางแผนเพื่อก่ออาชญากรรมสำหรับการทุจริตคอร์ปชั่นทรัพย์สินและทรัพยากรของชาติและของประชาชนในชาติได้ ซึ่งก็คือการทุจริตเงินภาษีอากรและเงินในกระเป๋าของคนในชาติ ทุจริตทรัพยากรแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติของคนในชาติ ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นแล้วในกรณีนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาเกวียนละ 15,000 บาท โดยไม่กำหนดชนิดและประเภทว่าเป็นเมล็ดข้าวเปลือก หรือเมล็ดข้าวสาร ซึ่งเป็นนโยบายที่กำหนดขึ้นโดยขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะไม่เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการจำนำ และเป็นที่เห็นได้ในเบื้องต้นว่าเป็นการวางแผนกระทำความผิดอาญาไว้ตั้งแต่ต้นเพื่อการทุจริตคอร์ปชั่นกับผลิตผลทางการเกษตร เพราะเป็นการหลอกซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อประโยชน์ของการหาเสียงเลือกตั้ง โดยใช้เงินภาษีของประชาชนในการซื้อเสียงเพื่อการเลือกตั้ง โดยมุ่งหวังไปที่ความยากไร้ ความขาดแคลนของบุคคลเฉพาะกลุ่มที่เป็นชาวนา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยไม่คำนึงถึงความยากไร้และขาดแคลนของกลุ่มบุคคลเกษตรกรกลุ่มอื่น อันเป็นนโยบายการปกครองประเทศของพรรคการเมืองที่ขัดต่อหลักความยุติธรรมเชิงกระจาย ( distributive justice ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นได้ตั้งแต่การหาเสียงได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อซื้อเสียงในการเลือกตั้ง และมีนโยบายผูกขาดการค้าข้าวไว้เป็นของรัฐบาลและเฉพาะพรรคการเมืองกับกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นพรรคพวกของรัฐบาล ซึ่งได้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนในชาติอย่างร้ายแรง

การเลือกตั้งที่ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกำหนดการปกครองในรูปแบบพึ่งพิงนโยบายของพรรคการเมืองที่ไม่สอดคล้องหรือขัดกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น จึงเข้าข่ายเป็นการซื้อเสียงและอาจเป็นการวางแผนเพื่อการกระทำความผิดอาญาในการทุจริตคอร์ปชั่นได้ นโยบายของพรรคการเมืองที่เป็นการวางแผนเพื่อการกระทำความผิดอาญา จึงไม่ใช่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็ปรากฏผลในขณะนี้ว่าได้มีการสอบสวนเป็นความผิดอาญาในการกระทำดังกล่าวแล้ว การกระทำความผิดอาญาของรัฐบาลในการใช้อำนาจปกครองประเทศในช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา จึงมีพื้นฐานของการปกครองประเทศที่ไม่ตรงกับหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองโดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นภาวะพื้นฐาน( thesis ) โดยมีภาวะพื้นฐานของการปกครองเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องของตนเป็นหลัก กระทำตนเหนือกฎหมาย กลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชา ละเมิดต่อบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพของประชาชน จึงเกิดเป็นภาวะแย้งขึ้นในสังคม ( antithesis ) และได้กลายเป็นภาวะแย้งของมวลมหาประชาชนโดยมีความเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนเกิดขึ้นจนทุกวันนี้ ( Mass movement ) ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องทราบดีว่า เมื่อเกิดภาวะแย้งของมวลชนต่อการปกครองที่ผู้ปกครองมาจากการเลือกที่ใช้อยู่เป็นปัจจุบันแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องนำภาวะแย้งนั้นไปสังเคราะห์หรือนำไปสู่ภาวการณ์สังเคราะห์เสียก่อน ( synthesis ) ว่าการเลือกตั้งที่จะดำเนินการต่อไปอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นการเลือกตั้งที่จะเกิดผลให้มีการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้วการเลือกตั้งที่จะดำเนินการต่อไปก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 235 , 236 (1) เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นบรรทัดฐานในความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องมีตามรัฐธรรมนูญ ( norm of legal responsibility ) คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการจัดการเลือกตั้งนั้นไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะจะขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 235 , 236 (1) ซึ่งจะนำไปสู่เป็นการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เข้าข่ายเป็นการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้

การเลือกตั้งจึงไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ทั้งในช่องทางของกฎหมายรัฐธรรมนูญและในช่องทางของหลักวิชาการ
ไม่ว่าจะเป็นหลักวิชาการในทางตรรกะ ( logic ) หรือทางมโนทัศน์ ( Conceptual ) เพราะได้เกิดเป็นภาวะแย้ง ( antithesis ) ระหว่างมวลมหาประชาชนซึ่งเป็นผู้ถูกปกครองกับรัฐบาลรวมทั้งมวลชนและกองกำลังจัดตั้งของมวลชนของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ปกครองขึ้นแล้ว โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตระหนักเพราะได้ปรากฏผลที่สุดของภาวะแย้งที่ได้เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องของการกระทำความผิดอาญา ( Criminal acts ) หรือพฤติกรรมการทุจริตคอร์ปชั่น ( Corruption behavior ) ของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ปกครองแล้ว

การทำหน้าที่ของรัฐบาลได้ก่อให้เกิดภาวะแย้งต่อมวลชนนั้นเป็นการกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของวุฒิสภาที่จะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยตรงทั้งหมด และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการทำสัญญากับต่างประเทศ ตามมาตรา 190 ซึ่งได้มีการฟ้องสมาชิกรัฐสภารวมทั้งประธานรัฐสภาต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของสมาชิกรัฐสภาจำนวนกว่าครึ่งหนึ่ง ได้กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายในทำนองว่าเป็นเผด็จการทางรัฐสภา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในศาลรัฐธรรมนูญ และต่อสาธารณชนย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง การกระทำดังกล่าวของสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อนโยบายและข้อบังคับของพรรคการเมืองที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 9 , 10

เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรของรัฐ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 แล้วนั้น แต่ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการใดๆกับการกระทำของสมาชิกพรรคการเมืองที่ได้กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งได้กระทำการอันขัดต่อนโยบายและข้อบังคับของพรรคการเมืองที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่กลับปรากฏว่าผู้ที่กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวกลับมาเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในพรรคการเมืองเดิม โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งบุคคลที่ได้กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำผิดหน้าที่ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลับมามีอำนาจปกครองประเทศอีกโดยกระบวนการเลือกตั้งนั้น ย่อมเป็นความวิปริตของระบบในกระบวนการจัดการเลือกตั้งซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพราะเป็นการจัดการเลือกตั้งโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 235 , 236 (1) ขัดต่อหลักความยุติธรรมของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและเข้าข่ายเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งจะต้องพบกับการใช้สิทธิขัดขวางการเลือกตั้ง อันเป็นการใช้สิทธิตามภาวะแย้ง ( antithesis ) ที่ประชาชนจะพึงกระทำต่อการเลือกตั้งได้ตามหลักประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจในทางการเมือง และมีอำนาจการปกครอง

ข้อ 3.
ภาวะแย้งของมวลมหาประชาชนที่มีต่อการกระทำความผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญกระทำผิดอาญา และกระทำการทุจริตคอร์ปชั่นของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ปกครอง ( ซึ่งรวมทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ) ที่ได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไม่ได้ตระหนักถึงภาวะแย้ง ( antithesis ) ที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล โดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำความผิดดังกล่าวของรัฐบาลแต่ประการใด แต่ได้มีการกระทำเพื่อกลบเกลื่อนยกเลิกการกระทำความผิดและการทุจริตคอร์ปชั่น โดยการแสดงออกด้วยการไม่ยอมรับการตรวจสอบ ( impeachmemt ) ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญเสียเอง และต่อมาได้มีการแถลงการณ์ของรัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ( ศอ.รส.) (ฉบับที่ 1 ) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ต่อสาธารณชน

หากคณะกรรมการการเลือกตั้งและหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อความมั่นคงของรัฐได้พิจารณาให้ถ่องแท้ด้วยความรู้เชี่ยวชาญในหลักวิชาการแล้ว ก็จะพบว่า แถลงการณ์ของรัฐบาลโดยศอ.รส.ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการประกาศยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแล้ว โดยอ้างเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์นั้น จะพ้นจากตำแหน่งไม่ได้ แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่เป็นคุณกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อันจะทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปนั้น ก็เป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญ และเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีก็จะทูลเกล้าฯให้มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคณะรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง การพ้นไปก็ควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พ้นไป มิใช่ศาลรัฐธรรมจะเป็นผู้ชี้ขาดเสียเอง และในระหว่างทูลเกล้าฯขอพระบรมราชวินิจฉัยนั้น ให้กราบบังคมทูลด้วยว่า คณะรัฐมนตรีจะคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 รวมทั้งกรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช.จะวินิจฉัยเรื่องการรับจำนำข้าวของนายกรัฐมนตรี อันจะทำให้นายกรัฐมนตรีหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 272 ด้วย การทูลเกล้าฯขอพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนั้น ก็เพื่อให้เกิดข้อยุติอันนำมาซึ่งความสงบสุขของบ้านเมือง โดยมิต้องเกิดการใช้กำลังของกลุ่มคน 2 กลุ่มเข้าก่อเหตุร้ายต่อกัน และป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีกระทำผิดตามมาตรา 181 การแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นการคาดคิดเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เป็นการประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและอำนาจการตรวจสอบของคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

แถลงการณ์ของ ศอ.รส.ไม่ใช่เรื่องการไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือของคณะกรรมการป.ป.ช. เพราะศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใดเลย แถลงการณ์ของศอ.รส.อ้างถึงความกังวลใจในตัวคณะกรรมการป.ป.ช.และความกังวลใจในตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่มีการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งสององค์กรแต่อย่างใดเลยนั้น แถลงการณ์ของศอ.รส.จึงเป็นการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ โดยจะไม่ให้รัฐธรรมนูญมาตรา 180, 182, 266, 268, 272 มาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แม้คณะรัฐมนตรีจะกระทำความผิดอาญา กระทำการทุจริตคอร์ปชั่นก็ตาม และให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อป้องกันนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งต่อไป และแม้พระมหากษัตริย์จะยังไม่ได้ทำการตรวจสอบในขณะที่รอพระบรมราชวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีก็จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะรัฐมนตรี โดยจะให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกป้องการกระทำความผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบหมุนกลับ ให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีกับศอ.รส.เสมือนหนึ่งเป็นรัฐาธิปัตย์เสียเอง การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างร้ายแรง และเป็นการปฏิวัติโดยอ้างถึงการจะก่อเหตุร้ายจากการปะทะกันของกลุ่ม นปช. และกลุ่มมวลมหาประชาชน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ากลุ่ม นปช.นั้น เป็นกลุ่มของรัฐบาลโดยมีคนในรัฐบาลเป็นแกนนำ จึงเป็นการที่ศอ.รส.ได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้การใช้อำนาจตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญและอำนาจขององค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญเป็นไปตามความต้องการของศอ.รส.และรัฐบาล การประกาศยึดอำนาจรัฐของรัฐบาลโดยศอ.รส.จึงเข้าข่ายของการเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร อันเป็นการกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

การที่รัฐบาลประกาศยึดอำนาจหรือที่เรียกว่า ปฏิวัติเงียบ นั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลยืนอยู่บนยอดหญ้า เพราะไม่มีกองทัพเป็นกำลังสนับสนุนเพียงพอที่จะยึดอำนาจโดยใช้กำลังได้ และจะใช้กองกำลังจัดตั้งของมวลชนของรัฐบาลก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการก่อการร้าย นอกจากจะใช้ความรุนแรงในทางลับซึ่งก็ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นเนื่องๆ ทั้งยังมีความเคลื่อนไหวของพลังมวลชนที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการประกาศยึดอำนาจรัฐ จึงมีข่าวออกมาข่มขู่ที่จะใช้หน่วยรบพิเศษจับกุมแกนนำมวลชน โดยอ้างถึงมาตรการใช้กฎหมายมาดำเนินการ แถลงการณ์ของศอ.รส.ในข้อ 4 จึงได้เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อจะได้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จึงเป็นพฤติกรรมการยึดอำนาจรัฐที่ต้องพึ่งพิงการเลือกตั้ง ( behavior dependence ) ซึ่งจะต้องกระทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง การเลือกตั้งหรือการจัดการให้มีการเลือกตั้งในภาวะแย้งของมวลชนที่มีต่อรัฐบาล ทั้งๆที่รัฐบาลเป็นผู้ที่ได้กระทำความผิดอาญา ทุจริตคอร์ปชั่น และได้แถลงการณ์ยึดอำนาจรัฐไว้แล้วนั้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ทำการสังเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเสียก่อนจะกำหนดการเลือกตั้งนั้น การจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะเป็น “ เผด็จการการเลือกตั้ง ” ซึ่งเป็นการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และเป็นการเลือกตั้งเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือ ลบล้างการกระทำความผิดอาญา การทุจริตคอร์ปชั่นและลบล้างการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรของรัฐบาลนั่นเอง

คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงไม่มีอำนาจหน้าที่และมีสิทธิที่จะจัดการเลือกตั้งได้ โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยหลักเกณฑ์ทางวิชาการ หลักทฤษฎีความยุติธรรม หลักนิติธรรม หลักความมั่นคงของรัฐ และหลักบรรทัดฐานความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องมีต่อสังคมและประเทศชาติ การจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคแรก เพราะไม่มีช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่จะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจหน้าที่ที่จะจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235, 236 ได้ การดำเนินการอื่นใดเพื่อจัดการเลือกตั้งย่อมเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น