xs
xsm
sm
md
lg

“พลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น” เทคโนโลยีเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวสต์ทูทริซิตี้ เผย “เทคโนโลยีพลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น” พัฒนามาจากแนวคิดธุรกิจสีเขียวเพื่อแสวงหาพลังงานทางเลือก ซึ่งสามารถแก้วิกฤตพลังงาน และปัญหาขยะปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นทุกวัน และยังไม่สามารถจัดการได้ เดินหน้าแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแห่งแรกกลางปีหน้า
ปัจจุบัน ขยะที่ไม่ย่อยสลาย เช่น พลาสติก โฟม และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มักจะถูกนำไปทิ้งในบ่อฝังกลบโดยไม่เกิดประโยชน์ ก่อให้เกิดมลพิษ ส่งผลต่อสุขอนามัย กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคร้าย โดยที่เป็นมลพิษได้ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ รวมถึงก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากก๊าซมีเทน รวมไปถึงพื้นที่บ่อฝังกลบที่ขาดแคลน อันเกิดจากการขยายตัวของชุมชนและความต้องการพื้นที่เพื่อการดำเนินชีวิตมีสูงขึ้น และความเสี่ยงที่จะเกิดการลุกไหม้ของบ่อขยะ โดยขยะเหล่านี้สามารถให้พลังงานความร้อนสูงมาก จึงมีค่าและไม่ควรปล่อยให้สูญเปล่า
“บริษัทฯ จึงมีแนวคิดที่จะนำขยะเชื้อเพลิงเหล่านี้มาคัดแยก และปรับปรุงคุณภาพให้สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าโดยไม่ก่อมลพิษด้วย “เทคโนโลยีพลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น” โดยมีแผนนำเข้าเทคโนโลยีพลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแห่งแรกของบริษัทฯ ขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้า 65,000 ครัวเรือน โดยเป็นการใช้ขยะจากบ่อฝังกลบขยะเก่ามาคัดแยกและปรับปรุงคุณภาพ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า คาดว่าราวกลางปีหน้าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง” เพียงขวัญ ธรรมัครกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เวสต์ทูทริซิตี้ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว และว่า
เทคโนโลยีนี้ พิสูจน์แล้วว่าเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยทั้งในด้านการปล่อยมลพิษที่มีผลต่อสุขภาวะ โดยมลพิษที่ปล่อยออกมาจะมีค่าต่ำกว่ามาตรฐานข้อกำหนดมลพิษมาก ทั้งนี้ ระบบครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือเครื่องยนต์กังหันก๊าซมีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซที่บริสุทธิ์ ปราศจากการปนเปื้อน ดังนั้น ก๊าซที่เกิดขึ้นจะต้องผ่านการทำความสะอาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งนี้จึงเป็นหลักประกันว่า เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
“จากกรณีการเกิดเพลิงไหม้ของบ่อขยะแพรกษา ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับทุกภาคส่วน ในการเร่งผลักดัน นโยบายการจัดการขยะที่คำนึงถึงสุขภาพชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เราทุกคนคงไม่อยากให้เกิดการสูญเสียเช่นนี้อีก เรื่องที่สำคัญที่สุด คือสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในรัศมีของควันไฟ และเถ้าฝุ่นละออง ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 30 - 40 กิโลเมตรโดยรอบพื้นที่ เถ้าละอองและสารพิษนี้ไปไกล นับเป็นร้อยกิโลเมตรขึ้นอยู่กับทิศทางความแรงของลม รวมไปถึงเมื่อฝนตกยังถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำกิน น้ำใช้ของเราได้อีกด้วย” เพียงขวัญ กล่าวในที่สุด
กระบวนการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานระบบพลาสมา ก๊าซซิฟิเคชั่น
กระบวนการพลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น
เป็นการใช้ความร้อนจากหัวพลาสมาที่มีความร้อนสูงถึง 7,000 - 15,000 องศาเซนติเกรด มาเป็นคบเพลิงหลอมขยะที่เป็นเชื้อเพลิงในเตาปิดควบคุมอากาศ (Gasification) ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีความแตกต่างกับเทคโนโลยีเตาเผาขยะที่ใช้กันอยู่ในประเทศอย่างสิ้นเชิง โดยเตาเผาขยะจะมีอุณหภูมิต่ำกว่ามาก และการเผาขยะเพื่อนำความร้อนมาต้มน้ำผลิตไฟฟ้าจะปลดปล่อยควันพิษและเถ้าลอยสู่สิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นระบบเปิด นอกจากนี้ จะต้องเตรียมบ่อฝังกลบที่ได้มาตรฐานสามารถป้องกันสารพิษจากการฝังกลบเถ้าหนักที่เหลือจากการเผาไหลซึมลงสู่ชั้นดิน และแหล่งน้ำ
เทคโนโลยีพลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่นนั้นเป็นระบบปิด โดยใช้ความร้อนจากพลาสมาหลอมขยะให้มวลสารทุกอย่างแตกตัวออกเป็นก๊าซ กลับสู่สถานะองค์ประกอบพื้นฐานของมันและอยู่ในรูปก๊าซที่มีความร้อนสูงถึง 1,200 องศาเซนติเกรด จากนั้นจะถูกนำมาผ่านกระบวนทำความสะอาดให้เหลือเพียง คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนน็อคไซด์ และไฮโดรเจน หรือเรียกว่าเป็น ก๊าซสังเคราะห์ (Synthesis Gas) หรือซินก๊าซ ที่จะนำไปใช้สำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engines) หรือเครื่องยนต์กังหันก๊าซ (gas turbines) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และในอนาคตจะนำเทคโนโลยีฟิวเซลล์มาใช้ โดยจะแยกก๊าซไฮโดรเจนมาใช้กับฟิวเซลล์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าในปริมาณขยะที่เท่ากัน
ทั้งนี้ การแยกก๊าซด้วยพลาสมา มีข้อดีเหนือกว่าการเผา หรือเทคโนโลยีเผาขยะทั่วไปหลายประการ อาทิ สร้างมลภาวะน้อยกว่า ไม่ก่อสารพิษไดออกซินและฟิวเรน ไม่มีน้ำมันดิน ขี้เถ้า หรือเถ้าลอย และมีผลผลิต พลอยได้ คือ ตะกรันแร่ที่มีความเสถียร จึงไม่เป็นอันตรายหรือมีความเป็นพิษ สามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ในธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น

เกี่ยวกับ ... เวสต์ทูทริซิตี้ (Waste2Tricity Ltd.)
เป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการขยะและพลังงานทดแทนที่ทำงานร่วมกับหุ้นส่วนทางธุรกิจต่างๆ ในการพัฒนา และลงทุนโครงการจัดการขยะชุมชน โดยเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้ถือหุ้นคือ Ervington Investments (UBO Roman Abramovich), Age of Reason Foundation and Eturab ซึ่งทุกรายยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน AFC Energy PCL. และ Alter NRG Corp./ Westinghouse Plasma Corp. ประมาณ 30% ในแต่ละบริษัท เวสต์ทูทริซิตี้ในอังกฤษได้มีส่วนร่วมในโครงการพลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่นเทคโนโลยี Westinghouse Plasma ของบริษัท Alter NRG Corporation ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนโครงการ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ Tees Valley ประเทศอังกฤษ (Air Products Tees Valley Renewable Energy Facility: TV1) โดยใช้ขยะ 350,000 ตันต่อปี ผลิตกระแสไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ และกำลังขยายโครงการขนาดเดียวกัน (TV2) บนพื้นที่ติดกับโครงการแรก ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคุ้มค่าการลงทุนกว่าวิธีการอื่นๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ขณะที่ Waste2Tricity Thailand หรือ บริษัท เวสต์ทูทริซิตี้ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีพลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่นอย่างเป็นทางการของ Alter NRG Corp. และ "ไฮโดรเจนฟิวเซลล์" ของบริษัท AFC Energy PCL.
กำลังโหลดความคิดเห็น