เอเจนซี--ขณะนี้ เมืองต่างๆในจีนกำลังเผชิญหมอกมลพิษอย่างสาหัสสากรรจ์เป็นระลอกอย่างถี่ขึ้นๆช่วง ไม่กี่ปีมานี้ถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน อีกด้านหนึ่งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเผยการศึกษาที่น่าตกใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือผลการทดลองที่เผยว่าหมอกมลพิษมีอิทธิฤทธิ์ขนาดที่อาจบังหรือซับแสงเช่นเดียวกับรังสีจากนิวเคลียร์ และทำลายผลผลิตการเกษตรย่อยยับ
ขณะนี้ สภาพอากาศมัวหมองอุดอู้ ที่ได้ปกคลุมพื้นที่ต่างๆขยายกว้างเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของแผ่นดินใหญ่ ได้ส่งผลร้ายต่อการเกษตร
เหอ ตงเสียน ผู้เชี่ยวชาญของวิทยาลัยทรัพยากรน้ำและวิศวกรรมพลเรือน สังกัดมหาวิทยาการเกษตรจีน เผยเมื่อวันจันทร์(24 ก.พ.) ว่าเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยได้ทำการทดลองในปักกิ่ง ทดสอบผลกระทบจากหมอกมลพิษ (smog) ต่อต้นไม้พืชผลต่างๆช่วงไม่กี่เดือนมานี้ พบว่ากระบวนการสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ที่ทำให้พืชดำรงชีวิตอยู่ได้นั้น ตกฮวบลง และหากปรากฏการณ์เช่นนี้ขยายวงออกไป ก็จะสร้างความวิบัติต่อภาคการเกษตร ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศ ราว 10 เปอร์เซ็นต์
ผลผลิตจากฟาร์มอาจถดถอยลงเนื่องจากวิกฤตมลพิษอากาศในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะดันราคาพืชผลเกษตรสูงขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ก็มีกระแสวิตกเกี่ยวกับแหล่งป้อนหรือซัปพลายอาหาร โดยเมื่อปีที่แล้ว(2556) จีนนำเข้าสินค้าอาหารมากกว่า 70 ล้านตัน นับเป็นปริมาณมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะที่อัตราการพึ่งพิงตัวเองด้านอาหาร ลดลงถึงระดับที่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลตัวเลขของหน่วยงานรัฐบาล
จากการทดลองฯ พบว่าเมล็ดพันธุ์มะเขือและพริก ซึ่งปกตินั้นใช้เวลา ราว 20 วัน ในการเจริญเติบโตเต็มที่ภายใต้แสงสังเคราะห์ในห้องทดลอง แต่กลับใช้เวลามากกว่าสองเดือนในการเจริญเติบโตภายในเรือนกระจกที่ตั้งอยู่ที่เขตฉังผิงของกรุงปักกิ่ง
สารพิษจากอากาศและเยื่อบางที่จับผิวของเรือนกระจกจะลดปริมาณแสงที่ต้นพืชจะได้รับลงครึ่งหนึ่ง เมื่อต้นพืชได้รับแสงน้อยลงก็ส่งผลต่อการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นกระบวนการที่พืชเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจน และเก็บไว้ในรูปของน้ำตาลสำหรับดำรงชีวิต โดยต้นพืชที่ได้รับแสงไม่เพียงพอก็อาจไม่สามารถสังเคราะห์แสงลุล่วง
เมล็ดพืชทั้งหมดในฟาร์มเรือนกระจกที่ทำการทดลอง อ่อนแอหรือป่วยลง “โชคดี ที่พืชก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ ขณะนี้ฟาร์มต่างๆกำลังวิตกปัญหาหมอกมลพิษกันมาก” นาง เหอ กล่าว และเสริมว่าคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชที่ตกต่ำลงนี้จะทำให้ผลผลิตการเกษตรของประเทศลดลงไปในปีนี้
ดังนั้น ถ้าสภาพอากาศที่เป็นหมอกยังเป็นเช่นนี้ต่อไปหรือรุนแรงขึ้น ก็จะเป็นผลร้ายต่อซับพลายอาหารของจีน “คล้ายกับฤดูหนาวแห่งนิวเคลียร์” นางเหอ กล่าว โดยอ้างอิงถึง “ภาวะมืดมัวน่าพิศวง” (hypothetically dim) หรือสภาพอากาศหนาวเย็นหลังจากสงครามนิวเคลียร์
“บริษัทด้านการเกษตรกระตือรือร้นในส่งตัวแทนกลุ่มใหญ่ เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหาการสังเคราะห์แสงของพืชเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ พวกเขายังสิ้นหวังในการหาวิธีการแก้ไขปัญหา
เพื่อนร่วมวงการของเราในต่างประเทศ ช็อกเมื่อรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เนื่องจากในประเทศพวกเขาไม่เคยเกิดเรื่องเช่นนี้มาก่อน ”
บรรดาฟาร์มเรือนกระจกจะตกเป็นเหยื่อที่เสียหายเป็นรายแรกในวิกฤตการเกษตร ทั้งนี้ฟาร์มเรือนกระจกมีพื้นที่รวมกันมากกว่าสี่ล้านเฮกเตอร์( 1 เฮกเตอร์ เท่ากับ 6.25 ไร่) ของที่ดิน และเป็นซับพลายป้อนผักของแผ่นดินใหญ่ทั้งหมด
“ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังประกาศเตือนภัยระดับสูงสุด คือ “สีส้ม” และ “สีเหลือง” ในปักกิ่งและเมืองอื่นๆ หมอกพิษได้แผ่ออกไปมากถึง 1 ใน 4 ของที่ดินในจีน วิกฤตหมอกมลพิษจะกระเตื้องขึ้นสุดสัปดาห์
สำหรับในนครหลวงปักกิ่ง ดัชนีวัดคุณภาพอากาศที่วัดค่าโดยสถานทูตอเมริกัน ปรากฏค่ามลพิษสูงถึง 400 ไมโครกรัม/คิวบิคเมตร เมื่อวันจันทร์(24 ก.พ.) ซึ่งจัดว่า “อันตรายมาก”
ขุดค้นหาทางออก
เกา ถังกุย ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทเมล็ดพันธุ์พืชในปักกิ่ง คือ เป่ยจิง สือ หนง ซีด (Beijing Shinong Seed Company) ครวญว่าหมอกมลพิษทำลายพืชผลในฟาร์มพวกเขา เสียหายมาก พืชผักเน่าเสียและเติบโตอย่างเชื่องช้า
“ผลกระทบของมัน เป็นที่ชัดเจนและรุนแรง ขณะนี้ทุกคนในบริษัท ทั้งเกษตรกร ชาวนา และฝ่ายขาย ต่างก็วิตกเรื่องนี้มาก”
โดยขณะนี้กลุ่มบริษัทด้านการเกษตรกำลังคิดและทดลองทางเลือกต่างๆ มีทั้งการติดตั้งแสงเทียมที่ค่าใช้จ่ายแสนแพง ขณะเดียวกันก็มีฟาร์มหลายๆแห่งหันมาเพิ่มการใช้ฮอร์โมนพืชเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต
ดร. ฟู่ ชิวซื่อ นักวิจัยประจำสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน การประเมินที่แม่นยำของผลกระทบจากหมอกมลพิษต่อการสังเคราะห์แสง เป็นเรื่องยากมากๆเนื่องจากข้อจำกัดของทำเลียนแบบทางแล็บ “แม้กระทั่งแสงเทียมที่ดีที่สุดก็สู้แสงธรรมชาติไม่ได้เลยในทุกสเปคตรัม”
“เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐบาลบางคนวิตกกันว่าการเชื่อมโยงหมอกมลพิษกับผลผลิตการเกษตรจะสร้างความตื่นตระหนก แต่ขณะนี้ก็ปฏิเสธกันไม่ได้แล้วว่า แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังพื้นดินในจีน ได้ลดลงอย่างมากๆในไม่กี่ปีมานี้”