xs
xsm
sm
md
lg

หลักฐานชี้ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่มีขนปกคลุมมากกว่าเกล็ดแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไดโนเสาร์คูลินดาโดรเมียส ซาไบคาลิคัส  Kulindadromeus zabaikalicus (ภาพจาก บีบีซี)
ภาพไดโนเสาร์ผิวหยาบๆ หนังหนาๆ เป็นภาพติดตาคนทั่วไป แต่งานวิจัยล่าสุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชมีขน บ่งชี้ว่าไดโนเสาร์ทุกตัวมีขน หรืออาจมีลักษณะที่พัฒนาไปเป็นขน

ทั้งนี้ ฟอสซิลไดโนเสาร์อายุกว่า 150 ล้านปีที่พบในที่ไซบีเรีย บ่งชี้ว่าลักษณะมีขนนั้นเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในไดโนเสาร์ ซึ่งหัวหน้าทีมวิจัยเผยว่า ข้อมูลดังกล่าวเปลี่ยนมุมมองที่เราต่อไดโนเสาร์อย่างสิ้นเชิง

ไดโนเสาร์ดังกล่าวมีชื่อว่า คูลินดาโดรเมียส ซาไบคาลิคัส (Kulindadromeus zabaikalicus) เป็นไดโนเสาร์กินพืช ที่มีความยาวลำตัวประมาณ 1 เมตร มีปลายจมูกสั้น แขนสั้น ขาหลังยาว และมีนิ้วมือ 5 นิ้วที่แข็งแกร่ง มีฟันบ่งบอกชัดเจนว่าไว้สำหรับเคี้ยวพืช และมีแนวโน้มว่าเคยมีไดโนเสาร์ชนิดนี้กระจายไปทั่วโลก

หลักฐานเกี่ยวกับไดโนเสาร์มีขนเท่าที่เคยมีก่อนหน้าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่พบในจีน และเป็นไดโนเสาร์ในกลุ่ม ทีโรพอต (Theropod) และไดโนเสาร์มีขนที่พบล่าสุดในรัสเซียคือกลุ่มไดโนเสาร์กินพืชที่เรียกว่า ออร์นิทิสเชียน (Ornithischians) ซึ่งจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของไดโนเสาร์ทั้งหมด

ดร.ปาสคาล โกเดอฟรอย (Dr. Pascal Godefroit) จากสถาบันธรรมชาติวิทยารอยัลเบลเยียน (Royal Belgian Institute of Natural Sciences) กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หัวหน้าทีมวิจัยเผยแก่บีบีซีนิวส์ว่า การค้นพบครั้งนี้ชี้ว่ากำเนิดของการมีขนนั้นเกิดขึ้นนานกว่าที่คาดไว้หลายล้านปี

จากหลักฐานการมีขนของไดโนเสาร์ 2 กลุ่มที่แตกต่างกัน ทีโรพอตในจีนและออร์นิทิสเชียนในรัซเซียทำให้บอกได้ว่า บรรพบุรุษร่วมของไดโนเสาร์ทั้งสองชนิดที่อาจมีอยู่บนโลกเมื่อ 220 ล้านปีก่อน ก็น่าจะแผงขนด้วยเช่นกัน ซึ่ง ดร.โกเดอฟรอยกล่าวมันเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก และเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อไดโนเสาร์ ไปอย่างสิ้นเชิง

"แทนที่จะนึกถึงไดโนเสาร์ว่าเป็นสัตว์มีเกล็ดแห้งๆ น่ากลัว ความจริงพวกมันจำนวนมากคือไดโนเสาร์ที่มีขนปุกปุย นุ่มนิ่มคล้ายขนไก่" ดร.มาเรีย แมคนามารา (Dr Maria McNamara) ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์ก (Cork University) ในไอร์แลนด์ เผยกับบีบีซีนิวส์

ด้าน ศ.ไมค์ เบนตัน (Prof. Mike Benton) มหาวิทยาลัยบริสโตล (Bristol University) อังกฤษ ผู้ร่วมวิจัยอีกคนให้ความเห็นว่า งานวิจัยของพวกเขาไม่ได้บอกว่าไดโนเสาร์ทุกตัวจะมีขน โดยเฉพาะในไดโนเสาร์ตัวเต็มวัย แต่ไดโนเสาร์จะมีขนในเมื่อครั้งยังเด็ก แต่เมื่อเติบโตขึ้นขนจะค่อยๆ หลุดร่วงไปแล้วกลายเป็นเกล็ดหรือแผ่นแข็งขึ้นมาแทนที่เพื่อปกป้องผิวหนัง

"ประเด็นสำคัญคือไดโนเสาร์มีขนตั้งแต่เกิดและเป็นสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งยืนยันแนวคิดที่เชื่อมานาน โดยแรกเริ่มขนจะทำหน้าที่เป็นฉนวนให้ความอบอุ่นและใช้ในการส่งสัญญาณ เพียงแต่ภายหลังถูกปรับมาใช้ช่วยบิน" ศ.เบนตันให้ความเห็น

ทว่า ดร.พอล บาเรตต์ (Dr.Paul Barrett) แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) ในลอนดอน อังกฤษ ตั้งข้อสงสัยต่องานวิจัยดังกล่าวว่า ขนนกแบบส่วนใหญ่จะเป็นขนแบบที่แตกแขนงออกไป ไม่ใช่เส้นสายที่คล้ายงอกมาจากกลางตัวอย่างฟอสซิลในงานวิจัยนี้ ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่พบในนก หรือแบบจำลองใดๆ ที่นักชีววิทยาใช้อธิบายถึงวิวัฒนาการของขนนก
ภาพขณะทีมสำรวจขุดซากฟอสซิล  (ภาพจาก บีบีซี)
บริเวณสีเข้มเชื่อว่าคือ แนวเส้นขน (ภาพจาก บีบีซี)

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น