xs
xsm
sm
md
lg

ใส่วิทยาศาสตร์สร้างคุณค่า “ผีตาโขน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายอภิชาติ คำเกษม กับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ผีตาโขน
วิทยาศาสตร์กับ “ผีตาโขน” น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะอยู่ร่วมกันได้ แต่ทั้งสองสิ่งกำลังจะเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนกันเพื่อพัฒนาสินค้าชุมชนให้ได้คุณภาพ

“ผีตาโขน” คือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ จ.เลย ซึ่ง นายอภิชาติ คำเกษม ประธานกลุ่มศิลปะพื้นบ้านผีตาโขน และเครื่องปั้นดินเผา จ.เลย อธิบายถึงความหมายว่าเป็นสัญลักษณ์ของผีบรรพบุรุษที่มาดูแลบุตรหลาน ปกติหน้ากากของผีตาโขนจะผลิตขึ้นจากกาบมะพร้าว แล้ววาดเป็นรูปหน้าคน

ทว่า ต้นมะพร้าวที่นำมาผลิตหัวผีตาโขนได้ต้องเป็น “มะพร้าวสาว” หรือต้นมะพร้าวที่มียังไม่เคยมีลูก อายุไม่เกิน 8 ปี แต่ปัจจุบันคนปลูกมะพร้าวกันน้อยลง แล้วหันไปปลูกพืชอย่างอื่นมากขึ้น ทำให้หาวัตถุดิบผลิตหัวผีตาโขนได้น้อยลง ทางกลุ่มศิลปะซึ่งผลิตสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับผีตาโขนจึงต้องปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นผลิตแทน

อภิชาติบอกว่าในช่วงหลังๆ เปเปอร์มาเชมาแทนกาบมะพร้าว และทางกลุ่มยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเซรามิกพัฒนาขึ้นเป็นแก้วที่ระลึกผีตาโขน โดยมี 2 ลวดลาย คือ ลวดลายโบราณซึ่งเป็นลายหน้าของคนที่แทนผีบรรพบุรุษตามความเชื่อของคนในลุ่มน้ำโขง และลวดลายสมัยใหม่ที่ได้อิทธิพลจากหัวโขน ซึ่งเป็นลายหน้าสัตว์ แต่ยังมีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ

เพื่อมองหาช่องทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อภิชาตจึงเข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชนด้านการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ประเภทของใช้ของตกแต่ง และของที่ระลึก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 พ.ค. 57 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“คาดหวังว่าจะได้นำวิทยาศาสตร์ไปใช้ควบคุมคุณภาพของสินค้า เพราะก่อนหน้านี้เคยนำไปสินค้าไปจำหน่ายในงานมหกรรมแสดงสินค้า แล้วได้รับการติชมว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานและมีตำหนิแต่ลูกค้าซื้อตัดสินใจซื้อเพราะความแปลก จึงตั้งใจว่าจะพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพเพื่อเป็นจุดขายสำหรับลูกค้ามากกว่าเป็นแค่ของแปลก” อภิชาติเผยความคาดหวัง

ด้าน ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการอีโคดีไซน์ หน่วยวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวถึงบทบาทของการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ของตกแต่ง และของที่ระลึกว่า  จุดแรกต้องเริ่มจากการแก้จุดอ่อนการผลิตของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ ซึ่งมักมีปัญหาเรื่องวัสดุธรรมชาติที่นำมาใช้นั้นมีคุณภาพแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ซึ่งวิทยาศาสตร์จะช่วยในเรื่องการตรวจสอบคุณภาพวัสดุ

“สวทช. มีงานวิจัยเรื่องการอบลดความชื้น ซึ่งช่วยควบคุมความชื้นวัสดุธรรมชาติได้ และยังมีเรื่องการตรวจสอบสารพิษ หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งตามระเบียบของสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดเรื่องนี้อยู่ และนำมาใช้ได้ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ขายเป็นสินค้าโอทอปที่เน้นขายในประเทศก่อน อาจยังไม่ต้องไปถึงขั้นนั้น เราอาจช่วยเขาในการเพิ่มยอดขายและช่วยเรื่องการออกแบบก่อน” ดร.กิตตินันท์ กล่าว 
ผีตาโขนในรูปแบบดั้งเดิม (แขวนซ้าย) ที่แทนสัญลักษณ์ของผีบรรพบุรุษ และรูปแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากโขนเป็นรูปสัตว์ (แขวนขวา)
ผลิตภัณฑ์ของใช้โอทอปของแต่ละจังหวัดที่รอผู้เชี่ยวชาญประเมินเพื่อนำวิทยาศาสตร์ไปช่วยปรับปรุงคุณภาพ
ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์
ผลิตภัณฑ์ของใช้โอทอปของแต่ละจังหวัดที่รอผู้เชี่ยวชาญประเมินเพื่อนำวิทยาศาสตร์ไปช่วยปรับปรุงคุณภาพ
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น