กรมควบคุมโรคกับ สวทช. ลงนามความร่วมมือการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความ เข้มแข็งด้านงานระบาดวิทยาและเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อที่สําคัญ อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้หวัดนก นำร่องใช้ไอทีควบคุมการระบาดไข้เลือดออก
กรมควบคุมโรคกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านงานระบาดวิทยาและการเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อที่สําคัญ อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้หวัดนก เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 57 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยนำร่องด้วย “โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกเชิงรุก” ซึ่งดําเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้ สวทช.
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคและภัยสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมทั้งเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยและพัฒนากลไก ในการองค์ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคร่วมกับ สวทช. มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เคยลงนามอย่างเป็นทางการ
“ตัวอย่างความร่วมมือที่ผ่านมา เช่น การพยากรณ์โรคไข้หวัดใหญ่ การจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัยและพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการเพื่อการควบคุมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เป็นต้น การลงนามครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกโดยมีโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อ สนับสนุนการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกเชิงรุก เป็นโครงการนำร่อง” นพ.โสภณกล่าว
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า บทบาทของ สวทช. ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ คือ การนำความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ที่ สวทช. มีความเชี่ยวชาญ มาทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการแพร่กระจายและการระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้หวัดนก พร้อมทั้งสนับสนุนนักวิจัย ประสานความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาบุคลากร การจัดหาทรัพยากร และร่วมกันผลักดันสู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ภายใต้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกเชิงรุก ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย (1) ระบบสำรวจลูกน้ำยุงลายด้วยแท็บเล็ตแอนดรอยด์ (Dengue Mosquito Larvae Survey Program : DMLS) เพื่ออำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลการสำรวจฯ และได้มาซึ่งดัชนีทางกีฏวิทยาทันทีหลังเสร็จสิ้นการสำรวจฯ (2) ระบบติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก (Dengue Fever Epidemic Monitoring & Alert System: DMAS) เพื่อรายงานสถานการณ์และกระจายข่าวสารแก่ผู้รับผิดชอบในลักษณะใกล้เคียง กับเวลาปัจจุบัน และ (3) ระบบรายงานโรคไข้เลือดออกและการสำรวจลูกน้ำยุงลายเชิงวิเคราะห์ (Dengue and Mosquito Larvae Survey Analysis Report System: DMAR) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในมุมมองต่างๆ