สวทช.จับมือ กรมสรรพากร, สรอ.เปิด “ระบบ RDC Online” พลิกโฉมรับรองเอกชนทำวิจัย ยกเว้นภาษี 200%
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ กรมสรรพากร และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) จัดงานแถลง ข่าว “เปิดตัวระบบ RDC Online” ให้บริการยื่นขอรับรองโครงการวิจัยฯ ยกเว้นภาษี 200% ผ่านอินเทอร์เน็ต ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ง่ายต่อการตรวจสอบและติดตามผลพร้อมรองรับการ เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ทั้งนี้ เพื่อเร่งส่งเสริมภาคเอกชนทำวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีให้สร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้เกิดเพิ่มมูลค่าเพิ่มและ การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เนื่องจากผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความตื่นตัวของการทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือในปีงบประมาณ 2554-2556 มีมูลค่าโครงการที่ได้รับการพิจารณารับรองเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของมูลค่าโครงการที่ได้รับรองของปีงบประมาณ 2552
“การนี้ สวทช.ร่วมกับ กรมสรรพากร และ สรอ.จึงได้พัฒนาระบบสนับสนุนการดำเนินงานรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ของผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เรียกว่า ระบบ RDC Online เพื่อนำมาให้บริการและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะทำให้เกิดความคล่องตัว มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังติดตามและตรวจสอบผลการขอรับรองโครงการของ ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ตามความต้องการทันที อีกทั้งตัวระบบได้ออกแบบให้มีส่วนช่วยป้องกันและการรักษาข้อมูล ความลับของโครงการวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือและมีมาตรฐานสากล” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
สำหรับการใช้บริการยื่นขอรับรองโครงการวิจัยฯ ยกเว้นภาษี 200% ผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น เข้าไปใช้บริการได้ที่ https://www.rdconline.nstda.or.th ซึ่งระบบดังกล่าวช่วยร่นระยะเวลาในการพิจารณารับรองผลโครงการจากเดิมได้ ไม่น้อยกว่า 1-2 เดือน อย่างไรก็ตาม การนำระบบ RDC Online มาให้บริการจะสามารถเป็นแรงจูงใจ สร้าง ความมั่นใจในการบริการและความปลอดภัยข้อมูล และเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการยื่นขอรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ ผูประกอบการภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น
ดร.ทวีศักดิ์ ระบุว่า ความร่วมมือนี้นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการลงทุนและความเข้มข้นด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในภาคเอกชนทำให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ทัดเทียม สากลและเติบโตได้อย่างยั่งยืน และกระตุ้นการ ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นเป็น 1% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศไทยภายในปี 2559 คาดว่าเมื่อระบบ เริ่มเปิดใช้งานในปี 57 นี้แล้ว จะมีการขอใช้บริการไม่ต่ำกว่า 100 บริษัท กว่า 600 โครงการ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทขึ้นไป