ก.วิทย์ สวทน. เร่งประสานความร่วมมือหน่วยงานของรัฐ ผลักดันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าและยกระดับการจัดการเกษตรอินทรีย์ครบวงจร นำร่องพัฒนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์แบบครบวงจร เน้นเพิ่มพื้นที่ปลูก ส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี หวังช่วยชาวนาอย่างยั่งยืน
ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองเลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า จากปัญหาเรื่องข้าวซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรที่ปลูกข้าวในปัจจุบัน ทำให้ สวทน. ต้องเร่งผลักดันแผนปฏิบัติการจากนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2564) ซึ่งกำหนดให้ข้าวเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยเน้นไปที่การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อเพิ่มมูลค่าของข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว ได้แก่ การจัดการพื้นที่ปลูก การพัฒนาคุณภาพดิน, น้ำ และเมล็ดพันธุ์ การส่งเสริมการแปรรูปข้าวให้เป็นที่ต้องการของตลาด ไปจนถึงการส่งเสริมการกระจายสินค้าโดยใช้ความรู้ด้านโลจิสติกส์ โครงการหลักที่ สวทน. กำลังเร่งดำเนินการในปีนี้ คือ โครงการพัฒนาบทบาท วทน. เพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับการเกษตรอินทรีย์ครบวงจร นำร่องข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และการส่งเสริมระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี
ดร.สมชาย ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงโครงการดังกล่าวทั้ง 2 โครงการว่า สวทน. มีบทบาทในการผลักดันและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไปสู่เกษตรกรโดยได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเป็นรูปธรรมโดยเร็วยิ่งขึ้น จากการประชุมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในที่ประชุมได้มีการกำหนดพื้นที่นำร่องในการพัฒนาการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในจังหวัดยโสธร 7 ชุมชน ใน 5 อำเภอ คือ อ. เลิงนกทา อ.กุดชุม อ.ป่าติ้ว อ.มหาชัยชนะ และ อ.ค้อวัง เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาและยกระดับข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ส่วนเรื่องการส่งเสริมระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี สวทน. ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กรมการข้าว มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีปริมาณเพียงพอต่อเกษตรกรทั่วประเทศ และการพัฒนาระบบการผลิตให้มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในขณะนี้มีการจัดตั้งโครงการหมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ขึ้น 11 ศูนย์ ตามจังหวัดต่างๆ ในทุกภาคของประเทศ ภาคเหนือได้แก่ จังหวัด แพร่ พิษณุโลก นครสวรรค์ และ อุทัยธานี ภาคกลางได้แก่ จังหวัด ชัยนาท ลพบุรี ภาคใต้ได้แก่ จังหวัด พัทลุง และ ภาคตะวันออกเฉยงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี สกลนคร ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ
ข้าวอินทรีย์เป็นข้าวที่ได้จากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นวิธีการผลิตที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ในทุกขั้นตอนการผลิต แต่จะเน้นในเรื่องการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เช่น การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการปลูกพืชหมุนเวียน การปุ๋ยอินทรีย์ การควบคุมโรคและแมลงโดยวิธีธรรมชาติ การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ดี ปัจจุบันตลาดข้าวอินทรีย์ของไทย ส่งออกไปต่างประเทศร้อยละ 70 ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดในประเทศอีกร้อยละ 30 นั้นมีอัตราการเติบโตของตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากกระแสความตื่นตัวด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีตรารับรองที่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการซื้อสินค้ามากขึ้น