ตามปกติเวลาอ่านชีวประวัติของบุคคลสำคัญ เรามักพบว่า ชีวิตในวัยเด็กของคนเหล่านี้ต้องต่อสู้กับความยากลำบาก และต้องฝ่าฟันอุปสรรรคนานัปการ ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และสังคมรอบข้าง แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ทำให้เป็นที่ชื่นชมและยกย่องจนทุกวันนี้ เช่น Michael Faraday ในวัยเด็กต้องกัดแทะขนมปังวันละก้อน และทำงานรับจ้างเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์โดยการนำหนังสือพิมพ์ไปส่งที่บ้านหลังหนึ่ง เมื่อครบชั่วโมงก็จะหยิบหนังสือพิมพ์จากบ้านหลังนั้นไปส่งให้อีกบ้านหนึ่งอ่าน ต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ได้กลายเป็นนักฟิสิกส์ทดลองผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ด้วยการพบวิธีผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วน Marie Curie ก็ต้องต่อสู้กับอคติของสังคมยุคนั้นที่ต่อต้านไม่ยินยอมให้ผู้หญิงเรียนในมหาวิทยาลัย (คงเพราะบรรดาผู้ชายกลัวว่าเธอจะรู้ทัน หรือรู้มากกว่า) ในที่สุด เธอก็เอาชนะอุปสรรคและทัศนคติเชิงลบนี้ โดยการกวาดรางวัลโนเบลถึง 2 รางวัล ด้วยผลงานการพบธาตุเรเดียม และการศึกษาปรากฏการณ์กัมมันตรังสี
เหล่านี้คือชีวิตตัวอย่างที่ทำให้ทุกคนรู้สึกดี และมีกำลังใจในการต่อสู้เวลาชีวิตประสบปัญหา แต่ก็มีชีวิตของคนเก่งอีกหลายคนที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะเวลาประสบอุปสรรค ทั้งๆที่ใกล้จะบรรลุเป้าหมายแล้ว แต่กลับหันเหความสนใจไปทำงานอื่น จนชีวิตต้องล้มลุกคลุกคลาน และต้องจากโลกไปในสภาพอนาถาน่าสมเพช ดังชีวิตของ George Price
เพราะในปี 1967 George Price นักเคมีชาวอเมริกันวัย 45 ปี ได้เดินทางถึงลอนดอนในอังกฤษเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยได้ทิ้งครอบครัว งาน และเพื่อนเก่าๆ ทั้งหมดเพื่อใช้ชีวิตอิสระในต่างแดน และค้นหาองค์ความรู้ที่จะทำให้เขามีชื่อเสียงก้องโลก ทั้งนี้และทั้งนั้น มิใช่เพราะ Price มีประสบการณ์ทำงานทุกอย่างล้มเหลวในอเมริกา แต่เพราะ Price รู้สึกเบื่อประสบการณ์เก่าๆ และคิดว่าสถานที่ใหม่จะทำให้ชีวิตเขาสดใส รุ่งเรือง และมีความสุข
ที่อังกฤษ Price อยู่ในภาวะไม่มีงานทำ ไม่มีทั้งญาติและเงิน จึงต้องใช้ชีวิตอย่างจำกัดจำเขี่ย โดยใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดของ British Museum วันใดที่ห้องสมุดปิดทำงานก็จะย้ายไปใช้ห้องสมุด Holburn Public Library ซึ่งเปิดถึงเวลาดึก แล้วนอนข้างถนน
Price ตั้งความหวังว่า วันหนึ่งในอนาคตโลกวิชาการจะรู้จักและยอมรับในความสามารถระดับสุดยอดของ George Price ถ้าเขาสามารถมีผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Science หรือ Nature ซึ่งเป็นวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก แต่เขาก็มิได้กำหนดลงไปว่างานนั้นจะเป็นผลงานด้านใด เพราะเขามีความสนใจหลายด้าน เช่น แพทยศาสตร์ จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เขาจึงใช้เวลาอ่านบทความวิจัยในสาขาต่างๆ ทั้งวัน และทุกวัน
วันหนึ่งเมื่อเขาเห็นงานวิจัยของ William D. Hamilton ที่ตีพิมพ์ในปี 1964 เรื่องหลักการคัดเลือกญาติ (kin selection) ในกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเสนอแนวคิดว่าสิ่งมีชีวิตสามารถดำรงสายพันธุ์ได้ โดยไม่อาศัยเพียงแค่ส่งผ่านยีน (gene) ไปให้ลูกหลานโดยตรงเท่านั้น แต่อาจต้องอาศัยการช่วยเหลือเกื้อกูลจากบรรดาญาติๆ ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นด้วย เพราะญาติเหล่านั้นมียีนที่เหมือนๆ กับตน
Price ได้นำแนวคิดนี้มาเรียบเรียงเป็นสมการคณิตศาสตร์ และพบว่าสมการ Price สามารถอธิบายพฤติกรรมเอื้ออาทร (altruistic behavior) ของสิ่งมีชีวิตในกระบวนการวิวัฒนาการได้ ทั้งๆ ที่พฤติกรรมนี้ส่งเสริมให้สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน ได้แพร่พันธุ์แข่งขันกับตัวมันเอง
Price ได้นำทฤษฎีบทของเขาไปให้ Cedric Smith ซึ่งเป็นนักพันธุศาสตร์ประชากรแห่งห้องปฏิบัติการ Galton Laboratory ที่ University College London อ่าน ผลงานนี้ทำให้ Smith รู้สึกประทับใจมากจึงนำ Price ไปพบผู้บังคับบัญชา
โดยใช้เวลาสนทนากับหัวหน้าภาคเพียง 90 นาที Price ก็ได้งาน และห้องทำงาน Smith ได้ขอให้ Price นำข้อมูลประวัติส่วนตัว และการศึกษา รวมถึงประสบการณ์วิจัยมาให้ในวันรุ่งขึ้น เพื่อเข้ารับตำแหน่งนักวิจัยกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัย
หลังจากนั้นอีกไม่นาน Price ก็ได้รับทุนวิจัยจาก Science Research Council ทั้งนี้โดยการสนับสนุนของ Smith
ด้าน W.D. Hamilton ซึ่งเป็นคนจุดประกายความคิดให้ Price ก็ได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการของวารสาร Nature เสนอให้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานของ Price ทันที
ในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของ Price กำลังจะสดใส และสดชื่น Price ก็ได้หักเหวิถีชีวิตของตนอีกครั้งหนึ่ง เมื่ออ้างว่าได้ยินคำบัญชาจากพระเจ้าให้ตนทำงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นอย่างเต็มตัว คราวนี้ชีวิตของเขาเริ่มดิ่งสู่หุบเหว และเป็นโรคซึมเศร้าระดับรุนแรง จนต้องฆ่าตัวตายในที่สุด
George Robert Price เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1922 ที่ New York สหรัฐอเมริกา บิดามีอาชีพเป็นช่างไฟฟ้า ส่วนมารดาเป็นอดีตนักร้องโอเปรา เมื่ออายุ 4 ขวบ Price ได้กำพร้าบิดา มารดาซึ่งทำหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัวจึงจัดการให้ Price เข้าเรียนที่โรงเรียน Stuyvesant High School ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงในด้านการสอนวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ ขณะเรียนที่นี่ Price เล่นหมากรุกเก่ง จนได้เป็นแชมป์ของโรงเรียน และเรียนดีมากจึงได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Harvard
แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี ผลการเรียนของ Price ตก ทุนการศึกษาจึงถูกระงับ ทำให้ต้องย้ายไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Chicago และพยายามเรียนจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเคมีเมื่ออายุ 21 ปี จากนั้นอีก 3 ปี ก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
ช่วงเวลานั้นเป็นเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกากำลังทำสงครามกับเยอรมนี Price ได้เข้าร่วมทำงานในโครงการ Manhattan เพื่อสร้างระเบิดปรมาณู เพื่อใช้ยุติสงครามโลก โดยเข้าทำงานประจำหน่วยเคมีนิวเคลียร์ (nuclear chemistry) ที่ Argonne National Laboratory และได้สมรสกับ Julia Madigan ขณะนั้น Price มีอายุ 25 ปี แต่ชีวิตสมรสของเขาไม่มีความสุข เพราะ Price เป็นคนไม่มีศาสนา ในขณะที่ภรรยาเคร่งศาสนานิกายโรมันแคทอลิกมาก ดังนั้น ทั้งสองจึงมีปากเสียงกันบ่อย กระนั้นครอบครัวก็มีลูกสาว 2 คน ชื่อ Annamarie และ Kathleen
ในปี 1946 Price ได้ลาออกจากงานที่ห้องปฏิบัติการ Argonne เพื่อกลับไปเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย Harvard แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อได้อ่านงานวิจัยของ Claude Shannon เรื่องทฤษฎีสารสนเทศ (Information Theory) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Bell System Technical Journal ทฤษฎีนี้ทำให้ Price ตกหลุมรักวิธีคิดของ Shannon ทันที และตัดสินใจจะวิจัยเรื่องนี้ จึงขอลาออกจาก Harvard แล้วไปทำงานที่ Bell Laboratory อันเป็นสถานที่ๆ John Bardeen และ William Shockley ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์เครื่องแรกของโลก และนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลทั้งสองได้ขอให้ Price วิจัยเรื่องอิทธิพลของอุณหภูมิต่อประสิทธิภาพการทำงานของทรานซิสเตอร์
แต่ยังไม่ทันลงมือ Price ก็ตัดสินใจกลับไปวิจัยเคมีที่มหาวิทยาลัย Minnesota เรื่อง เทคนิค fluorescence microscopy ซึ่งใช้ในการศึกษาเซลล์มะเร็ง
ในช่วงเวลานี้ จิตใจของ Price สับสนมาก เพราะเขาเปลี่ยนใจและเปลี่ยนงานบ่อย ความระหองระแหงจึงเกิดขึ้นในครอบครัว ในที่สุดเมื่อถึงปี 1955 Price กับภรรยาก็หย่ากัน
Price ได้หวนกลับไปทบทวนอดีตที่ผ่านมาแล้วลงความเห็นว่า นิสัยเขามิได้เหมาะสำหรับอาชีพนักเคมีเลย แต่ควรเป็นนักเขียนบทความวิชาการมากกว่า ดังนั้นในระหว่างปี 1955-1956 Price จึงได้เขียนบทความ 2 ชิ้นลงในวารสาร Science วิพากษ์วิจารณ์เรื่อง โทรจิต (Telepathy) ว่าเป็นวิทยาศาสตร์กำมะลอ และบทความนี้ได้ทำให้สังคมตื่นตัวมาก นอกจากนี้เขาก็ยังได้เขียนบทความลงในนิตยสาร Life, Fortune และ Popular Science ด้วย แต่ความพยายามที่จะเขียนหนังสือเรื่อง No Easy Way ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียนั้น ไม่บังเกิดผล และ Price ได้ให้เหตุผลสำหรับความล้มเหลวในการเขียนว่า เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากจนเขาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ทัน
จากนั้นได้ไปสมัครงานที่ IBM และได้งานเป็นที่ปรึกษาด้าน graphic data processing แต่ไม่ได้ทุ่มเทกำลังกายและใจมากนัก เพราะกำลังสนใจทฤษฎีจิตวิทยาของ B.F. Skinner กับการทำวงจรธุรกิจ ฯลฯ ครั้นเมื่อแพทย์ตรวจพบว่า เขากำลังป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ Price จึงเข้ารับการผ่าตัด ทำให้ไหล่ซ้ายเป็นอัมพฤกษ์ และต้องกินยาบำบัดอย่างสม่ำเสมอ เหตุการณ์นี้ทำให้ Price ตัดสินใจทิ้งชีวิตเก่า (ที่วุ่นวาย) ไปเริ่มชีวิตใหม่ที่ลอนดอน
หลังจากที่พบสมการ Price ทั้งๆ ที่ Price มิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของ Darwin หรือรอบรู้เรื่องพันธุ์ศาสตร์ประชากร (population genetics) และการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งสองนี้ ต้องใช้สถิติในการอธิบายกระบวนการวิวัฒนาการ ว่าเวลาสมาชิกของสิ่งมีชีวิตมีการกลาย (mutation) จะมี allele ใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลต่อการวิวัฒนาการเวลา allele ถูกถ่ายทอดไปหลายชั่วรุ่น และความถี่ของ allele ที่มีในประชากรอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยการคัดเลือกตามธรรมชาติ
สมการ Price เป็นสมการ covariance ทางพันธุศาสตร์ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงความถี่ allele ในประชากรที่สามารถนำมาใช้ได้ในกระบวนการวิวัฒนาการ โดยการพิจารณาความเหมาะสมของสมาชิกเพื่ออธิบายที่มีของความรู้สึกเอื้ออาทรในจิตใจของสิ่งมีชีวิต
จุดหักเหในชีวิตของ Price ได้เกิดขึ้นอีกในวันที่ 6 มิถุนายน 1970 เมื่อ Price ทั้งๆ ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ รู้สึกว่า พระเจ้ากำลังสื่อสารกับเขาโดยตรงให้อุทิศชีวิตที่เหลือแก่คนยากจน และคนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย
Price จึงตัดสินใจแบ่งเวลาส่วนหนึ่งให้กับภาระที่ได้รับนี้ แต่ก็ยังทำงานวิจัยด้านทฤษฎีวิวัฒนาการต่อ โดยได้ตีพิมพ์งานอีกชิ้นหนึ่งกับ John Maynard Smith ผู้เป็นคู่แข่งคนสำคัญของ W.D. Hamilton ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 1973 ชิ้นนั้น Price ได้นำทฤษฎีเกม (game theory) มาประยุกต์กับทฤษฎีวิวัฒนาการ และยังได้เขียนบทความอธิบายความหมายของทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่ Ronald A. Fisher เคยเสนอไว้เมื่อ 40 ปีก่อน ให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจ
หลังจากนั้น Price ได้ทุ่มเทเวลา พลัง และทรัพย์สินไปช่วยคนยากไร้ โดยเชิญคนอนาถาเหล่านั้นมาพักในบ้าน แล้วตัวเองไปนอนในห้องปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัย คนที่เชิญมามีทั้งพวกขี้เหล้า ติดยา และขโมย จนในที่สุด งูเห่าก็กัดชาวนา เพราะคนเหล่านั้นได้ขโมยทรัพย์สินของ Price ไปจนหมดสิ้นและ Price กลายเป็นคนไร้บ้านแทน
เมื่อไม่มีอะไรจะให้แก่ใครผู้ใดอีกต่อไปแล้ว Price ก็ได้ยินเสียงจากพระเจ้าอีก ให้เขาเริ่มชีวิตใหม่ แต่ทว่าคราวนี้สายไปเสียแล้ว เพราะเขาถูกไล่ออกจากบ้านเช่า เมื่อไม่มีเงินเสียค่าเช่า Price ล้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง และหลังวันคริสต์มาสเพียง 2 สัปดาห์ ในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1975 Price ได้ใช้กรรไกรตัดเล็บแทงที่คอและเสียชีวิต สิริอายุ 52 ปี ศพถูกระบุว่าเป็นของ Price โดย Hamilton และถูกนำไปฝังที่สุสานคนนิรนาม St.Pancras
ในงานศพมี Hamilton และ Maynard Smith กับคนไร้บ้านที่ Price เคยอุปถัมภ์ 3 คนมาร่วมงาน
หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว 20 ปี ไม่มีใครสนใจผลงานของ Price เลย เพราะเขาไม่ได้ใช้เวลามากในการทำวิจัยเรื่องทฤษฎีเอื้ออาทรของสิ่งมีชีวิต แต่เมื่อหนังสือ The Price of Altrusm: George Price and the Search for the Origin of Kindness โดย Oren Herman ที่ตีพิมพ์โดย W.W.Norton ในปี 2010 ออกเผยแพร่ โลกก็หันมาสนใจชีวิตและทฤษฎีของ Price ใหม่ และพบว่าผลงานของ Price มีความสำคัญโดยเฉพาะสมการ Price ซึ่งเกี่ยวกับการคัดเลือก
ขีดบนตัวแปรแสดงค่าเฉลี่ยของการทดลองหลายครั้ง
ส่วน Cov(w,z) คือ covariance ของ w กับ z ซึ่ง covariance นี้ แสดงแนวโน้มที่ตัวแปรสองตัวแปร จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน เช่น ถ้า w เพิ่ม เมื่อ เพิ่มค่า covariance จะเป็นบวก แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงของ w กับ z สวนทิศกัน ค่า covariance จะเป็นลบ และถ้าตัวแปรทั้งสองไม่ขึ้นต่อกันและกันเลย covariance ก็จะมีค่าเป็นศูนย์
ดังนั้นสมการ Price จึงแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะที่คาดหวัง ค่าเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีที่เหมาะสม และ covariance ของความเหมาะสมกับคุณลักษณะ
อ่านชีวประวัติของ Price แล้ว คุณอาจนึกถึง John Nash ในหนังสือ A Beautiful Mind ซึ่งต้องต่อสู้กับโรคจิตเภท เช่น เวลา Nash กล่าวว่า ตนคือจักรพรรดิแห่งทวีปแอนตาร์กติกา เขากำลังเห็นภาพหลอน และเวลา Price พูดว่า พระเจ้ากำลังตรัสกับเขาในโบสถ์ Price ก็คิดว่า พระเจ้ามีจริง
ความฉลาดของมนุษย์เราอยู่ตรงที่ว่า เราต้องเลือกจะมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบหรือจะสร้างงานที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งคล้ายๆ กับการเลือกระหว่างความสุขในชีวิตกับความสำเร็จ เพราะคนเราทำไม่ได้ทั้งสองด้านอย่างสมบูรณ์ 100% และส่วนใหญ่ทำได้ระดับกลางๆ
ชีวิตของ Price จึงเป็นชีวิตที่ให้บทเรียน และทำให้เรารู้สึกสลดใจในเวลาเดียวกันด้วย
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์