หลายคนรู้จัก “ถั่งเช่า” เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสรรพคุณที่อ้างกันว่าช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ แต่ในโลกนี้ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นอีกมาก ที่จัดเป็น “ราแมลง” เช่นเดียวกับยาจีนราคาแพงนี้ และในเมืองไทยก็มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวอยู่ไม่น้อย
ราแมลง (Insect Fungi) เป็นราที่ก่อโรคในแมลงและแมงมุม มักพบในป่าที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ ซึ่งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นหนึ่งในหน่วยงานไทยที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับ “ราแมลง” ที่โดดเด่น จากการศึกษาของศูนย์พบว่าผืนป่าของไทยมีรากลุ่มนี้มากกว่า 400 ชนิด โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบมากถึงกว่า 200 ชนิด เมื่อทีมข่าววิทยาศาสตร์-ASTVผู้จัดการออนไลน์ มีโอกาสได้ชมผลงานจากการศึกษา เราจึงเก็บตัวอย่างบางส่วนมาฝากผู้อ่าน
คอร์ไดเซปส์ ซีเอฟ. เรียวกามิมอนทาโน (Cordyceps cf. Ryogamimontano) ราแมลงที่พบตามเศษใบไม้ทับถมในป่า เข้าทำลายและเจริญเติบโตในจักจั่น มีก้านราสีขาวไปถึงน้ำตาลอ่อน ที่งอกจากข้อต่อช่วงท้องของจักจั่น แหล่งพบตัวอย่างอยู่ที่ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
โอฟิโอคอร์ไดเซปส์ นูตันส์ (Ophiocordyceps nutons) ราแมลงที่เข้าทำลายตัวมวน พบได้ตามเศษใบไม้ทับถมในป่า มีก้านราสีน้ำตาลหรือดำอมน้ำตาล ที่ปลายก้านเป็นสีแดง แต่พบเป็นสีส้มหรือส้มอมเหลืองขึ้นอยู่สภาพแวดล้อม แหล่งพบตัวอย่างพบในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย
โอฟิโอคอร์ไดเซปส์ ซีเอฟ ยูนิลาเทราลิส (Ophiocordyceps cf.unilateralis) เป็นราแมลงที่เจริญเติบโตในมดขนาดใหญ่ พบได้ตามกิ่งไม้ในป่า มีก้านรา 3 ก้าน โดยก้านแรกงอกจากส่วนหัวของมด อีกสองก้านงอกจากข้อต่อบริเวณอกของมด แหล่งพบตัวอย่างอยู่ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
โอฟิโอคอร์ไดเซปส์ แคมโพโนติ-ลิโอนาร์ด (Ophiocordyceps camponoti-leonard) เป็นราแมลงอีกชนิดที่เจริญเติบโตในมดขนาดใหญ่ โดยสร้างก้านราบริเวณรอยต่อระหว่างส่วนหัวและกลางลำตัวของมด พบตัวอย่างที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในไทย
โอฟิโอคอร์ไดเซปส์ ลองกิสสิมา (Ophiocordyceps longissima) เป็นราแมลงที่ฝังตัวตามดินในป่า ทำลายและเจริญเติบโตในตัวอ่อนจักจั่น ก้านรามีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลแดงโดยก้านราจะแทงทะลุผิวดินขึ้นมา ส่วนความยาวของก้านราขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของตัวอ่อนจักจั่น พบตัวอย่างที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในไทย
คอร์ไดเซปส์ เอสพี. (Cordyceps sp.) เป็นราแมลงที่พบตามเศษใบไม้ทับถมหรือฝังอยู่ที่ผิวดินในป่า เจริญเติบโตบนหนอนด้วง ก้านรามีสีขาวหรือสีครีม ก้านรางอกจากตัวหนอนแล้วแทงทะลุผิวดินขึ้นมา พบตัวอย่างที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในไทย
สำหรับการวิจัยราแมลงในเมืองไทยนั้นเริ่มต้นมากว่า 15 ปีแล้ว โดย ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า เกิดจากการชักนำของ ดร.ไนเจล โจนส์ (Dr.Nigel L.H. Jones) ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในเรื่องราแมลง ที่ให้ความเห็นว่าเมืองที่มีความหลากหลาย ทางชีวภาพน่าจะมีราประเภทนี้อยู่มาก
ส่วน “ถั่งเช่า” ราคาแพงนั้น คือ ราแมลงสายพันธุ์ คอร์ไดเซพ ซินเอนซิส (Cordyceps sinensis) ที่ขึ้นบนหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง เชื้อราจะฝังสปอร์บนตัวหนอนในช่วงฤดูหนาวของแถบภูมิประเทศจีนและภูฏานที่ปก คลุมด้วยหิมะ และใช้สารอาหารบนตัวหนอนเพื่อเจริญเติบโต และสร้างเส้นใยยนอัดแน่นและทะลุออกมาเป็นเส้นยาวๆ อย่างที่เห็นในช่วงหน้าร้อน
นอกจากราแมลงแล้วยังมีราชนิดอื่นๆ อีก เช่น ราทะเล (Marine Fungi) ที่สามารถสังเคราะห์สารประกอบบางอย่างให้ช่วยทนความเค็มของน้ำทะเลได้ และจัดเป็นราชั้นสูง พบอยู่ทั่วโลกกว่า 550 ชนิด ขณะที่ในไทยพบประมาณ 160 ชนิด ราเอนโดไฟท์ (Endophytic Fungi) เป็นราที่เจิรญเติบโตตามส่วนต่างๆ ของพืชที่มีความสมบูรณ์ อาทิ กิ่ง ลำต้น และใบ โดยไม่ก่อโรคใดๆ ราย่อยสลายไม้ เป็นราที่สร้างเอนไซม์ย่อยสลายไม้ได้ พบในป่าที่อุดมสมบูรณ์ ตามขอนไม้ ดิน และมูลสัตว์ เป็นต้น