เพราะเชื่อว่าช่วยบำรุงสมรรถนะทางเพศ “ถั่งเช่า” ยาจีนชั้นดีจึงมีราคาสูงลิบลิ่ว แต่ยาที่เก็บมาจากหุบเขาหิมะนี้แท้จริงแล้วคือ “เชื้อรา” ที่อาศัยร่างตัวหนอนดำรงชีวิต ซึ่งในไทยมีราแมลงอยู่หลายชนิด และนักวิจัยกำลังศึกษาพร้อมเก็บตัวอย่าง ซึ่งพบว่าราบางชนิดมีสารออกฤทธิ์ที่กำจัดศัตรูพืชได้
การวิจัย “ราแมลง” (Insect Fungi) เกิดขึ้นในไทยมาประมาณ 15 ปีแล้ว โดย ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าถึงที่มาให้แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังว่า เกิดจากการชักนำของ ดร.ไนเจล โจนส์ (Dr.Nigel L.H. Jones) ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในเรื่องราแมลงให้ความเห็นว่าเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพน่าจะมีราประเภทนี้อยู่มาก
ทั้งนี้ “ถั่งเช่า” คือราแมลงสายพันธุ์ คอร์ไดเซพ ซินเอนซิส (Cordyceps sinensis) ที่ขึ้นบนหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง เชื้อราจะฝังสปอร์บนตัวหนอนในช่วงฤดูหนาวของแถบภูมิประเทศจีนและภูฏานที่ปกคลุมด้วยหิมะ และใช้สารอาหารบนตัวหนอนเพื่อเจริญเติบโต และสร้างเส้นใยยนอัดแน่นและทะลุออกมาเป็นเส้นยาวๆ อย่างที่เห็นในช่วงหน้าร้อน
สำหรับเมืองไทย ดร.มรกต กล่าวว่ามีคลังเก็บตัวอย่างราแมลงอยู่ที่ สวทช. แต่ไม่มีราแมลงชนิดใดของไทยเหมือนราแมลงถั่งเช่า ซึ่งเจริญเติบโตในที่หนาว และคงไม่มีโอกาสที่จะพบราแมลงแบบถั่งเช่า เพราะเป็นเชื้อราที่พบในที่อากาศเย็นจัด แต่ในเมืองไทยมีผู้นำเชื้อราถั่งเช่ามาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้ออยู่ที่ จ.อ่างทองและนำออกมาจำหน่าย แต่ลักษณะของเชื้อราดังกล่าวจะไม่เหมือนที่เติบโตในแมลงซึ่งจะเห็นเป็นเส้นยาวๆ
หากแต่ถั่งเช่าเป็นราที่เติบโตบนแมลงเช่นกัน ทีมวิจัยจึงคาดว่า ในราแมลงของไทยก็น่าจะมีสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ และจากการศึกษาพบว่า เชื้อราบริวเวเรีย (Beauveria) ชนิดหนึ่งที่พบในไทยนั้นมีสารออกฤทธิ์ควบคุมศัตรูพืชอย่าง เพลี้ยแป้งสีชมพูศัตรูของมันสำปะหลังและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลศัตรูของข้าว และยังพบราแมลงอีกหลายชนิดที่มีสารออกฤทธิ์
นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งได้แห่บูชา “ว่านจั่กจั่น” ซึ่งจากการตรวจสอบและเปิดเผยโดย ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัยห้องปฏิบัติการราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.ระบุว่า เป็นเพียงจักจั่นที่ติดเชื้อราแมลงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อราสปีชีส์ คอร์ไดเซพ โซโบลิเฟอรา (Cordyceps sovolifera) ที่เคยมีรายงานการค้นราแมลงบนตัวจักจั่นมาก่อนหน้านั้นแล้ว
อ้างตามข้อมูล ดร.สายัณห์ ซึ่งเคยให้ไว้ระหว่างคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับว่านจักจั่นเมื่อปี 2552 ว่ามีการค้นพบราที่เจริญเติบโตบนจักจั่นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น ทีมวิจัยไบโอเทคพบราแมลงที่เจริญเติบโตบนจักจั่นในเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2544 ระหว่างการสำรวจที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเมื่อนำมาสกัดสารสำคัญแล้วทดสอบหาสารออกฤทธิ์ พบว่าราแมลงดังกล่าวมีสารบางอย่างที่มีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย และได้ตั้งชื่อสารดังกล่าวว่า คอร์ไดไพริโดเนส เอ-ดี (Cordypyridenes A-D) โดยไบโอเทคได้รวบรวมตัวอย่างราแมลงของไทยไว้กว่า 40,000 สายพันธุ์
ส่วน ดร.โจนส์ผู้บุกเบิกให้ไทยทำวิจัยเรื่องราแมลงนั้นได้ทำงานเป็นนักวิจัยไบโอเทคระยะหนึ่ง และได้รับเชิญจากรัฐบาลภูฏานไปสำรวจราแมลงหรือ “ยาซ่ากุมบ้า” ชื่อในภาษาถิ่นภูฏาน โดยเดินเท้าขึ้นไปสำรวจบนภูเขาที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 5,000 เมตร และพบราแมลงกว่า 10 ล้านหน่อ แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญต่างชาติผู้ได้นี้ลาออกจากไบโอเทคแล้ว