ปกติถั่งเช่าที่ต้องดั้นด้นไปหาบนยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะในทิเบตนั้น จะเติบโตภายในตัวหนอน แต่ผลจากการศึกษาวิจัยตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ทำให้ “มารุต สงวนแก้ว” ค้นพบว่า แท้จริงแล้ว “เห็ดรา” ที่เชื่อว่าเป็นยาวิเศษนี้ก็สามารถเติบได้บนเม็ดข้าวที่หาได้ง่าย แล้วยังประหยัดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงได้อีกมากโข
หลังจากเรียนจบชีววิทยาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม “มารุต สงวนแก้ว” ในวัย 24 ปี ก็ก้าวสู่เส้นทางธุรกิจ โดยอาศัยความรู้ที่สั่งสมมาจากการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองในระดับปริญญาตรีมาสร้างอาชีพ ซึ่งเขาเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้ทดลองเพาะเห็ดราที่มีคุณสมบัติทางยานี้มาตั้งแต่เรียนปี 3 จนได้วิธีช่วยลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงได้
มารุตให้ข้อมูลว่าถั่งเช่าที่มีจำหน่ายในท้องตลาดนั้นมี 2 ประเภท คือ ถั่งเช่าทิเบต ที่ต้องไปเก็บจากธรรมชาติบนยอดเขาทิเบตที่มีหิมะปกคลุม และเป็นเห็ดราที่เติบโตบนตัวหนอน มีสีออกโทนน้ำตาลดำ ซึ่งมีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง โดยอาจมีราคาแพงถึงกิโลกรัมหนึ่งขายกันในหลักล้านบาท และถั่งเช่าสีทอง ซึ่งสามารถเพาะเลี้ยงได้ โดยในไต้หวันมีการเพาะจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้มาถึงเมืองไทย
ปัจจัยสำคัญในการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าจากประสบการณ์ของมารุตคือ 1.มีต้นเชื้อที่แข็งแรง 2.ให้สารอาหารครบถ้วน และ3.ควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งเรื่องแสง อุณหภูมิและความชื้น โดยให้ความสำคัญกับต้นเชื้อมากที่สุด เพราะเมื่อได้เชื้อที่แข็งแรงแล้วสามารถเพาะเลี้ยงในอะไรหรือให้สารอาหารอะไรก็ได้
มารุตเคยทดลองเพาะเลี้ยงถั่งเช่าในแมลงต่างๆ 4 ชนิด คือ ตั๊กแตน จิ้งหรีด ดักแด้ไหมและกะชอน ขณะที่เพื่อนร่วมชั้นทดลองเพาะเลี้ยงถั่งเช่าในเมล็ดข้าวชนิดต่างๆ แล้วเปรียบผลการทดลองกัน ซึ่งพบว่าสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเช่าได้ในเมล็ดเช่า เขาจึงเบนเข็มมาเพาะเลี้ยงถั่งเช่าในเมล็ดข้าวที่หาได้ง่าย ราคาถูกกว่าแมลง อีกทั้งโดยส่วนตัวเขาไม่ปลื้มกับการทดลองในแมลงเท่าไรนัก
ส่วนสารอาหารที่สำคัญสำหรับเพาะเลี้ยงถั่งเช่าคือ น้ำตาล เปปโตน (โปรตีนสกัด) ยีสต์ โพแทสเซียม แมกนีเวียม และวิตามินบี 1 ซึ่งสูตรอาหารที่จำเป็นดังกล่าว มารุตเผยว่าได้จากการอ่านเอกสารวิชาการต่างประเทศ แล้วลองกำหนดรายงานสารอาหารที่จำเป็นต่างๆ และพบว่าสารอาหารราคาที่ต้องนำเข้าบางอย่างสามารถทดแทนได้ด้วยของต้นทุนถูก เช่น ไธอามีน (Thiamine) สามารถทดแทนได้ด้วยวิตามินบี 1 อัดเม็ดที่จำหน่ายในราคาไม่กี่บาท เพราะเป็นสารอาหารชนิดเดียวกัน เป็นต้น
มารุตบอกอีกว่า ตั้งใจเพาะถั่งเช่าให้มีคุณสมบัติทางยาสูงๆ ซึ่งผู้เพาะถั่งเช่าแต่ละรายอาจมีความต้องการไม่เหมือนกัน บางรายอาจเพาะให้ได้ถั่งเช่าที่มีรูปร่างสวย แต่คุณมบัติทางยาน้อยหน่อย หรือบางรายเพาะถั่งเช่าออกมาได้รูปร่างไม่สวยงาม แต่มีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญในปริมาณมาก โดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญที่พบในถั่งเช่าสีทอง คือ คอร์ดีเซปิน (Cordycepin) ที่เพิ่งพลังงานให้ร่างกาย บำรุงระบบทางเดินหายใจ เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนโลหิต ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และต้านเนื้องอก และกรดคอร์ดิเซปิค (Cordycepic Acid) กับอะดีโนซีน (Adenosine) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
“เรื่องคุณสมบัติของถั่งเช่านี่เข้าใจผิดกันเยอะ ความจริงไม่มีสารตัวไหนช่วยเรื่องสมรรถภาพทางเพศ เพียงแต่อาจเป็นผลพลอยได้แค่นั้นเอง จากที่เราดูสารอาหารที่ตรวจวัดได้ บอกแค่ว่าช่วยบำรุงเรื่องเลือด เพราะฉะนั้นผมว่าเรื่องสมรรถภาพทางเพศเป็นผลข้างเคียงมากกว่า ส่วนนี้เป็นเรื่องความเชื่อ แต่ว่าถามว่าเห็นผลไหม ก็เห็นผลนะครับ เพียงแต่อาจจะไม่เห็นผลทันใจในทุกคน ขึ้นอยู่กับสภาพแต่ละคนด้วย ผมก็กินอยู่เป็นปกติ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพทางร่างกายของคนเราด้วยว่าป่วยน้อย ป่วยมาก ยังเป็นวัยรุ่นหรือว่าสูงอายุ ซึ่งเห็นผลช้า-เร็วต่างกัน” มารุตให้ความเห็น
พร้อมกันนี้ มารุตยังบอกถึงเหตุผลที่เขากันมาเพาะถั่งเช่าว่า โดยส่วนตัวสนใจในเรื่องเห็ด แต่เห็ดกินได้ทั่วไปก็มีคนทำมากอยู่แล้ว จึงอยากทำในสิ่งที่เพิ่มมูลค่าได้สูงขึ้น จึงหันมาจับในเรื่องเห็ดที่มีคุณสมบัติเป็น ป้องกันหรือรักษาโรค ซึ่งเมื่อผนวกกับความต้องการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่มีความนิยมมากขึ้น ก็น่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่เห็ดทางยาที่เขาเพาะขึ้นได้
เส้นทางอาชีพของมารุตเป็นอีกตัวอย่างสำหรับผู้ที่ศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่นำความรู้จากการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังระหว่างศึกษามาสร้างอาชีพให้แก่ตัวเอง