xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตที่ต้องวางแผน บนเส้นทางสายวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงนี้น้องๆ ม.ปลายบางคนได้ที่เรียนต่อแล้ว บางคนยังรอยื่นคะแนน แต่เชื่อว่ามีหลายคนสนใจคณะวิทยาศาสตร์ ส่วนจะเลือกเพราะรัก เลือกเพราะหลง (เข้าไป) ก็ตาม สิ่งสำคัญคือน้องๆ มั่นใจว่ารักวิชาชีพนี้ และวางแผนกับชีวิตของตัวเองในวันข้างหน้าไว้แล้วหรือยัง?

“คณะวิทยาศาสตร์เข้าง่าย แต่จบด้วยเกรดสวยๆ ยาก แถมงานก็ไม่ค่อยมี เงินเดือนก็น้อย เรียนไปก็ไม่คุ้มเหนื่อย เลือกเรียนอย่างอื่นเถอะ” .... นายปรี๊ดโลกไม่สวยและยอมรับเลยว่า “มันเป็นความจริง!”

ตำแหน่งงานที่ตรงสาย ทำงานในห้องปฏิบัติการ ได้มีโอกาสสร้างงานวิจัยเพื่อประเทศชาติ อาจจะเป็นเพียงภาพฝันที่มีคนไปถึงจุดนั้นได้ไม่มาก แต่เอาเถอะ...ถ้าน้องๆ มีใจรักและอยากเรียนวิทยาศาสตร์จะทำยังไง? คำตอบจากประสบการณ์ คือ “ต้องเปิดตาให้กว้าง สำรวจความสนใจ พัฒนาตนเอง และวางแผนชีวิตให้ดี” เพราะอย่างน้อยที่สุดนายปรี๊ดเชื่อว่า หากเราเลือกทำสิ่งที่ถนัดที่สุด เส้นทางเฉพาะของเราจะเปิดรอเสมอ

“ต้องเปิดตาและเปิดใจ” แม้ประเทศไทยไม่ใช่ผู้สร้างนวัตกรรมแล้วจะมีงานอะไรให้ทำ? นั่นอาจถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะแม้จะไม่ได้ขายนวัตกรรม แต่เราเป็นฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมานาน และน่าจะเป็นต่อไปอีกนาน (ตราบใดที่การเมืองไม่พาพวกเราลงเหวไปเสียก่อน)

ในระบบอุตสาหกรรมนักวิทยาศาสตร์จึงมีหน้าที่ทำงานควบคู่กับวิศวกรไม่ต่างจากแพทย์และพยาบาล โดยเฉพาะด้านการควบคุมผลิตภัณฑ์ (QC) และการวิจัยเพื่อพัฒนา (R&D) ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ และวิศกรภาคเอกชนจำนวนมากทำงานห้องนอกโรงงาน บางครั้งต้องไปนำเสนอผลงานวิชาการร่วมกับนักวิจัยในองค์กรรัฐ และอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะหน่วยงานภาครัฐเองก็มีนโยบายผลักดันตนเองเป็นองค์กรมหาชน เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รับการการเปิด AEC เป็นหนึ่งข้อพิสูจน์ว่า กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์มีความสำคัญและมีต้องการมากขึ้นในอนาคต เพื่อนนายปรี๊ดหลายคนที่เป็นนักวิจัยในบริษัทเอกชนได้รับทุนไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอก เพื่อกลับมารับผิดชอบด้านงานวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะ

ความได้เปรียบของประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเป็นศูนย์กลางการผลิตกำลังคนในตลาดเปิดใหม่ อย่าง พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา คณะวิทยาศาสตร์บางหลักสูตรอย่าง “คณิตศาสตร์ประกันภัย” จึงเป็นหลักสูตรยอดนิยมของนักศึกษาต่างชาติ

ส่วนนักสำรวจแร่ที่เรียนจบภาควิชาธรณีก็เป็น “อาชีพส่งออก” และมีรายได้สูงมาก ยังไม่รวมถึงภาคงานบริการ การศึกษา การเกษตร ฯลฯ ที่คนจบวิทยาศาสตร์สามารถเข้าไปทำงานได้ทุกภาคส่วน ขึ้นอยู่กับโอกาสและความสามารถส่วนตัว

การเปิดตาเปิดใจเตรียมตัวรับโอกาสใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่น้องๆ ต้องทำความเข้าใจ เตรียมตัว และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

“ชื่อเสียงของสถาบันและคุณภาพของหลักสูตร” เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่น้องๆ และผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจ และตีโจทย์ให้แตก

ในอดีตอาจารย์ในคณะวิทยาศาสตร์มีน้อยมาก เพราะเมื่อ 40-50 ปีก่อน มีคนเรียนวิทยาศาสตร์จำนวนเท่าหยิบมือ จึงมีอาจารย์วิทยาศาสตร์จำกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยรัฐเพียงไม่กี่แห่ง แต่ในปัจจุบันอาจารย์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถสูงจำนวนมากเลือกทำงานในมหาวิทยาลัยภูมิภาค เพราะก้าวหน้าเร็วและมีค่าครองชีพต่ำกว่า ส่วนสถาบันเองก็ต้องแข่งขันในเรื่องตัวเลขการได้งานของบัณฑิต จึงต้องมีการวางวิสัยทัศน์ให้หลักสูตรมีผลสำเร็จสูง ส่งผลให้เกิดหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ของท้องถิ่น ต้องเชิญผู้ประกอบการมาเป็นกรรมการ เพื่อติดตามความต้องการกำลังของสังคมที่เปลี่ยนไป

บางหลักสูตรมีแบบเรียนหนึ่งได้ถึงสอง จบมาได้ 2 วุฒิ บางหลักสูตรก็รองรับทุนการศึกษาภาคเอกชนโดยตรง เช่น มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใกล้นิคมอุตสาหรกรรมต่างๆ มักจะมีทุนการศึกษาและบรรจุตำแหน่งงานให้นักศึกษาที่เรียนดี ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบแลกกับการฝึกงานในบริษัทนั้นๆ ในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถตรวจสอบได้จากรายวิชาที่จะได้เรียนตามหลักสูตร และทิศทางการทำวิจัยของคณาจารย์ตามเว็บไซด์ของภาควิชา หรือเข้าไปสอบถามด้วยตนเอง

“สำรวจความสนใจตนเอง” ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เผยว่าคนเรียนจบวิทยาศาสตร์ถึง 1 ใน 3 ไม่ได้ทำงานตรงสายตามที่เรียนมา แต่นายปรี๊ดคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเราต้องกิน ต้องใช้ การเลือกอาชีพที่ถนัด และมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมไม่ใช่เรื่องแปลกเลย

คนที่สนใจคณะวิทยาศาสตร์จึงต้องยอมรับในข้อนี้และสำรวจความสนใจตนเองอยู่ตลอด เพราะทำงานไม่ตรงสายอาจฟังดูโหดร้าย แต่มองให้ดีก็กลายเป็นข้อได้เปรียบ เพราะเราไม่ได้ถูกกำหนดให้ทำงานเพียงอย่างเดียว แต่การเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ฝึกให้เรามีกระบวนคิด มีทักษะการทำงานเป็นระบบ และมีความคิดสร้างสรรค์ จึงสามารถทำงานได้เกือบทุกอาชีพความถนัดและโอกาส

เพื่อนพี่น้องคณะวิทย์ที่เรียนมากับนายปรี๊ดมี ไม่มีใครตกงานและมีอาชีพที่หลากหลายมาก ครึ่งหนึ่งเลือกเรียนต่อถึงปริญญาโทหรือเอก เพื่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ครู นักวิจัยในองค์กรรัฐ และเอกชนตามสาขาที่เรียนมา นอกจากนั้นมีอาชีพ ผู้แทนสโมสรฟุตบอล ผู้ประสานงานองค์กรระหว่างประเทศ นายธนาคาร นักสำรวจแร่ นักเขียนนักแปล ผู้แทนบริษัทยา นักตรวจสอบอัญมณี ช่างภาพ ดีเจ พนักงานอุทยาน เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง เจ้าของ ร.ร.อนุบาล ร้านดอกไม้ บาริสตาร้านกาแฟ เชฟ แอร์โฮสเตส เจ้าหน้าที่วิทยุการบิน เจ้าของอู่ซ่อมรถ นักบัญชี นักสังคมสงเคราะห์ ไปจนถึงหัวหน้าคณะคาบาเรต์ ฯลฯ ทุกคนมีความก้าวหน้า เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้สบาย

“แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเองชอบอะไร หรือสนใจอะไร?” นายปรี๊ดมีข้อแนะนำว่า วิธีหนึ่งที่ใช้ได้ดี คือ “โซเซียล เน็ตเวิร์ก” ซึ่งนายปรี๊ดเองก็ใช้ค้นหาความสนใจตั้งแต่สมัย “โปรแกรม ICQ” (ใครเกิดไม่ทันให้นึกถึง MSN Chat) ในสมัยนั้นคนใช้โซเซียล เน็ตเวิร์กน้อยมาก เพราะคอมพิวเตอร์ยังเข้าถึงยาก ส่วนมากจะเป็นคนที่ต้องคลุกคลีกับเทคโนโลยี ซึ่งก็คือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นี่แหละ

นายปรี๊ดส่งคำขอไปคุยกับพี่ๆ นักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา บางคนทำงานในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ อยู่ในศูนย์วิจัยแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย นักศึกษาวิทยาศาสตร์ทางทะเล และนักเคมีในอเมริกา ทุกคนให้ข้อมูลเป็นอย่างดี เทคโนโลยี ถ้าใช้เป็นก็สร้างประโยชน์ต่อตนเองได้มาก

“การเข้าค่าย ฟังบรรยาย การประกวด หรือกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ เป็นวิธีเริ่มต้นที่ดี” ปัจจุบันมีกิจกรรมต่างๆ มากมายที่ให้น้องๆ เลือกเข้าร่วม ทั้งที่จัดโดยนักศึกษาจากภาควิชาต่างๆ องค์กรรัฐ และเอกชนก็จัดแทบทุกหน่วยงาน แต่เท่าที่เจอด้วยตนเอง นักเรียนม.ปลายส่วนมากไม่ค่อยใช้โอกาสนี้ในการสำรวจตนเอง หรือสอบถามวิถีชีวิตการทำงานของผู้ใหญ่ที่ได้พบเจอ ควรเข้าใจว่าโดยทางอ้อมแล้ว การจัดกิจกรรมประเภทนี้ถือเป็นการประชาสัมพันธ์หน่วยงานและแนะแนวการศึกษาวิธีหนึ่ง ไหนๆ เราก็ได้เข้าถ้ำเสือ บุกถึงตัวคนทำงานแล้ว น่าจะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ในการสำรวจตนเอง และศึกษาว่าวิชาชีพต่างๆ เค้าทำอะไรกันบ้าง ก่อนตัดสินใจรับทุนเรียนวิทยาศาสตร์

นายปรี๊ดเคยขอฝึกงานในโรงพยายาบาล ตามข้อกำหนดของคนที่จะสอบคณะแพทย์ในสมัยนั้น เพื่อเรียนรู้การทำงานของแพทย์ หลังฝึกงาน นายปรี๊ดบอกตัวเองว่า “ถ้าให้เรียนหมอ ขอตายดีกว่า” เพราะเป็นชีวิตที่ “ไม่ใช่” เลย หลังจากนั้นก็บุกไปนั่งคุยกับพี่ๆ ที่คณะ สัตวแพทย์และวิทยาศาสตร์ ว่าพี่เค้าเรียนอะไรกันบ้าง จบมาทำงานลักษณะไหน ต้องมีชีวิตยังไงในอนาคต จนสุดท้ายก็เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะนายปรี๊ดเชื่อว่า การทำงานที่ถนัดน่ามีความสุขที่สุดในระยะยาว

“พัฒนาตนเองและวางแผนให้ดี” มีผู้ใหญ่หลายท่านในวงการการศึกษาและวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันว่า การแยกสายศิลป์และสายวิทย์ แบบไทยๆ นั้นล้าหลังมาก เพราะทำให้นักเรียนมีทักษะไม่รอบด้าน นายปรี๊ดเห็นด้วยเต็มที่ และคิดว่าคนที่มีทักษะความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม และภาษานั้นเอาตัวรอดและโดดเด่นได้ในทุกสายอาชีพ เพราะ “วิทยาศาสตร์คือชีวิต” ไม่มีการแบ่งก้อนเหมือนวิชาที่เรียนในห้องเรียน ระบบการศึกษาแบบคนแพ้คัดออก ความรู้จำสอบแล้วพ่นทิ้ง ส่งผลเสียในระยะยาว และมักไม่ค่อยมีคนใส่ใจ สุดท้ายเมื่อเรียนจบต้องทำงานจริงๆ ไม่มีวิชาอะไรที่เรา “ทิ้งได้”

เพื่อนและรุ่นน้องของนายปรี๊ดหลายคนวางแผนดีมากในเรื่องการเรียน และการพัฒนาด้านภาษา จนในปัจจุบันมีรายได้สูงจาก “โกอินเตอร์” ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติ หรือทำงานวิจัยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะทางภาษาสูง

“ยิ่งเก่งยิ่งต้องวางแผน” ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ “การเป็นนักเรียนทุน” มีคนเก่งระดับหัวกะทิจำนวนมากเลือกรับทุนเข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อหวังโอกาสเรียนต่อ ไปต่างประเทศ หรือตำแหน่งทำงาน แต่หากไม่วางแผนและไม่สำรวจตัวเองให้ดี “ทุนการศึกษาคือกับดักเวลา” ต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจเลือก หากเรียนแล้วชอบ มีความสุข ชีวิตก็จะมีโอกาสดีๆ เข้ามาให้เลือกตลอด

แต่ในมุมมืดของนักเรียนทุนที่ไม่ค่อยถูกเปิดเผย คือ คนที่เรียนๆ ไป แล้วเกิดไม่ชอบขึ้นมา อยากเปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่น หรือสาขาอื่นแต่ทำไม่ได้เพราะ “ผิดข้อสัญญาทุน และต้องชดใช้เงิน” จนทำให้หลายคนต้องเจ็บปวด ทนเรียนไปจนจบปริญญาโท หรือเอก ซ้ำร้ายยังต้องทนใช้ทุนต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 เท่าของจำนวนปีที่รับทุน นั่นก็แปลว่าอาจจะต้องทำใจตั้งหน้าใช้ทุนไป 10-15 ปี จนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีนักเรียนทุนจำนวนหนึ่ง “หนีทุน” คือยอมชดใช้เงิน หรือไม่ก็หายตัวไปเฉยๆ จนเป็นคดีฟ้องร้องกันหลายราย

แม้ชีวิตของคนที่เรียนคณะวิทยาศาสตร์อาจต้องเดินบนเส้นทางที่มีแต่หนามแหลม ไม่ได้เห็นกลีบกุหลาบ แต่ไม่แน่ว่าใต้ขวางหนามอาจเป็นบ่อน้ำมันดิบ แต่เราต้องเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองเพื่อหาวิธีขุดเจาะขึ้นมาใช้ประโยชน์ กลีบกุหลาบก็กลีบกุหลาบเถอะ..ปูหนาไปก็เกะกะ ที่สำคัญผู้ปกครองต้องเข้าใจ มั่นใจ และให้กำลังใจ หากน้องๆ จะเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองด้วยการเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะถ้ารักจริง ถนัดจริง ชีวิตไม่อับจนหนทางแน่นอนครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น