xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 28เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน หลังปัจจัยลบรุมกระหน่ำ ทั้งการเมืองป่วน ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชาวนาประท้วงทวงเงินจำนำ แบงก์ชาติปรับเป้าเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นตก บาทอ่อน ค่าครองชีพพุ่ง เผยธุรกิจห่วงปัญหาการเมืองมากที่สุด ชี้ 60% ได้รับผลกระทบแล้ว

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนม.ค.2557 จากการสำรวจประชาชน 2,253 ราย ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือนนับจากเดือนธ.ค.2554 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภครวม เท่ากับ 71.5 ลดจาก 73.4
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน เท่ากับ 56 ลดจาก 57.4 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต เท่ากับ 76.4 ลดจาก 78.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 61.4 ลดจาก 63.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานเท่ากับ 65.1 ลดจาก 66.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เท่ากับ 88.1 ลดจาก 90.3

สาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง มาจากปัจจัยสำคัญ คือ ความกังวลต่อการชุมนุมการเมืองและการเปิดสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กระทบต่อความเชื่อมั่น การบริโภค การท่องเที่ยวลดลง และกระทบต่อภาพลักษณ์ไทยในสายตาต่างชาติ และยังมีปัญหาการเมืองไม่มีเสถียรภาพ แม้จะมีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ชาวนาเดือดร้อนจากการยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว ทำการลดการบริโภคและหนี้สินเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือ 3% จาก 4% เพราะปัญหาการเมือง ตลาดหุ้นตกต่ำ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง การส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ความกังวลต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงการแค่คงอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายไว้ที่ 2.25% และราคาน้ำมันในประเทศทรงตัว

ทั้งนี้ ความไม่เชื่อมั่นที่เกิดขึ้น ทำให้กระทบต่อการซื้อรถยนต์ ซื้อบ้านหลังใหม่ การท่องเที่ยว และการลงทุนที่ปรับตัวลดลง และทำให้ดัชนีความสุขในการดำรงชีวิตต่ำสุดในรอบ 93 เดือน ดัชนีภาวะค่าครองชีพต่ำสุดในรอบ 43 เดือน ดัชนีความเห็นต่อปัญหายาเสพติด ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน และดัชนีความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองต่ำสุดในรอบ 44 เดือน
ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง ผลสำรวจการชุมนุมต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ จากกลุ่มตัวอย่าง 707 ราย ระหว่างวันที่ 27 ม.ค.-3 ก.พ.2557 ว่า ธุรกิจ 60% ได้รับผลกระทบระดับปานกลางถึงมากสุด อีก 20% กระทบน้อย และ 20% ไม่กระทบเลย โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากการที่ยอดขายลดลง กำไรลดลง ต้นทุนสูงขึ้น สภาพคล่องทางธุรกิจแย่ลง และยอดสั่งซื้อลดลง โดยภาพรวมธุรกิจ เห็นว่าจะสามามารถประคองธุรกิจได้นานสุด 4.6 เดือน แยกเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีประคองตัวได้ 4.4 เดือน ขนาดกลาง ประครองได้ 4.5 เดือน ธุรกิจใหญ่ ประคองได้ 5.1 เดือน

ส่วนปัญหาที่เห็นว่าหนักที่สุดต่อภาคธุรกิจในขณะนี้ ได้แก่ สถานการณ์การเมือง รองลงมา คือ เศรษฐกิจชะลอตัว และความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อไทยลดลง โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข ต้องการให้ช่วยลดต้นทุน ลดดอกเบี้ย และหาตลาดให้เอสเอ็มอี ทั้งนี้ หากปัญหาการเมืองไม่คลี่คลายภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 2% จากเดิมคาดไว้ 3.4%
กำลังโหลดความคิดเห็น