xs
xsm
sm
md
lg

ม.หอการค้าไทยชี้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 26 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค.ลดลงทุกรายการ ต่ำสุดรอบ 26 เดือน ชี้เกี่ยวเนื่องเหตุชุมนุมทางการเมือง เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2557 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทย และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและรายได้ของผู้บริโภคในอนาคต

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนมกราคมอยู่ที่ 61.4 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2556 ซึ่งอยู่ที่ 63.2 ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนถึงผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจปัจจุบันเดือนมกราคมปรับตัวลดลงอยู่ที่ 53.8 ลดลงจากเดือนธันวาคมที่อยู่ที่ระดับ 55.4 ต่ำสุดในรอบ 23 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 69.0 ลดลงจากเดือนธันวาคมที่อยู่ที่ 71.1 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 55 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับ 65.1 ลดลงจากเดือนธันวาคมซึ่งอยู่ที่ 66.7 ลดลงต่อเนื่อง 10 เดือน ต่ำสุดในรอบ 25 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำในปัจจุบันเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับ 58.2 ลดลงจากเดือนธันวาคมซึ่งอยู่ที่ 59.5 ต่ำสุดในรอบ 20 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโกคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำใน 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 72.0 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2556 ซึ่งอยู่ที่ 73.9 ต่ำสุดในรอบ 45 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553

นางเสาวนีย์คาดว่า การบริโภคของประชาชนยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนถึงปลายไตรมาส 2 ปี 2557 เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและคาดว่าจะดีขึ้นเมื่อสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อใด เพราะผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองไทย รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมถึงค่าครองชีพที่ทรงตัวระดับสูง ด้านดัชนีความเหมาะสมซื้อรถยนต์คนใหม่ เดือนมกราคมปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 22 เดือน โดยดัชนีเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับ 97.3 ต่ำสุดในรอบ 23 เดือน นับตั้งแต่มีนาคม 2555

ส่วนดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่เดือนมกราคม 2557 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 มาอยู่ที่ 63.2 ต่ำสุดในรอบ 103 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวลดลงเป็นเดือนที่ 10 อยู่ที่ระดับ 75.9 ต่ำสุดในรอบ 55 เดือน นับตั้งแต่กรกฎาคม 2552 ดัชนีความเหมาะสมในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี เดือนมกราคม 2557 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 อยู่ที่ระดับ 66.0 ต่ำสุดในรอบ 103 เดือน นับตั้งแต่กรกฎาคม 2548

ด้านดัชนีความสุขในการดำรงชีวิต ม.ค. 57 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 67.6 ต่ำสุดในรอบ 93 เดือน นับตั้งแต่พฤษภาคม 2549 เนื่องจากกังวลสถานการณ์การเมืองและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรายได้ในอนาคตและการดำเนินชีวิต คนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 51.8 ว่าปัจจุบันมีความสุขในการดำรงชีวิตระดับปานกลาง สำหรับดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองเดือนมกราคมลดลงอยู่ที่ระดับ 43.0 ลดลงจากเดือนธันวาคมอยู่ที่ 55.0 ต่ำสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่ มิ.ย. 53 ประชาชนเห็นว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 59.1 เห็นว่าแย่และขาดเสถียรภาพ โดยคาดหวัง 3 เดือนข้างหน้ายังจะแย่และมีปัญหาต่อไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น