เพราะความนิยมน้ำมันพืชใสสะอาด จึงมีกระบวนการฟอกเอาสารสำคัญที่มีคุณค่าและราคาแพงอย่างวิตามินอีและแคโรนอยด์ทิ้งไป อีกทั้งยังกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นักวิจัยจาก มช.จึงพัฒนาเครื่องจักรเพื่อสกัดเอาสารดังกล่าวออกมา และกำลังเดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรมต้นแบบ
รศ.ดร.พัชรินทร์ ระวียัน คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ในน้ำมันปาล์มนั้นมีสารสำคัญอย่างวิตามินอีและแคโรนอยด์ที่สามารถนำไปประยุกต์ในอุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน โดยวิตามินอีนั้นเป็นส่วนในเครื่องสำอางหลายประเภท เช่น ลิปสติก ครีมบำรุงผิว และยังใช้เป็นอาหารเสริมหลายชนิด รวมถึงแคโรนอยด์ที่มีสีส้มแดงถูกนำไปประยุกต์ใช้เป็นสีผสมอาหาร ผสมในขนมขบเคี้ยวต่างๆ และยังใช้เป็นสีผสมในเครื่องสำอางอย่างแป้งตลับด้วย
ทว่าด้วยความนิยมน้ำมันที่ใสสะอาดทางผู้ผลิตจึงใช้ “ดินฟอก” ฟอกเอาสารสำคัญดังกล่าวออก และกลายเป็นของเหลือทิ้งที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและต้องหาทางกำจัด รศ.ดร.พัชรินทร์ และคณะ จึงได้พัฒนาเครื่องจักรที่สกัดแยกเอาวิตามินและแคโรทีนอยด์ออกจากน้ำมันปาล์ม โดยเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเครื่องจักรเดียวสามารถสกัดสารทั้งสองออกมาได้ และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจดสิทธิเครื่องจักรสกัดแคโรทีนอยด์ และกำลังพัฒนาเครื่องจักรสกัดวิตามินอีเข้มข้น
“ตอนนี้กำลังขยายกำลังการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรมเป็นโรงงานต้นแบบ ที่มีกำลังผลิต 100 ลิตรต่อรอบ ความยากของงานนี้คือเป็นเทคโนโลยีใหม่ และต้องพัฒนาให้เป็นเครื่องจักรที่มีราคาไม่สูง มีความเหมาะสมกับอุตสาหกรรมขนาดกลาง และซ่อมบำรุงโดยช่างในท้องถิ่นได้ ที่ผ่านมามีมาเลเซียและอินโดนีเซียที่พัฒนาเทคโนโลยีสกัดสารสำคัญสองชนิดนี้ แต่ยังไม่เคยเห็นงานวิจัยของคนไทยแบบเดียวกันนี้” รศ.ดร.พัชรินทร์กล่าว
ด้าน นพ.สิทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์มจากราคาลิตรละไม่กี่บาทขึ้นไปเป็นหลักร้อยและหลักพัน โดยสกัดออกไปเป็นน้ำมันสปาที่มีมูลค่าสูงถึงลิตรละ 400 บาท และสกัดเป็นน้ำมันอาหารเสริมที่มีมูลค่าลิตรละ 4,000 บาท แต่ยังอยู่ในระดับของงานวิจัย ซึ่งยังต้องพัฒนาต่อยอดสู้เชิงพาณิชย์ต่อไป
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดย วช.ได้จัดสรรงบประมาณ 90 ล้านบาท ภายใต้แผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน เรื่องปาล์มน้ำมัน ในปี 2556 โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ดูแลบริหารจัดการงบประมาณและคัดเลือกโครงการที่จะให้การสนับสนุนทุนวิจัย ซึ่งได้ดครงการที่คดว่ามีศักยภาพต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์จำนวน 12 โครงการ และเพิ่งมีการประชุมรายงานความก้าวหน้าของโครงการในรอบ 5 ปี ระหว่างวันที่ 17-18 มี.คง57 ณ โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.กระบี่