xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยโบราณคดี ขยายผลเส้นทางสู่ทวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สกว.-สกว.ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติศึกษาย้อนรอยโบราณคดี ขยายผลเส้นทางสู่เมืองทวาย นำวิธีการทางโบราณคดีร่วมกับเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีสื่อระยะไกลมาช่วยในการระบุตำแหน่งและตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดี ขยายผลการทำงานตามเส้นทางจากกาญจนบุรีถึงเมืองทวาย พม่า

พันเอก รศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ สังกัดสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หัวหน้าโครงการ “การศึกษาความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการระดับนานาชาติทางด้านโบราณคดีจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในการสำรวจทางโบราณคดี และการนำวิธีการด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีสื่อระยะไกลมาช่วยในการระบุตำแหน่งและตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดีให้กับผู้ปฏิบัติการด้านโบราณคดี และนักศึกษาระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย 3 แห่งในเมืองทวาย ณ เมืองโบราณทาการ่า ตอนเหนือของเมืองทวาย

นักวิชาการระดับนานาชาติทางด้านโบราณคดีที่เข้าร่วม ได้แก่ ศ.เอลิซาเบธ มัวร์ (Prof. Elizabeth Moore) มหาวิทยาลัยลอนดอน ศ.มาโมรุ ชิบายามา (Prof. Mamoru Shibayama) มหาวิทยาลัยเกียวโต และ รศ.สุรพล นาถะพินธุ มหาวิทยาลัยศิลปากรและเมธีวิจัยอาวุโส (สกว.) ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนักวิจัย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า

พันเอก รศ.ดร.สุรัตน์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลาย ก.พ.ที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของการขยายผลงานศึกษาข้อมูลวัฒนธรรมและสังคมสมัยโบราณในระเบียงวัฒนธรรมแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกของไทย และประเทศเพื่อนบ้าน คือ พื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ในเขต อ.ไทรโยค อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี และการสำรวจพื้นที่ตามเส้นทางจากเมืองกาญจนบุรีถึงเมืองทวาย และในพื้นที่บริเวณโดยรอบอาณาเขตเมืองทวาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และสอบทานกับแผนที่โบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

“ผลการศึกษา ณ ปัจจุบัน ได้ตรวจพบตำแหน่งสำคัญที่ระบุในแผนที่โบราณ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ตามแนวเส้นทางโบราณเปรียบเทียบกับแนวถนนปัจจุบันที่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการเดินทางผ่านเส้นทางนี้ โดยทีมวิจัยได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำการวิจัยร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมสหภาพพม่า SOAS, มหาวิทยาลัยลอนดอน และมหาวิทยาลัยเกียวโต ในการจัดกิจกรรมร่วมสำรวจ แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ การให้ความรู้แก่หน่วยงาน นักวิชาการ และเยาวชนของพม่า เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ความเห็น มุมมอง เพื่อนำมาสู่องค์ความรู้ที่แท้จริง”

ทั้งนี้ รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวว่าเพื่อผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยทวาย” (Dawei Research Center) อันจะนำไปสู่ความเข้าใจในประเทศเพื่อนบ้านและการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งโครงการได้เริ่มกิจกรรมในลักษณะนี้มาแล้ว 1 ครั้ง ด้วยการจัดประชุมและบรรยายทางวิชาการ ณ วิทยาลัย Pyay Field School of Archaeology เมือง Pyay สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เมื่อ 19-24 ส.ค.55 ที่ผ่านมา

“เมืองทวาย เป็นเมืองที่มีความรุ่มรวยด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี และงานศึกษาที่ผ่านมาบ่งชี้ว่ามีการเชื่อมโยงทางด้านการคมนาคมขนส่ง แหล่งที่ตั้งของชุมชนโบราณที่สำคัญในสมัยต่างๆ ในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และคาบสมุทรมลายา สะท้อนถึงรากเหง้าการดำรงอยู่ร่วมกันของผู้คนบนพื้นที่สุวรรณภูมิ การศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างนักวิจัยไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ต่อหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันตัวตนและรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน ตลอดจนการจัดกิจกรรมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้อันจะนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในอาเซียน” รศ.ดร.สุรัตน์ ระบุ

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว.ด้านยุทธศาสตร์การวิจัยเชิงพื้นที่ กล่าวว่า สำหรับทวายนั้นด้วยพื้นฐานทุนทางวัฒนธรรมที่มีทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมจึงน่าเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม ซึ่งงานวิจัยที่ สกว.ให้การสนับสนุนนี้จะช่วยเป็นส่วนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้คนในท้องถิ่นรับรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และนำมาต่อยอดในการจัดการท่องเที่ยวให้มีมิติที่กว้างขึ้นและยังประโยชน์ให้กับคนในท้องถิ่นได้มากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการศึกษาความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย พันเอก รศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ สังกัดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นหัวหน้าโครงการ ระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการศึกษาถนนโบราณจากเมืองพระนครถึงเมืองพิมาย ซึ่งเป็นโครงการระยะแรก ด้วยวิธีการศึกษาที่บูรณาการความรู้จากสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โบราณคดี มานุษยวิทยา เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับเทคโนโลยีสื่อระยะไกล และเป็นการทำงานร่วมกันของนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเฉพาะพื้นที่ ทั้งจากไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา โดยองค์การอัปสราที่เป็นผู้บริหารจัดการเมืองพระนคร-นครวัด นครธม

ในการดำเนินการระยะปัจจุบันมีบุคคลากรจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ Vietnamese Academy of Social Science (VAST) ประเทศเวียดนาม กระทรวงวัฒนธรรม สปป.ลาว และความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ และนักวิชาการนานาชาติ ทำให้เกิดทีมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ที่สามารถขยายผลการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้โครงการปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อศึกษาปัจจัยผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีร่องรอยหลักฐานความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างเด่นชัดจากการขยายเส้นทางคมนาคมตั้งแต่ในช่วงสมัยรัฐเริ่มแรกถึงพุทธศตวรรษที่ 22 จากหลักฐานวัตถุทางวัฒนธรรม อุตสาหกรรมโบราณซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ถึงการสืบทอดภูมิปัญญา เทคโนโลยีการผลิต มาถึงปัจจุบัน และนำผลของการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ผลการวิจัย ขยายเครือข่ายการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านการให้การศึกษาแก่เยาวชนในระดับภูมิภาค ด้านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ











กำลังโหลดความคิดเห็น