xs
xsm
sm
md
lg

ไทยติดท็อปท่องเที่ยวเมืองมรดกโลก อิโคโมสหนุนครีเอทีฟทัวร์ความสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการอิโคโมสลงพื้นที่เก็บข้อมูลเสนอยูเนสโก เผยแนวโน้มการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกเติบโตสูง ประเทศไทยตัวเลขพุ่ง 44% ระบุปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวในต่างประเทศจนเกิดความแออัดส่งผลให้ความสนุกของนักท่องเที่ยวลดลง แนะไทยจัดการแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างเป็นระบบ ต่อยอดสู่รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้เชี่ยวชาญนานาชาติด้านการท่องเที่ยววัฒนธรรมสุโขทัย ประจำปี 2556 หรือ ICTC 2013 (The International Cultural Tourism Committee Workshop and Sukhothai Cultural Tourism Expert Symposium 2013) เป็นการประชุมประจำปีของสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (The International Council on Monuments and Sites หรือ ICMOS) อิโคโมส ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 ณ จังหวัดสุโขทัย โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้แนวคิด “มรดกวัฒนธรรมมีชีวิต : การท่องเที่ยวสร้างสรรค์และชุมชนยั่งยืน ในมิติการศึกษา การสื่อความหมาย และการจัดการ”

นางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า เป้าหมายจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อพัฒนาพื้นที่มรดกโลกเมืองสุโขทัยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรม และเป็น “ต้นแบบ” การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และเพื่อศึกษาจัดการมรดกวัฒนธรรมที่ครอบคลุมทั้งมิติที่จับต้องได้และที่จับต้องไม่ได้ โดยใช้พื้นที่ชุมชนเชื่อมโยงแหล่งมรดกโลกเป็นพื้นที่ศึกษาสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการ เพื่อบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นายสิทธิศักดิ์ ปฐมวารี ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร อพท. กล่าวว่า “ผู้ประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญของอิโคโมสจากนานาประเทศรวมกว่า 30 คน และผู้ร่วมรับฟังรวมกว่า 100 คน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งส่วนกลาง ท้องถิ่น และประชาชนที่สนใจ โดยทุกคนได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริงในอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง และพื้นที่โดยรอบ

ผลจากการประชุม ICTC 2013 นี้ได้ให้แนวคิดการทำงานด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในเมืองมรดกโลก 3 แห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ด้วยรูปแบบครีเอทีฟทัวริสซึม โดยนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดด้วยวิธีบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้ความพร้อมและความต้องการของชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเป็นชุมชนเมืองมรดกโลกที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

**ท่องเที่ยวมรดกโลกของไทยโต 44%***
ดร.ทิม เคอติส หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า “แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก โดยมีจำนวนมากเกินหลักล้านคน ในส่วนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 ของจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้ ในกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกของ 4 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ กัมพูชา เกาหลี เวียดนาม และจีน มีการขายเป็นแพกเกจเดียวกันทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่จากคำบอกเล่าของนักท่องเที่ยวกล่าวว่า ความสนุกในการท่องเที่ยวนครวัด นครธมกลับลดลง เนื่องด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เบียดเสียด”

***นักท่องเที่ยวต้องการความสะดวกและเส้นทางเชื่อมโยง***
นายเปาโล เดล เบียงโก เจ้าของสถาบันการท่องเที่ยวเพื่อชีวิต (Life Beyond Tourism) ประเทศอิตาลี กล่าวว่า “ปัจจุบันการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ดูแลพื้นที่เมืองมรดกโลกต้องคำนึงถึงความสุขของประชากรในท้องถิ่นเป็นหลัก อย่าให้การเติบโตของการท่องเที่ยวในชุมชนทำให้คนท้องถิ่นที่แท้จริงต้องอพยพออกไป ดังนั้น ควรตั้งคำถามว่าการท่องเที่ยวให้อะไรแก่คนท้องถิ่นบ้าง? ไม่ว่าจะเป็นคุณค่า การพัฒนา และรายได้ ฉะนั้น การพัฒนาต้องทำภายใต้โจทย์ที่คนในท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจถึงคุณค่าเมืองมรดกโลก”

ทั้งนี้ ผลจากการลงพื้นที่สรุปได้ 2 เรื่องหลักที่นักท่องเที่ยวต้องการ คือ 1) ความเชื่อมโยงระหว่างโบราณสถาน โบราณวัตถุ กับวิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือที่เรียกกันว่า “ภูมิทัศน์วัฒนธรรม” (Cultural Landscape) ซึ่งสมควรต้องถ่ายทอดไปยังนักท่องเที่ยว และ 2) สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว

“เมืองสุโขทัยมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หากมีการจัดการที่ดีก็จะช่วยป้องกันปัญหาการทำลายได้ แผนการจัดการจึงมีความจำเป็นมาก ในต่างประเทศมีการทบทวนแผนทุก 5 ปี ทุกครั้งต้องมีนักโบราณคดี หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมในการวางแผนการจัดการด้วย ทางด้านการวางแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ ถ้านำเสนอประชาสัมพันธ์เรื่องวัฒนธรรมเป็นจุดหลักนักท่องเที่ยวที่สนใจด้านนี้ก็จะมา หากต้องการนำเสนอการท่องเที่ยวด้วยจักรยานก็ต้องนำเสนอสิ่งดึงดูดใจในระหว่างทางให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่อยู่ระหว่างเส้นทาง”

ผู้เชี่ยวชาญนำเสนอแนวคิดให้รวมเอาเรื่องเล่นกับการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน เช่น แทนที่จะมีการแสดงการร่ายรำในโรงแรม อาจเปลี่ยนเป็นการชวนให้นักท่องเที่ยวมาปั้นดิน หรือหัดรำ โดยคนในพื้นที่ควรยกระดับจากการเป็นผู้ให้บริการ เป็นผู้ให้การศึกษา (Play and Learn) ส่วนภาครัฐ ต้องพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาป้ายบอกทางให้ทั่วถึง และมีอย่างน้อย 2 ภาษาครอบคลุมกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น ไทย และภาษาอังกฤษ เป็นต้น

ในพื้นที่เมืองมรดกโลกนี้ยังมีมรดกด้านการเกษตร หรือ Agrarian Heritage Experience สามารถนำมาเชื่อมโยงนำเสนอการท่องเที่ยวได้ เช่น ข้าวห่อใบตอง หรือการนำใบตองมาใส่อาหารให้บริการนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ผลจากการประชุม ICTC 2013 ในครั้งนี้ คณะกรรมการ นักวิชาการ จากอิโคโมสจะนำเอาประเด็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และมรดกวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปสู่วงประชุมและพูดคุยในเวทีระดับโลกของยูเนสโกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น