xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัสยักษ์อายุกว่า 30,000 ปีฟื้นคืนชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไวรัสยักษ์ที่ฟื้นคืนชีพและสังหารอะมีบา
นักวิทยาศาสตร์พบไวรัสยักษ์อายุกว่า 30,000 ปีฟื้นคืนชีพ หลังถูกแช่อยู่ในชั้นดินแช่แข็งที่ไซบีเรีย โดยไวรัสยักษ์เป็นอันตรายต่ออะมีบาแต่ไม่แสดงอันตรายต่อคนและสัตว์ ด้านนักวิทยาศาสตร์หวั่นชั้นน้ำแข็งที่ละลายอาจปล่อยไวรัสที่เป็นอันตรายออกมา ถึงอย่างนั้นก็เสริมว่าไวรัสต้องหา “เจ้าบ้าน” ให้ได้ทันท่วงทีจึงจะมีชีวิตอยู่ได้

ไวรัสโบราณที่แช่แข็งมาเป็นเวลากว่า 30,000 ปีอยู่ในชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) ในไซบีเรีย ซึ่งถูกพบเมื่อ 10ปีที่แล้ว และมีชื่อว่า ไฟโธไวรัส ไซบีริคัม (Pithovirus sibericum) สามารถฟื้นความสามารถในการติดเชื้อได้อีกครั้ง ตามรายงานของบีบีซีนิวส์ที่ระบุว่า ไวรัสดังกล่าวทำอันตรายต่ออะมีบาโดยการแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว แล้วแบ่งตัว จากนั้นก็สังหารเจ้าบ้าน (host)

ทีมวิจัยฝรั่งเศส ซึ่งประกอบด้วย ศ.ฌ็อง-มิเชล คลาเวอรี จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเอกซ์-มารก์เซย์ ฝรั่งเศส ระบุว่าไวรัสดังกล่าวไม่ทำอันตรายต่อคนและสัตว์ โดยงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์เผนยแพร่ลงวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซน์ส หรือ PNAS



สำหรับไวรัสดังกล่าวค่อนข้างมีขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 1.5 ไมโครเมตร และใหญ่ที่สุดที่เท่าที่เคยพบมา และสามารถส่องเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ขณะที่ไวรัสทั่วไปไม่สามารถส่องเห็นได้ และแม้ว่าไวรัสนี้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ทีมวิจัยเชื่อว่ามีไวรัสอันตรายที่ติดต่อได้ถูกกักอยู่ในชั้นดินแช่แข็งที่ไซบีเรีย ซึ่งพวกเขาได้ใช้วิธีหาลำดับพันธุกรรมเพื่อไขคำตอบดังกล่าว

พร้อมกันนี้ นักวิจัยระบุด้วยว่า ชั้นดินแช่แข็งในบริเวณที่พบไวรัสดังกล่าวถูกคุกคามมาตั้งแต่ยุค '70 และมีความหนาที่ลดลง ซึ่งจากการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศชี้ว่าบริเวณดังกล่าวจะหดลงไปอีกมาก อีกทั้งยังเป็นไปในอัตราเร่ง และถูกจับจ้องในทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่

ศ.คลาเวอรี เตือนว่าอาจมีไวรัสที่เป็นอันตรายอยู่ในชั้นลึกๆ ของดินแข็ง ซึ่งรวมถึงไวรัสไข้ทรพิษที่ถูกประกาศว่าหมดไปจากโลกเมื่อ 30 ปีมาแล้ว เพราะหากไวรัสที่เป็นอันตรายดังกล่าวมีชีวิตรอดได้เช่นเดียวกับไวรัสคร่าอะมีบา นั่นหมายความว่าโรคร้ายดังกล่าวไม่ได้หายไปจากโรค เพียงแต่หายไปในระดับพื้นดินเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่าไวรัสที่ถูกแช่แข็งมาเป็นหมื่นปีหรือนานเป็นล้านปีนั้นจะกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งหรือไม่ ซึ่งทางด้าน ศ.โจนาธาน บอล นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร์ ผู้ให้ความเห็นต่องานวิจัยนี้ ระบุว่า การค้นพบว่าไวรัสกลับมาทำงานอีกครั้งหลังจากถูกแช่แข็งนานหลายหมื่นปีเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่เขายังสงสัยว่าไวรัสที่ถูกแช่แช็งทั้งหมดจะกลับมาตื่นตัวได้เช่นเดียวกันนี้หรือไม่

จากการแช่แข็งไวรัสเพื่อการทดลอง นักไวรัสวิทยาจากนอตติงแฮมระบุว่า ไวรัสที่มีชั้นไขมันห่อหุ้มจะเสียหายได้ง่ายกว่า ขณะที่ไวรัสซึ่งมีผนังโปรตีนอยู่ด้านนอกจะอยู่รอดได้ดีกว่า นอกจากนี้กระบวนการแช่แข็งและละลายของน้ำแข็ง็สร้างความเสียหายทางกายภาพต่อไวรัสได้มาก แต่หากไวรัสรอดจากกระบวนการดังกล่าวได้ ก็ต้องหาเจ้าบ้านให้ยึดครองได้อย่างทันท่วงที







กำลังโหลดความคิดเห็น