xs
xsm
sm
md
lg

ส่ง “สาหร่ายไก” ฝ่ากระแสฮิต “มาริโมะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กๆ หรือวัยรุ่นเห่อของนอก หรือของแปลกไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะมันเป็นเช่นนั้นมาทุกสมัย แต่ผู้ปกครองและคุณครูในยุคนี้ได้เปรียบมากกว่าคนรุ่นก่อน เพราะมีข้อมูลให้ค้นหาและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ราคาถูกให้เลือกใช้อย่างเหลือเฟือ จึงควรใช้ช่วงเวลาที่เด็กกำลังคลั่งไคล้ นี้ สร้างเป็นบทเรียนเล็กๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ หรือการค้นหาข้อมูลจากเว็บไซด์ต่างประเทศเปิดโอกาสให้เกิดความรู้ใหม่ๆ หรือค้นหาความสนใจเฉพาะทางให้กับเด็กๆ ได้ (buymarimo.com)
สาหร่ายมาริโมะก้อนกลมน่ารักจากญี่ปุ่นกำลังอินเทรนด์แพคขายกันแทบไม่ทัน อันที่จริงสาหร่ายก้อนกลมแบบนี้ ไม่ได้มีแค่ที่ญี่ปุ่น แต่มีคู่แฝดสัญชาติไทยชื่อ “สาหร่ายไก” ซึ่งเติบโตในแม่น้ำใสสะอาด ต่างกันแค่ถิ่นที่อยู่ซึ่งมีผลทำให้รูปร่างไม่เหมือนกัน

มาริโมะสาหร่ายก้อนกลม “กิ๊ก” ถือเป็นของเล่นชีวภาพแบบคลาสสิกที่ไม่เคยตกยุค เพราะไม่ใช่พึ่งฮิตในช่วงนี้ แต่เคยเป็นที่สนใจของวัยรุ่นไปจนถึงกลุ่มคนรักต้นไม้น้ำและปลาตู้สวยงามในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ด้วยรูปร่างกลมกลิ้งน่ารัก แค่พ่อค้าแม่ค้าสมองใสจับใส่ในแพกเกจสวยๆ โรยกรวยทรายสีสด ใครเห็นก็อดใจซื้อไม่ได้ แม้ก้อนหนึ่งจะมีราคาหลายร้อยบาทก็ยอมควักจ่าย แล้วสาหร่ายชนิดนี้ต่างจากตะไคร่น้ำในอ่างปลาของเราตรงไหน?

มาริโมะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aegagropila linnaei โดยพบได้เกือบทั่วโลก เริ่มมีการรายงานการค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2360 โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Anton E. Sauter ซึ่งพบสาหร่ายนี้เป็นครั้งแรกในทะเลสาบ Zeller ประเทศออสเตรีย ส่วนแหล่งน้ำอื่นๆ ที่พบได้มาก คือ ทะเลสาบ Mývatn ประเทศไอซ์แลนด์ ในญี่ปุ่นพบที่ทะเลสาบ Akan โดยมีชื่อพื้นเมืองเรียกต่างกันไปตามแหล่งที่พบ

ชื่อ “มาริโมะ” ตั้งโดยนักพฤษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ทัตซึฮิโก๊ะ คาวากามิ (Tatsuhiko Kawakami) แปลว่า “สาหร่ายลูกบอล” จึงเป็นเพียงหนึ่งในชื่อท้องถิ่นที่เรียกในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ด้วยความน่าสนใจหลายอย่าง ทั้งลักษณะที่แปลก ความจำเพาะของถิ่นที่อยู่ อัตราการเติบโตเชื่องช้า และความเชื่อเรื่องโชคลางของคนท้องถิ่นในฮอกไกโด ทำให้กลายเป็นสาหร่ายล้ำค่าจนต้องจัดงานเฉลิมฉลองให้กับเจ้าสาหร่ายชนิดนี้ทุกปี

สิ่งที่ทำให้สาหร่ายมาริโมะต่างจากสาหร่ายหรือตะไคร่น้ำที่เราเห็นกันทั่วไป มีปัจจัยสำคัญ 2 ข้อ คือ ลักษณะการแตกกิ่งก้านตามธรรมชาติ และลักษณะที่อยู่อาศัยใต้ทะเลสาบ ปัจจัยแรกคือการแตกกิ่งก้านของสาหร่าย Aegagropila linnaei มีลักษณะสั้นป้อม และแตกออกรอบๆ ข้อ ซึ่งแตกต่างจากสาหร่ายชนิดอื่นๆ ที่มักมีกิ่งก้านยาวและแตกต่อๆ กันออกไปเป็นเส้นยาวสยาย เมื่อผสานกับปัจจัยที่สอง คือแหล่งอาศัยใต้ทะเลสาบที่มีกระแสน้ำหมุนวนจากอิทธิพลของลม ก็ทำให้พวกมันเติบโตแตกกิ่งก้านไปพร้อมกับการหมุนกลิ้งตลอดเวลา การเติบโตอีกแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดสาหร่ายกลมๆ ได้ ก็คือการแตกหักของหน่อที่จมลงไปเติบโตใต้ตม ก็ทำให้สาหร่ายเติบโตเป็นก้อนกลมอัดแน่นเพราะแตกแขนงออกมาทุกทิศทางเท่าๆ กัน ได้เช่นกัน

หากใครสงสัยว่าถ้าสภาพใต้ทะเลสาบเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีกระแสน้ำกล่อมกลิ้งพวกมัน หรือถ้านำสาหร่าย Aegagropila linnaei มาเลี้ยงในน้ำนิ่งแล้วไม่เขย่าให้มันเติบโตได้ทุกทิศทางอย่างอิสระจะทำให้มันเปลี่ยนรูปร่างไปไหม? คำตอบก็ คือ มาริโมะจะไม่เป็นก้อนกลมแต่จะกลายเป็นตะไคร่น้ำทรงแบนๆ เบี้ยวๆ เหมือนตะไคร่น้ำที่เราพบตามบ่อปลา หรืออ่างบัวทั่วๆ ไป เพราะในธรรมชาติหากหน่อแขนงน้อยๆ ของสาหร่าย Aegagropila linnaei บังเอิญหักไปติดตามก้อนหิน หรือหน้าดิน สาหร่ายกลุ่มใหม่ก็จะไม่มีโอกาสเติบโตมาน่ารักกลมกิ๊กอย่างเพื่อนๆ
หากทำความเข้าใจง่ายๆ มาริโมะไม่ได้แตกต่างจากตะไตร่ตามอ่างบัวมากนัก แต่ลักษณะการแตกแขนงและสภาพที่มันเติบโตทำให้กลายเป็นก้อนกลม ดังนั้นการตรวจสอบว่ามาริโมะ หรือสาหร่าย Aegagropila linnaei เป็นชนิดนั้นจริงหรือไม่? ทำได้โดยดูจากผิวสัมผัส หรือส่องใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยสาหร่ายหรือตะไคร่น้ำของไทยที่เป็นฝาแฝดของกับมาริโมะได้แก่ สาหร่ายไก ในสกุล Cladophora และ Rhizoclonium  และสาหร่ายเตา สกุล Spirogyra (scale bar = 10 um : ภาพโดย ดร. จีรพร เพกเกาะ)
แล้วในบ้านเราพบสาหร่ายที่มีลักษณะคล้ายๆ แบบนี้บ้างไหม? หรือมีสาหร่ายไทยชนิดไหนโตมาเป็นก้อนกลมๆ บ้างหรือเปล่า? จากข้อมูลที่นายปรี๊ดสอบถามผู้เชื่ยวชาญก็ได้คำตอบว่า สาหร่ายที่มีลักษณะเป็นเส้นสายสีเขียวคล้ายมาริโมะ ในประเทศไทยมักเรียกรวมๆ ว่า “สาหร่ายไก” ซึ่งหมายถึงสาหร่ายชนิดที่มีเส้นสายยาวๆ ที่ไหลพลิ้วอยู่ใต้น้ำไหล ใช้ทำอาหารได้ โดยส่วนมากเป็นสาหร่ายสกุล Cladophora และ Rhizoclonium ส่วนเจ้า Aegagropila linnaei นั้นก็พบได้บ้างเช่นกัน แต่มีจำนวนน้อย

มักพบสาหร่ายไกในแหล่งน้ำสะอาด ไหลแรง ในอ่างเลี้ยงบัว หรือบ่อปลา มีช่วงการเติบโตสูงสุดจนเก็บเกี่ยวมาทำอาหารท้องถิ่นได้ และในช่วงฤดูหนาวต่อต้นฤดูร้อน โดยเฉพาะที่แม่น้ำน่าน และแม่น้ำโขง ซึ่งสามารถนำมาปรุงเป็นเมนู “สาหร่ายไกยี” สินค้า OTOP ชื่อดังของ จ.น่าน เป็นผงสาหร่ายผสมสมุนไพร คล้ายผงโรยข้าวของญี่ปุ่น

ด้วยกระแสที่แรงจัดของเจ้ามาริโมะ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางคนนำสาหร่ายไกและสาหร่ายเตามาปั้นเป็นก้อนกลมๆ หลอกขายว่าเป็นมาริโมะ จนต้องฉะกันเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตหลายราย แล้วแบบนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นมาริโมะของจริง? ผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายแนะนำว่าวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การสังเกตความแตกต่างของผิวสัมผัส และการส่องใต้กล้องจุลทรรศน์

หากดูด้วยตาเปล่า สาหร่ายที่มีลักษณะเป็นเส้นสายนั้นดูแทบไม่ต่างกัน แต่สารที่สะสมในผนังเซลล์ เช่น ไคตินทำให้มีผิวสัมผัสต่างกันออกไป เช่น สาหร่ายไกสกุล Cladophora และ Rhizoclonium ที่พบในน้ำไหลถึงแม้จะนุ่มเบา แต่ก็มักมีผิวสัมผัสหยาบกระด้างเล็กน้อย ส่วนสาหร่ายเตาหรือสกุล Spirogyra ซึ่งพบในน้ำนิ่ง มีลักษณะนุ่มและลื่นมาก ส่วนมาริโมะหรือ Aegagropila linnaei นั้นมีเส้นสายที่ค่อนข้างนุ่มไม่หยาบ ไม่ลื่นเท่าสาหร่ายเตา แต่ถ้านำมาส่องใต้กล้องจุลทรรศน์ ก็จะบอกลักษณะได้ชัดเจนจากการแตกกิ่งก้านที่ต่างกัน

รู้ถึงขนาดนี้แล้วนักวิจัยไทยทำอะไรบ้างไหม? นักวิจัยบ้านเราก็ไม่น้อยหน้านะครับ มีการสร้างนวัตกรรมสร้างมาริโมะแบบไทยๆ และจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี 2551 รวมถึงมีการจำหน่ายในท้องตลาดมานานแล้ว โดย อ.ราเมศ จุ้ยจุลเจิม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ซึ่งนำสาหร่ายไกสกุล Cladophora มากระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์แบบพิเศษเพื่อทำให้เกิดการแตกกิ่งก้านสั้นๆ โดยรอบแขนงข้อและเมื่อนำไปเกาะกับโครงสร้างที่ปั้นเป็นก้อนกลมและสร้างระบบน้ำหมุนวนก็ทำให้สาหร่ายไกไทยๆ เติบโตได้แบบมาริโมะของญี่ปุ่นได้เหมือนกัน ที่สำคัญสาหร่ายบอลแบบไทยๆ นี้มีความสามารถในการบำบัดน้ำในตู้ปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยช่องว่างภายในก้อนสาหร่าย เรียกว่านำถ้าใส่ลงในตู้ปลาก้อนนึงก็ได้ถึงสองเพราะทั้งน่ารักและทำให้น้ำใสได้ในก้อนเดียว

การเห่อของแปลก ของนำเข้าเป็นพักๆ ของวัยรุ่นไทยคงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่น่าติดว่าในยุคทุนนิยมที่การตลาดข้ามชาติทำได้ง่ายดาย พอๆ กับเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ท่วมท้น กลับไม่ค่อยมีส่วนกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ บนฐานคิดแบบไทยๆ สักเท่าไหร่นัก มาริโมะจึงน่าจะเป็นตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แม้คนทั่วไปจะมองว่าจุดขายของมันคือความกลมกิ๊กเฉพาะตัว แต่สาหร่ายก็ไม่ได้ขายแค่ตัวมันเอง คนท้องถิ่นต่างหาก ที่สร้างเรื่องราวที่เริ่มต้นจากนิเวศวิทยาท้องถิ่น จนขยายสู่วัฒนธรรม ความเชื่อ และกลายเป็นมูลค่าทางการตลาดในที่สุด เพราะมาริโมะไม่ใช่แค่ก้อนสาหร่าย แต่เป็นการขายเรื่องราวของพวกมันในธรรมชาติ และความเป็นญี่ปุ่นไปพร้อมๆ กัน

ความหลากหลายทางชีวภาพในบ้านเราสูงกว่าญี่ปุ่นหลายเท่า คนไทยรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ด้อยหรือมีความคิดสร้างสรรค์น้อยหน้าใคร หากเริ่มต้นสนใจมองสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัวให้ชัดเจนมากขึ้น ไม่แน่สักวันเราอาจจะมีสินค้า หรือนวัตกรรมใหม่ๆ วางขายทั่วโลกไม่แพ้เจ้ามาริโมะ



ขอบขอคุณ
ดร.จีรพร เพกเกาะ หน่วยวิจัยความหลากหลายของสาหร่ายและแพลงก์ตอน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง
ยุวดี พีรพรพิศาล สนิท มกรแก้วเกยูร อิศรพงษ์ พงษ์ศิริกุล และคณะ. 2549. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการ “ศักยภาพของสาหร่ายน้ำจืดขนาดใหญ่ในการนำมาเป็นอาหารและยา”. สกว.

ศิริเพ็ญ ตรัยไชยาพร บุญสม วราเอกศิริ และจงกล พรมยะ. 2553. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการ “การเพาะเลี้ยงสาหร่ายสีเขียว สกุล Cladophora เพื่อเป็นอาหารปลาบึก (ระยะ 2)”. สกว.

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น