xs
xsm
sm
md
lg

เห็นนิ่งๆ “ม้าน้ำ” แอบซ่อนเล่ห์ร้ายล่าเหยื่อ (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากกล้องความเร็วสูงเผยให้เห็นเสี้ยววินาทีการจู่โจมเหยื่อของม้าน้ำ
เห็นนิ่งๆ แต่ “ม้าน้ำ” กลับมีเทคนิคจู่โจมเหยื่ออย่างฉับพลันโดยที่ผู้เคราะห์ร้ายไม่ทันรู้ตัว โดยคลิปวิดีโอความเร็วสูงของนักวิจัยจากสหรัฐฯ เผยให้เห็นว่า สัตว์ทะเลที่ดูเชื่องช้านั้นมีความฉับไวเพียงใดในการสะกดรอยตามเหยื่อและฮุบมาเป็นอาหาร

การศึกษาที่เผยให้เห็นอีกแง่มุมร้ายๆ ของม้าน้ำแคระสปีชีส์หนึ่งนี้ บีซีซีนิวส์ระบุว่า เป็นการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทกซัสในออสติน (University of Texas at Austin) สหรัฐฯ ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานลงวารสารเนเจอร์คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications)

งานวิจัยดังกล่าว เผยให้เห็นว่า ม้าน้ำแคระ หรือ ฮิปโปแคมปัสโซสเตอเร (Hippocampus zosterae) ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลท้องถิ่นในของบาฮามัส และสหรัฐฯ เข้าจู่โจมเหยื่ออย่าง โคพีพอด (copepod) สัตว์ที่มีความไวสูง โดยใช้ประโยชน์จากรูปร่างของจมูกที่ทำให้น้ำด้านหน้าจมูกกระเพื่อมน้อยมากจนเหยื่อไม่ทันตั้งตัว

ด้าน แบรด เกมเมลล์ (Brad Gemmell) ผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัสในออสติน กล่าวว่า สำหรับเหยื่อแล้วม้น้ำเป็นเหมือนปีศาจทะเล ในขณะที่เรารู้จักว่าม้าน้ำเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำไม่ค่อยเก่ง แต่สัตว์ชนิดนี้กลับล่าเหยื่อที่มีความว่องไวอย่างน่าทึ่งได้ง่ายดาย

สำหรับโคพีพอดนั้นเป็นครัสเตเชียน (crustacean) ขนาดเล็กมาก และเหยื่อที่สัตว์อย่างม้าน้ำ ปลาจิ้มฟันจระเข้ และมังกรทะเล โปรดปราน ซึ่งเมื่อโคพีพอดตรวจจับคลื่นน้ำที่มาจากผู้ล่าได้ พวกมันก็จะกระตุกตัวหนีไปด้วยความเร็วคิดเป็น 500 เท่าของความยาวตัวต่อวินาที หรือเทียบเท่าคนสูง 180 เซ็นติเมตร ที่ว่ายน้ำด้วยความเร็ว 3,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในสภาพที่นิ่สงบ ดร.เกมเมลล์ กล่าวว่า ม้าน้ำสามารถจับเหยื่อได้ถึง 90% ในความพยายามล่าเหยื่อแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ค่อนข้างสูง และทีมวิจัยอยากรู้ว่าทำไม โดยวิธีการล่าเหยื่อของม้าน้ำจะบิดคอเหมือนสปริง ซึ่งทำให้มันหมุนหัวได้อย่างฉับพลันและดูดกลืนเหยื่อได้ ทว่าวิธีนี้ได้ผลเพียงในระยะสั้นๆ และระยะจู่โจมที่ได้ผลของม้าน้ำอยู่ที่ 1 มิลลิเมตร และการจู่โจมเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 1 มิลลิวินาที






สิ่งที่ยังเป็นปริศนาคือม้าน้ำเข้าใกล้เหยื่อมากขนาดนั้น โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัวได้อย่างไร เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ดร.เกมเมลล์ และคณะจึงนำม้าน้ำแคระมาศึกษา พวกเขาถ่ายภาพเคลื่อนไหวแบบสามมิติโดยใช้เทคนิคโฮโลแกรม ซึ่งเป็นเทคนิคที่กล้องจุลทรรศน์ถูกประกบเข้าพอดีกับกล้องดิจิทัลความเร็วสูงที่บันทึกด้วยแสงเลเซอร์ และพบว่ารูปร่างของจมูกม้าน้ำช่วยลดการสร้างคลื่นน้ำด้านหน้าปากม้าน้ำก่อนที่จะจู่โจม โดยด้านหน้าและด้านบนจมูกไม่มีสัญญาณที่จะทำให้เหยื่อรู้ตัว และม้าน้ำยังขยับหัวให้อย่างแม่นยำเพื่อกินเหยื่อ

ทีมวิจัยไม่พบความสามารถเดียวกันนี้ในปลาชนิดอื่นที่มีหัวทู่ ซึ่ง ดร.เกมเมลล์ กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นเหมือนการแข่งกันระหว่างผู้ล่าและเหยื่อ โดยม้าน้ำได้พัฒนาวิธีที่จะเข้าใกล้เหยื่อในระยะที่เหมาะสมกับระยะจู่โจมเหยื่อของมันที่เป็นระยะสั้นมากๆ

“คนทั่วไปมักไม่คิดว่าม้าน้ำคือนักล่าที่น่าทึ่ง แต่จริงๆ พวกมันใช่” ดร.เกมเมลล์กล่าว
ม้าน้ำแคระที่ดูไม่่มีพิษไม่มีภัย แต่เป็นนักล่าที่น่าสะพรึงสำหรับ โคพีพอด ครัสเตเชียนที่มีความไวอย่างยิ่งยวด (บีบีซีนิวส์)






กำลังโหลดความคิดเห็น