xs
xsm
sm
md
lg

สทอภ.ชี้แจง “ภัยแล้ง” เหตุปีที่แล้วฝนตกเหนือเขื่อนน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สทอภ.ชี้แจงการคาดการณ์ “ภัยแล้ง” ระบุพื้นที่นอกเขตส่งน้ำเขตชลประทานที่กว่า 5 ล้านไร่ จะขาดแคลนน้ำ ชี้ต้นตอไม่ใช่ภาวะเอลนีโญ แต่เพราะปี 56 ที่ผ่านมา ฝนตกเหนือเขื่อนน้อย

จากการที่มีข่าวในสื่อบางแห่งเมื่อวันที่ 18 ก.พ.57 ว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.เปิดเผยว่าปี 2557 นี้ ภาวะเอลนีโญจะรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี และจะส่งผลให้อุณหภูมิอากาศในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯ สูงกว่า 40 องศาเซลเซียสนั้น ทาง สทอภ.ได้ส่งจดหมายชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน และไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้

จดหมายข่าวจาก สทอภ.แจงว่า การคาดการณ์โดยสถาบันด้านภูมิอากาศที่สำคัญ 22 แห่งของโลก คาดการณ์ว่าสภาพอากาศของปี 2557 นี้จะมีสภาพเป็นกลาง ไม่มีแม้แต่สำนักเดียวที่คาดการณ์ว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ หรือลานีญาเลย* นอกจากนี้ การคาดการณ์อุณหภูมิและความแห้งแล้งก็ต้องใช้ข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากภาวะเอลนีโญมาใช้ ประกอบกัน ทั้งข้อมูลระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ซึ่ง ณ ปัจจุบันปัจจัยต่างๆ ยังไม่มีความสอดคล้องกันเพียงพอที่จะคาดการณ์เรื่องอุณหภูมิในฤดูร้อนที่จะมาถึงได้

*(อ้างอิง http://www.cpc.ncep.noaa.gov/products/analysis_monitoring/enso_advisory/figure6.gif)

“สำหรับความชื้นในดินที่ประมาณจากค่าดัชนี Normalized Difference Water Index (NDWI) จากระบบตรวจวัด MODIS บนดาวเทียม Terra และ Aqua นั้น ในเดือน ก.พ.57 แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่ดินมีสภาพแห้งจัดส่วนมากอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ และมีการกระจายในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้บ้าง แต่น้อยกว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และความแห้งของดินของทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายของฤดูแล้ง (มี.ค.-เม.ย.) ซึ่งเป็นสภาพปกติของฤดูแล้ง” ข้อมูลจาก สทอภ.ระบุ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะขาดแคลนน้ำจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน ในช่วงปลายฤดูแล้งของปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตรชลประทานในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง เนื่องจากเขื่อนหลักที่ส่งน้ำให้กับพื้นที่นี้คือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกันเพียงประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ ซึ่งกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ประมาณว่าเพียงพอสำหรับการทำนาปรังเพียงประมาณ 4 ล้านไร่เท่านั้น และได้มีการประกาศแจ้งไปแล้วว่า พื้นที่ชลประทานใดบ้างจะมีการส่งน้ำและพื้นที่ใดบ้างจะไม่มีการส่งน้ำในฤดูแล้งนี้

“ทว่าจากการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมติดตาม พบว่า ในปัจจุบันมีการปลูกในพื้นที่ที่ประกาศว่าจะไม่มีการส่งน้ำให้กว่า 5 ล้านไร่ และประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เหล่านี้เริ่มปลูกหลังวันที่ 31 ม.ค.57 ซึ่งค่อนข้างแน่นอนว่าจะไม่สามารถหาน้ำมาหล่อเลี้ยงได้ โดยเฉพาะในเดือนเมษายนซึ่งปริมาณน้ำในเขื่อนจะวิกฤติที่สุด เพราะนอกจากจะต้องใช้ในการเกษตรแล้วยังต้องใช้ในการผลักดันน้ำเค็มจากทะเลไม่ให้รุกเข้ามาปนเปื้อนในน้ำดิบเพื่อการทำน้ำประปาของเมืองใหญ่บริเวณปากแม่น้ำต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย”

สทอภ.ชี้ว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้นในฤดูแล้งปี 2557 ของพื้นที่ชลประทานต่างๆ ไม่ได้เกิดจากสภาพอากาศของฤดูแล้งนี้โดยตรง แต่เกิดจากความผิดปกติของฤดูฝนเมื่อปี 2556 ที่มีปริมาณฝนค่อนข้างน้อยและส่วนหนึ่งตกบริเวณใต้เขื่อน จึงทำให้มีน้ำต้นทุนในเขื่อนน้อย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และได้มีมาตรการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การที่มาตรการจัดการน้ำด้านอุปทาน (Supply Side) เหล่านี้จะสัมฤทธิ์ได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จะส่งเสริมและสนับสนุนทางเลือกแก่เกษตรกรในฤดูแล้ง เพื่อลดความต้องการใช้น้ำ (Demand Side) ให้สอดคล้องกันด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น