xs
xsm
sm
md
lg

สั่งตายยีราฟเลือดชิด...สิทธิสัตว์ที่ต้องถก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม่ใช่แค่มาริอุส แต่มีการประเมินว่าสวนสัตว์ 347 แห่งที่เป็นสมาชิกสมาคมสวนสัตว์และสถานจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำแห่งสหภาพยุโรป ฆ่าสัตว์ใหญ่มากกว่า 1,700 ตัวต่อปี จากสาเหตุต่างๆ เช่น ป้องกันการผสมเลือดชิด หรือไม่มีพื้นที่ดูแลให้มีความสุข  ในฝั่งอเมริกามีแนวคิดในการทำหมันสัตว์ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าเป็นการละเมิดสิทธิสัตว์เพราะอาจทำให้พฤติกรรมสัตว์เปลี่ยน การศึกษาวิจัยทางสัตวิทยาสร้างความเข้าใจเรื่องพันธุกรรมสัตว์ในกรงเลี้ยง แต่ก็นำสังคมมาถึงทางแยกทางความคิดเช่นกัน (cyprus-mail.com)
ควันข่าวเรื่องสวนสัตว์โคเปนเฮเกนยิงยีราฟ “มาริอุส” ยังไม่สงบ ทั่วโลกต่างวิจารณ์ทั้งด้านจริยธรรมและการจัดการสวนสัตว์ ทั่วยุโรปมีสัตว์เป็นพันถูกฆ่าต่อปีบนเหตุผลของพันธุศาสตร์ประชากร ผลผลิตของสัตว์ในกรงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนอย่างที่คิด

สวนสัตว์กรุงโคเปนเฮเกนตัดสินใจฆ่ายีราฟหนุ่มชื่อ “มาริอุส” จนสำนักข่าวทั้งในไทยและต่างประเทศต่างตีข่าวเรื่องนี้กันใหญ่โต โดยเฉพาะในบ้านเราก็ใส่อารมณ์กันถึงพริกถึงขิง จนดูเหมือนว่าฝรั่งมั่งค่าช่างในยักษ์ใจมาร ฆ่าสัตว์ที่ไม่ต้องการทิ้งอย่างไม่ยี่หระ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะต้องชวนกันคิด ใช้วิทย์สะกิดใจ คือเหตุผลหลักที่เป็นกระสุนปลิดชีวิตเจ้ามาริอุสนั้น เพราะมันเป็นหนึ่งใน “ยีราฟเลือดผสมที่เกิดในสวนสัตว์” ใช่หรือไม่? เหตุผลทางวิทยาศาสตร์จะทำให้คนทั่วไปยอมรับการตัดสินใจ และวิธีการจัดการสวนสัตว์แบบนี้ได้หรือไม่?

ในช่วงชุลมุนสื่ออังกฤษอย่าง theguardian ตามติดและเสนอประเด็นนี้ได้น่าสนใจ ชั่งน้ำหนักระหว่างอารมณ์เดือดดาดของชาวเดนมาร์ก และเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างพอดี บทสัมภาษณ์ของ Bengt Holst ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์ประจำสวนสัตว์โคเปนเฮเกนชี้เหตุผลที่ต้องฆ่ายีราฟได้ชัดเจน โดยสรุปแล้วคือ สวนสัตว์ตัดสินใจแน่วแน่ว่าต้องทำ แม้จะกระทบจิตใจคนรักสัตว์ แต่เป็นการตัดสินใจบนหลักการเพื่อรักษาโปรแกรมการเพาะพันธุ์อย่างเคร่งครัด ป้องกันปัญหาทางพันธุกรรมในภายหลัง หากทุกคนต้องการมีส่วนร่วมในการวางแผนการผสมพันธุ์สัตว์ สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจบนข้อเท็จจริง

อีกประเด็นที่สังคมต่อต้านรุนแรง คือ การผ่าซากยีราฟต่อหน้าสื่อมวลชนโดยเฉพาะเด็กๆ นั้น สวนสัตว์ถือว่าเป็นการให้การศึกษา เพราะที่ผ่านมา เคยผ่าหนู งู แพะ ม้าลายไปจนถึงช้างที่ตายจากสาเหตุต่างๆ เพื่อพิสูจน์ซากต่อหน้าประชน เปิดโอกาสให้ทุกคนทราบสาเหตุการตาย ผู้ใหญ่และเด็กที่เข้าดูนั้นได้รับแจ้งว่าจะพบกับภาพที่น่ากลัวเพื่อให้ตัดสินใจเอง แต่การผ่าซากยีราฟครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก สวนสัตว์ถือว่าการผ่าซากสัตว์เพื่อให้ความรู้เรื่องกายวิภาคเป็นสิ่งสำคัญ และที่สำคัญกว่าคือการเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ คือ ชีววิทยา การเกิด และการตายของพวกมัน

คำถามคาใจก็ยังมีอีกมาก เพราะก่อนการฆ่าเจ้ามาริอุสชาวเดนมาร์กกว่า 27,000 ลงชื่อและร่วมประท้วง มีคนเสนอเงินราว 250,000 บาทเพื่อซื้อชีวิต องค์กรเพื่อสิทธิสัตว์ตอบโต้สวนสัตว์อย่างรุนแรง พร้อมตั้งคำถามเรื่องสิทธิสัตว์ว่า ทำไมต้องยิงด้วยปืนแทนการฉีดยาเข้าเส้นเลือด? ทำไมไม่โอนย้ายหรือบริจาคให้กับสวนสัตว์เอกชนที่ขอซื้อ? และที่สำคัญสวนสัตว์โคเปนเฮเกนถูกตั้งคำถามว่า สาเหตุที่เจ้ามาริอุสต้องตาย เพียงเพราะมันเป็น ยีราฟเลือดผสม หรือ ผลผลิตที่ไม่ต้องการ ของสวนสัตว์แล้วทำไมต้องทำให้มันเกิด?

คำถามหลายข้อไม่มีคำตอบ แต่แถลงการณ์ของสวนสัตว์โคเปนเฮเกน และการสนับสนุนของ สมาคมสวนสัตว์และสถานจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำแห่งสหภาพยุโรป (European Association of Zoos and Aquaria) ได้คลายข้อสงสัยให้สังคมได้รู้ถึงยืนในการรักษาโปรแกรมการผสมพันธุ์ของสวนสัตว์ และดูจะชี้ประเด็นแบบอ้อมๆ ว่าสาเหตุที่มันต้องหายไปจากระบบ เพราะมันดันเป็น “ลูกผสม” จากยีราฟ 2 ซับสปีซี่ส์ และหากต้องเลือกเก็บยีราฟตัวใดตัวหนึ่งเพราะมีพื้นที่เลี้ยงจำกัด เจ้ามาริอุสต้องตาย

แม้จะมีสวนสัตว์เอกชนชื่อ Yorkshire Wildlife Park ในอังกฤษจะขอซื้อเจ้ามาริอุส และมีฝูงยีราฟตัวผู้ 4 ตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นยีราฟจากโคเปนเฮเกนเช่นกัน แต่คณะกรรมการสวนสัตว์ไม่เห็นด้วย และแนะนำให้ Yorkshire Wildlife Park รักษาพื้นที่ไว้เก็บยีราฟสายพันธุ์แท้จะดีกว่า ในกรณีคล้ายกันนี้ก็มียีราฟชื่อ “มาริอุส” อายุ 7 ปีอีกตัวในสวนสัตว์ จิลแลนด์ส ปาร์ค ทางตะวันตกของเดนมาร์กกำลังถูกพิจาราณาว่าน่าจะต้องโดนฆ่า เนื่องจากสวนสัตว์ได้ยีราฟตัวเมียมาใหม่ ทำให้ยีราฟตัวผู้ที่เคยอยู่เป็นเพื่อนกันมาก่อน 2 ตัว ต้องหายไปตัวหนึ่งไม่เช่นนั้นคงจะเกิดศึกชิงนาง และหวยก็ออกที่เจ้ามาริอุสเพราะมันเป็นแค่ยีราฟลูกผสมเท่านั้น

สวนสัตว์ทั่วยุโรปทั้งรัฐและเอกชนอยู่ในโครงการผสมพันธุ์สัตว์หายากที่มีฐานข้อมูลเชื่อมถึงกัน การโอนย้าย แลกเปลี่ยน ผสมพันธุ์ ผสมเทียมสัตว์หายากที่อาศัยในสวนสัตว์ต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการและนักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุศาสตร์ก่อน เพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด หรือผสมข้ามซับสปีชีส์ ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรของสัตว์ในกรงเลี้ยงที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว ยิ่งมีสุขภาพทางพันธุกรรมที่อ่อนแอลง และสวนสัตว์ควรให้ความสำคัญกับการเพาะพันธุ์สัตว์สายพันธุ์แท้เพื่อรักษาซับสปีซี่ส์สายเลือดบริสุท์ให้คงอยู่ต่อไป
ในบ้านเราจำนวนสัตว์ต่างถิ่น หรือสัตว์หายากในสวนสัตว์ยังมีจำนวนน้อย สามารถแลกเปลี่ยนกันระหว่างสวนสัตว์ภายในประเทศ และเพื่อนบ้านโดยรอบได้แต่สัตว์ที่น่าห่วงคือสัตว์ป่าบางชนิด เช่น ช้าง และกระทิงที่บางพื้นที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากและแน่นอนว่าพวกมันต้องการพื้นที่หากินเพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่อาศัยลดลง จนมีความขัดแย้งกับเกษตรกรรอบป่ามากขึ้นเรื่องๆ แม้จะมีแนวคิดเรื่องการย้ายประชากรไปปล่อยในพื้นที่อื่นแต่ก็ติดปัญหาทางการปฏิบัติ และยังต้องศึกษาความเข้ากันของซับสปีซี่ส์ในแหล่งอาศัยที่ต่างกัน (ภาพ นพดล ประยงค์)
ทำไมสวนสัตว์ และนักวิทย์ยุโรปคลั่งสายเลือดบริสุทธิ์มากนักหรือไง? อ่านแฮรี่ พอตเตอร์มากไปหรือเปล่า? ในสมัยก่อนการนำสัตว์ต่างถิ่นข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อเลี้ยงและจัดแสดงมีค่าใช้จ่ายสูง พื้นฐานการเปิดสวนสัตว์จึงเป็นการสะสมของแปลกและเก็บเงินค่าเข้าดู แต่ในปัจจุบันสถานภาพของสวนสัตว์เปลี่ยนไปมาก เน้นเรื่องการให้การศึกษา และงานวิจัยด้านสัตววิทยา โดยเฉพาะสวนสัตว์ในยุโรป และอเมริกาหลายแห่งถือเป็นตันกำเนิดขององค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าในระดับสากล หนึ่งในภารกิจท้าทายที่สวนสัตว์ในโลกยุคใหม่ต้องทำ คือ “การนำสัตว์จากกรงเลี้ยงกลับคืนสู่ป่า” การศึกษาและวิจัยด้านพันธุศาสตร์ประชากรช่วยทำให้เข้าใจเรื่องความแตกต่างของซับสปีซีส์ที่มีความแตกต่างกันระหว่างสัตว์ที่หน้าตาเหมือนกัน และนั่นคือสาเหตุสำคัญของการรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ และสายพันธุ์ที่แข็งแรงของสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นในกรงเลี้ยง ถ้าคิดเล่นๆ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำเราก้าวมาถึงจุดแยกทางความคิดแบบนี้?

การปล่อยสัตว์คืนสู่ป่าเป็นเรื่องยาก ต้องการความถูกต้องทางพันธุกรรม และแน่นอนต้องลงทุนมากกว่าที่คิด สัตว์หลายชนิดเช่น ปลา นก ไก่ป่า หมูป่า หรือ เก้ง กวาง ปรับตัวค่อนข้างง่าย จึงประสบความสำเร็จสูงในการปล่อยคือสู่ป่า แต่สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ สัตว์ผู้ล่า และสัตว์กลุ่มไพรเมตที่มีเชาว์ปัญญาสูงนั้นตรงกันข้าม หมีแพนด้าที่จีนลงทุนมหาศาลเพื่อเพาะพันธุ์ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จกับการปล่อยพวกมันคืนสู่ป่า หลายชีวิตที่อดตาย โดนแพนด้าป่าฆ่า หรือตกผาสูง เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตในป่าได้จริง  การปล่อยสัตว์คนละซับสปีสี่ส์สู่แหล่งอาศัยทางธรรมชาติ อาจส่งผลร้ายแรง เพราะถือเป็นมลพิษทางพันธุกรรม จนอาจก่อให้เกิดลักษณะผิดปกติ หรือพฤติกรรมที่แปลงเปลี่ยนจนผลเสียกับประชากรในธรรมชาติในอนาคต 
 
ความขัดแย้งที่เรามองเห็นได้จากปรากฏการณ์นี้ คือความแตกต่างของแนวคิดเรื่อง “สิทธิสัตว์ หรือ Animal welfare” ซึ่งมีความแตกต่างตามกรอบและบรรทัดฐานที่ต่างกันของแต่ละสังคม ที่มีพื้นฐานของศาสนาและการสะสมองค์ความรู้แตกต่างกัน ไม่มีดีกว่า ไม่มีเลวกว่า มีแต่ความแตกต่างเท่านั้นที่ทำให้คนคิดได้อย่างหลากหลาย ในสังคมไทย การฆ่าสัตว์เป็นเรื่องผิดบาป แต่ในสังคมอื่นการฆ่าสัตว์เพราะ “มันไม่เป็นที่ต้องการ” เป็นความจริงที่เราต้องเรียนรู้ ส่วนจะพอใจหรือไม่พอใจน่าจะแยกแยะออกเป็นเรื่องส่วนบุคคล ในสังคมยุโรปเองก็ถูกย้อนว่าลักลั่นย้อนแย้ง ทำเป็นรับไม่ได้ทั้งๆ ที่ตัวเองมีธรรมเนียมล่าสัตว์ป่า หรือใช้สองมาตรฐาน เพียงเพราะยีราฟเป็นดาราในสวนสัตว์ มีรูปลักษณ์ที่น่ารัก เลยใส่ใจมากกว่ากวาง หรือไก่ฟ้าที่ถูกไล่ล่า? 

การตัดสินเรื่องสิทธิสัตว์ หรือความกินดีอยู่ดีของสัตว์ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน แม้การกำจัดสัตว์ที่ไม่ต้องการหรือสัตว์ที่ไม่มีคนดูแลจะเป็นวิธีการสุดท้ายที่คนเราเลือกทำ แต่มันก็เกิดขึ้นจริงทุกนาที  สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ในสวนสัตว์ที่เกิดมาผิดปกติทางพันธุกรรม  หรือสัตว์ที่ไม่มีคนดูแลอาจใช้ชีวิตในสถานรับเลี้ยงเพื่อรอคนรับเลี้ยงต่อไม่นานนัก ก่อนที่พวกมันจะต้องตายทั้งๆ ที่ยังแข็งแรง เพราะมีข้อจำกัดทั้งสถานที่และการดูแล เราอาจยอมรับได้หากพบสัตว์เป็นร้อยๆ ผอมโกรก รอกินอาหารอย่างหิวโหย กัดกันทำร้ายกันในที่รับเลี้ยง คาดหวังว่ามันควรชีวิตต่อแม้จะเจ็บปวดล้มตาย เพราะมันมี “ควรจะมีชีวิตอยู่” แต่ในบางสังคมสัตว์เหล่านี้ควรหยุดหายใจเพื่อไม่ให้พวกมันต้องทรมาน เพราะพวกมันมี “ควรจะอยู่ดีกินดีไม่ต้องทรมาน” นี่อาจเป็นภาพต่างที่ชัดเจนเมื่อพูดถึง “สิทธิสัตว์” ที่แตกต่างกันในแต่ละสังคม

หลายคนเสนอว่าถ้าอย่างนั้นการรักษาสัตว์ป่าในบ้านของมันเองอาจเป็นทางออกที่น่าจะดีกว่า แต่ก็ถูกโต้ว่าอย่าโลกสวยสิ  ก็ในเมื่อตอนนี้มันอยู่ในรั้วสวนสัตว์แล้ว หรือถ้าจะปล่อยมันอยู่ข้างนอกก็โดนล่าหมดพอดี มีป่าที่ไหนเหลือพอจะให้พวกมันอยู่กันอย่างสบายบ้าง ให้มันอยู่ในสวนสัตว์นั่นแหละดีแล้ว หากความย้อนแย้งของสังคมซึ่งยังหาทางออก และที่อยู่อันเหมาะสมให้สัตว์ป่าในโลกปัจจุบันยังไม่มีทางออก การตายของสัตว์ทั้งในป่า และในสวนสัตว์ก็คงยังดำเนินต่อไป แต่สุดท้ายเหตุการณ์แบบนี้เกิดเพราะความต้องการของคน ถ้าจะหยุดหรือลดลงก็คงต้องแก้ที่คนเช่นกัน

ยีราฟตายตัวเดียวสร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งโลก การตายของมาริอุสอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหาสมดุล ระหว่างหลักการทางวิทยาศาสตร์ การจัดการสัตว์ป่า และบรรทัดฐานเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ป่าหลังกรงเลี้ยงในโลกยุคปัจจุบัน     

อ้างอิง
http://zoo.dk/BesogZoo/Nyhedsarkiv/2014/Februar/Why%20Copenhagen%20Zoo%20euthanized%20a%20giraffe.aspx

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น