หดหู่จนแทบทนดูให้จบคลิปไม่ไหว เพราะภาพเคลื่อนไหวในนั้นช่างสะเทือนใจ คนงานโรงปูนทีพีไอฯ ใช้ท่อนเหล็กตีเลียงผาที่หลุดเข้ามาในโรงงานอย่างโหดเหี้ยม แล้วช่วยกันลากออกไป นักอนุรักษ์ทนไม่ไหวร้องให้บริษัทต้นสังกัดสืบค้นและรับผิดชอบ
แม้ขณะนี้มือทุบใจโหดจะยอมมอบตัวและรับสารภาพว่าตีเพื่อให้สลบแล้วเอาไปปล่อยป่า แต่แหล่งข่าววงในกลับลือกระฉ่อนเน็ตว่า เลียงผาตัวนั้นตายแล้ว ที่ถูกปล่อยไป เป็นตัวที่ทีพีไอฯ จัดฉากแหกตาคนรักสัตว์ต่างหาก!?!
ด้วยรักและห่วงใย จึงทุบให้สลบ?
มีเลียงผาหลงเข้ามาในโรงงานปูนซีเมนต์ทีพีไอ สระบุรี เกรงว่าจะไปถูกเครื่องจักรทำให้เกิดอันตราย จึงตัดสินใจกระหน่ำตีให้สลบด้วยท่อนเหล็กขนาดเหมาะมือ จากนั้นจึงร่วมกับเพื่อนอีกประมาณ 6 คน ยกสัตว์สงวนตัวเดียวกันนี้ขึ้นรถกระบะ นำไปปล่อยที่เชิงเขา ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้...
นี่คือเหตุผลที่ วิชัย เวทนา สารภาพเอาไว้หลังเดินทางมามอบตัวและให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในฐานะ “มือทุบใจโหด” ที่ชาวเน็ตร่วมกันสาปแช่งหลังได้ดูคลิปเหตุการณ์ที่ถ่ายจากน้ำมือของเพื่อนร่วมบริษัทเดียวกัน จากนั้นผู้ต้องหาทารุณกรรมเลียงผารายดังกล่าวจึงถ่ายรูปตอนปล่อยเลียงผาและเอามาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต เพื่อแก้ข้อกล่าวหาว่าทุบเลียงผาตัวนั้นจนตายคาที่
หลังจากนั้น เพจ “TPI Online Market” แฟนเพจบนเฟซบุ๊กของบริษัท ก็ช่วยเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวอีกแรง โดยโพสต์อธิบายมีใจความบอกว่า “ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยร่วมกับพนักงานได้นำเลียงผาตัวดังกล่าวปล่อยสู่ป่าแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย จากการถูกรถไฟชนหรือไฟฟ้าช็อต หรืออุบัติเหตุอื่นที่อาจคาดไม่ถึง ส่วนพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามคลิปวิดีโอนี้ อยู่ในระหว่างการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายขั้นสูงสุดต่อไป”
แต่ถึงกระนั้น คนส่วนใหญ่ที่เห็นคลิปมากับตากลับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เชื่อ” เพราะไม่ว่าจะดูอย่างไร เลียงผาตัวที่เอาไปปล่อยป่าในภาพ ก็ตัวเล็กกว่าตัวที่ถูกทุบจนเดี้ยงคาที่อยู่ในคลิปเห็นๆ และนี่คือเสียงส่วนหนึ่งที่พลเมืองเน็ตแสดงความสลดเอาไว้ในกรณีนี้
“ผมว่าคนล่ะตัวกันนะครับ ดูจากลักษณะการตี เขาอยากจะตีให้ตาย ไม่ได้ตีเพื่อจับ เพราะตอนมันล้มแล้วเขาตีซ้ำไปอีกครั้ง คงจะเห็นว่ามันตายแล้วถึงได้หยุดตี มาบอกว่าปล่อยสู่ป่าไปแล้ว คงกลัวความผิดที่ทำไว้น่ะครับ”
“เฮ้ย! ไม่ใช่มั้ง ไม่เชื่ออ่ะ ตกลงทำร้ายไปกี่ตัวกี่ฝูงแล้วนี่ ตั้งแต่เปิดโรงงานมา ต้องสืบย้อนหลังและป้องกันปัญหาอนาคตด้วยนะคะ กรมอุทยานฯ กรุณาเอาจริงนะคะ อย่าได้เกรงใจ ทำผิดไม่สำนึก ไม่ขอโทษแล้วยังมากลบเกลื่อนนี่ ต้องโดนแบน ใคร อนุมัติให้สร้างโรงงานไปได้ยังไงฟะ ไม่สำรวจอะไรบ้างหรือ เดาว่าเป็นคนละหน่วยงานกัน ประเทศไทย!!!”
“โหดร้ายมากไปมั้ง ตอนที่ล้มตอนแรกก็น่าจะพอแล้ว มีพนักงานตั้งหลายคนก็เข้ามาช่วยกันจับหัว จับขา แค่หาผ้าหรือเชือกมามัดเท้าก็อยู่แล้ว จะโชว์พาวไปไหน ตีซะตายคาที่”
“เอาจริงๆ ครับ ผมไม่ได้อยากจะเหมารวมทั้งองค์กรนะครับ แต่ที่เขาโพสต์มาตามรูปที่มาลงนั้น เห็นได้ชัดว่าทางตัวบริษัทสร้างภาพครับ เลยต้องโทษตัวองค์กรด้วย เนื่องจากว่าโกหกและสร้างภาพ ให้ข้อมูลเท็จแก่ประชาชน แล้วเช่นนี้จะไม่ให้เหมารวมได้อย่างไรครับ”
บิดเบือนสร้างภาพ ระวังซ้ำรอย ปตท.
ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไปที่ไม่เชื่อ แม้แต่ “หมอหม่อง” หรือ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา หนึ่งในแกนนำผู้ประท้วงคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวเพื่อต่อต้านการสร้างภาพลักษณ์องค์กรของ ปตท. จากกรณีทำน้ำมันรั่วลงอ่าวพร้าว ก็ร่วมสงสัยอีกแรงว่าคำแก้ต่างและภาพการปล่อยเลียงผานั้นคือการแหกตา
“ตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนออกมาว่ายังไง แต่ถ้าเกิดว่ามีการค้นพบว่าเป็นการโกหกหรือสร้างภาพ ผมว่ามันก็จะยิ่งสุมไฟทำให้โกรธมากยิ่งขึ้น อันนี้ผมคิดว่าทางบริษัทต้องระวังเรื่องอะไรแบบนี้มากๆ ก่อนที่จะออกมาชี้แจง ยกตัวอย่าง กรณีน้ำมันรั่ว ปตท.ก็ชัดเจนมาก เห็นเลยว่าความโกรธของคนไม่ได้มาจากเรื่องน้ำมันรั่วนะครับ แต่โกรธจากการพยายามปกปิดและให้ข้อมูลผิดๆ ว่ากำจัดได้แล้ว แล้วก็มาเกิดปัญหาภายหลัง แบบนี้แหละครับคือสิ่งที่เรารับไม่ได้
จริงๆ แล้ว การที่โรงงานปูนซีเมนต์ไปตั้งตรงนั้น ก็ถือเป็นการไปทำลายบ้านของเลียงผาอยู่แล้ว เมื่อมันตกใจและพลัดหลงมาในพื้นที่ ก็ยังมารังแกมันซ้ำเติมอีก จึงเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดมาก เพราะเรารังแกเขาหลายต่อ
สิ่งที่ผมคิดว่าหลายคนโกรธ ไม่ใช่แค่เพียงการแสดงออกที่ไร้เมตตา แต่เป็นปฏิกิริยาของบริษัทในเบื้องต้น ซึ่งพยายามจะปิดเรื่องและไม่ได้ออกมาขอโทษในช่วงแรกๆ เราก็มองว่าอันนี้ไม่เหมาะสม อันนี้ทราบมาว่ามีการคุยกันเป็นการภายในบริษัทว่า คนที่โพสต์คลิปเองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทคนนึง ถูกต่อว่าเป็นการใหญ่ว่าทำให้ภาพลักษณ์บริษัทเสียหาย และหัวหน้าของคนงานที่ไปตีเลียงผาตัวนั้น ก็ยังปกป้องลูกน้อง ไม่เห็นว่าทำอะไรผิด ถ้าเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ย่อมจะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างทันทีก่อนที่สังคมจะประณามด้วยซ้ำ”
เมื่อความคับข้องใจถึงขีดสุด หมอหม่องจึงโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Rungsrit Kanjanavanit” เรียกร้องต่อผู้บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ โดยเสนอแนะให้ทางบริษัทแสดงความเสียใจและขอโทษต่อสาธารณชนกับเหตุการณ์ทารุณกรรมสัตว์ที่เกิดขึ้นในบริษัท, สอบสวนค้นหาข้อเท็จจริงและลงโทษผู้กระทำผิด, วางมาตราการที่เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะคล้ายกันขึ้นอีกในบริษัท และวางแผนหรือให้ทุนกับหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ป่า เช่น กรมอุทยานฯ ในการเคลื่อนย้ายเลียงผาตัวอื่นๆ ที่อาจจะยังมีอยู่ ออกจากพื้นที่สัมปทานระเบิดภูเขา ไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยวิธีที่เป็นสากล”
ซ้ำยังย้ำว่าไม่ใช่แค่โรงงานนี้อย่างเดียว แต่โรงงานปูนรายอื่นๆ ก็ควรดูเป็นอุทาหรณ์และเตรียมวางมาตรการเอาไว้เช่นกัน และจากความเคลื่อนไหวอย่างเด็ดเดี่ยวเช่นนี้เอง จึงทำให้ล่าสุด วรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ออกจดหมายแสดงความรับผิดชอบออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ได้โพสต์ลงในเพจ “TPI Online Market” แฟนเพจของบริษัทอย่างที่เคยทำในครั้งแรก เพราะตัวเพจเดิมหายไปจากระบบออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ข้อความในย่อหน้าต่อจากนี้จึงเป็นเนื้อความส่วนหนึ่งจากจดหมายที่ส่งมาให้ นพ.รังสฤษฎ์ ผู้ตามติดกรณีนี้ให้ฝากแชร์ต่อ
“ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ในฐานะผู้บริหารคนหนึ่ง ผมอยากจะขออภัยต่อสาธารณชนที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นการกระทำผิดอันเนื่องจากบุคคลหนึ่ง แต่ผมตระหนักว่ามันเป็นความรับผิดชอบขององค์กร ซึ่งต้องขอยอมรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะต้องหาแนวทางในการดำเนินการเพื่อมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ตลอดจนจะต้องทำการเยียวยาและปกป้อง ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาวโดยขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ผมขอน้อมรับตำหนิจากทุกท่านและกราบขออภัยอย่างยิ่งสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว”
“แก้ต่าง” เมื่อสาย สุดท้ายแค่ “แก้ตัว”
ถ้าไม่ถูกแฉ อย่าหวังเลยว่าจะมีบริษัทไหนกล้าออกมายอมรับความผิดพลาดของตัวเอง... โรเจอร์ โรหนันทน์ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) วัดจากประสบการณ์การทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ และคุ้นชินกับวิธีสร้างภาพลักษณ์องค์กรมานาน
“สังคมไทยพร้อมที่จะให้อภัยคนที่พลั้งเผลอเสมอ แต่ไม่ชอบที่คนเลวจะมานั่งแก้ตัวไปวันๆ และการตอบทางเฟซบุ๊กหรืออินเทอร์เน็ตไม่น่าจะเพียงพอ ถึงเราจะบอกว่าเรื่องยังไม่ถึงคนทั้งประเทศ ยังอยู่แค่ในเน็ต เราก็ตอบแค่ในเน็ต มันไม่ใช่ไงครับ สำหรับผม ยิ่งออกมาขอโทษก่อนที่จะถูกแฉ พอรู้ว่าพลาดปุ๊บ ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวตามที่มีข่าวบนอินเทอร์เน็ตว่าเป็นยังไงก็อธิบายไป บางท่านอาจจะยังไม่ทราบ แต่เราก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ทางบริษัทเองก็ยอมรับไม่ได้ คนที่ไม่รู้เรื่องมาก่อนก็จะคิดว่า เอ้อ! ดีเว่ย ออกมาบอกรับทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องทำ ผมว่าอย่าขอโทษเฉพาะเวลาจำเป็นหรือโดนจับได้ ถ้ารู้ว่าผิดก็รีบขอโทษดีกว่า ไม่งั้นก็จะโดนข้อหาเดียวกับรัฐบาลแหละ พอจวนตัวก็ยุบสภา อะไรแบบนั้น
แต่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทที่รักษาภาพลักษณ์องค์กรจะชอบมองว่า ยิ่งออกมาแถลงข่าว ยิ่งคนรู้ในวงกว้างยิ่งจะเสียหาย ซึ่งเป็นความผิดพลาดในการทำงานนะผมว่า ผมทำเรื่องอนุรักษ์มาตลอดเจอปัญหานี้ตลอด และเราจะบอกกับองค์กรว่า คุณอย่ารอให้เป็นเรื่อง คุณอย่ารอให้มันขึ้นหน้าหนึ่ง ถ้าคุณรู้ว่ามันผิดและคุณออกมาบอกเขาเสียก่อน คุณแก้ไขเสียก่อน คนเขานับถือคุณ แต่ถ้าคุณโดนจับได้แล้วคุณมาขอโทษ ไม่มีใครเขานับถือคุณหรอก รอให้เป็นเรื่องใหญ่แล้วค่อยออกมาแก้ตัว มันหมดยุคไปแล้วครับ อย่างที่โบราณเขาว่าไงครับ ถ้าคุณพูดก่อนถือเป็นการชี้แจง แต่ถ้าพลาดแล้วคุณบอก มันแก้ตัว ดังนั้น คุณชี้แจงดีกว่า”
ลองมองปัญหาทารุณกรรมสัตว์เทียบกับระดับสากลดูบ้าง เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) บอกได้เลยว่าบ้านเราล้าหลังมากๆ และต้องเริ่มเรียนรู้กันเสียใหม่ในเรื่อง “การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสัตว์”
“อย่าง อเมริกา ฮอลแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ประเทศเขาเป็นป่าทั้งประเทศ และประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์พื้นที่ป่ามาก เราจะได้ยินข่าวในบ้านเขาว่า มีจระเข้คลานเข้าไปในห้างฯ หรือกวางมูซมายืนขวางถนน แต่บ้านเขาจะไม่มีปัญหาว่าคนเอาปืนมายิงจระเข้ที่เข้าห้างฯ หรือมาไล่ทำร้ายกวางเลย ไม่มีใครทำร้ายสัตว์พวกนี้ เพราะสังคมเขารู้ ประชาชนได้รับการชี้แจง ภาคเอกชนก็จะรู้หมดว่าสัตว์พวกนี้เป็นสัตว์คุ้มครอง ถึงมีปัญหาและกระทบการค้าบ้าง แต่เขาจะไม่ลงมือกันเองเด็ดขาด จะติดต่อฝ่ายควบคุมสัตว์ป่าให้มาช่วยเหลือ
ไม่ใช่เพราะแค่เขารู้ว่าผิดกฎหมายนะ แต่เพราะเขารู้ว่ามันไม่ถูกต้องที่จะไปทำร้ายสัตว์ เพราะสัตว์เขาไม่รู้ว่านี่คือห้างฯ นี่คือถนน
บ้านเราอาจจะมีหมามาคุ้ยถังขยะ แต่อเมริกามีแรคคูนมาคุ้ยขยะ และเขาก็ไม่ฆ่าแรคคูนกัน ทั้งๆ ที่บ้านเมืองเขา แรคคูนสามารถฆ่าได้ แต่เขาไม่ทำร้ายเลย และก็ไม่เห็นเขามานั่งบ่นนะว่ายิ่งไม่ฆ่า แรคคูนก็ยิ่งเยอะ แต่เขาก็อยู่กับมันได้ เพราะเขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสัตว์ ไม่ได้มานั่งคอยคิดทำลายสัตว์ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตที่สะดวกสบายของเรา แต่เมืองไทยเรากำจัดสัตว์เพื่อความสะดวก จะเห็นว่ามีการจับนกพิราบที่สนามหลวงไปปล่อยป่าเพราะแค่นกพิราบไปขี้บนหลังคา
ผมว่าโดยพื้นฐานสังคมแล้ว สังคมไทยเรายังต้องพัฒนาเรื่องสำนึกในการเรียนรู้ที่จะอยู่กับสัตว์และธรรมชาติให้มากกว่านี้ แล้วภาครัฐควรจะต้องเป็นแกนนำ ให้ความรู้ความเข้าใจและออกมาทำตัวเป็นเยี่ยงอย่างอย่างจริงจัง ไม่ใช่รอให้เหตุเกิดครั้งหนึ่งกับสัตว์ ประชาชนก็ออกมาสงสาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ออกมาขอโทษ เราจะต้องเลิกทำวิธีนี้! แต่ต้องเน้นการป้องกัน ทำความเข้าใจ และสร้างสำนึกอย่างจริงจัง อย่างสร้างสำนึกกันเป็นกิจกรรมชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น”
ส่วนกรณีน่าสลดใจที่เกิดขึ้นนี้ พนักงานโรงปูนทุบตีเลียงผาจนสลบคาที่ทั้งที่มันเป็นสัตว์ที่ไม่ได้มีพิษสงอะไร สะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจที่ผิดปกติของผู้กระทำการอันโหดเหี้ยมและทารุณ
“เขามีการศึกษาทางด้านจิตวิทยาว่าตอนนี้คนมีกฎหมายควบคุมเยอะ เราไม่สามารถทำร้ายหรือระบายอารมณ์กับคนด้วยกันเองได้โดยสะดวก แต่สัตว์เนี่ย เป็นอะไรที่คนยังสามารถระบายได้และหาตัวรอดได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งแทบไม่มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์เลย
และคนเราจะมีความรู้สึกว่าฉันเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าสัตว์อื่น เป็นผลมาจากเราต้องก้มหัวให้ทุกคน ก้มหัวให้ลูกค้า ก้มหัวให้เจ้านาย ทำให้เกิดภาวะต่ำต้อย ถูกควบคุม เราก็ไประบายกับสัตว์ แสดงอำนาจบาดใหญ่กับสัตว์ อย่างกรณีเลียงผาที่หลุดเข้ามา จะมีคนช่วยกันรุม หรือออกไปร่วมกันทำร้ายสัตว์ อยากจะแสดงความก้าวร้าวโดยไม่ผิดกฎหมาย หรือเวลามีกระรอกหลุดมาแถวบ้าน บางคนก็ยิง แสดงให้เห็นว่าสภาพจิตใจของคนยังไม่พัฒนา เรายังเห็นสัตว์เป็นเครื่องระบายความก้าวร้าว แทนที่เห็นแล้วจะรู้สึกว่าโชคดีนะมีกระรอกเข้าบ้านหรือเลียงผาหลุดเข้ามา
เขารู้อยู่ว่าโอกาสที่จะไปล่าสัตว์ในป่ามันมีน้อย ถ้ามึงเข้าบ้านกูเมื่อไหร่ กูเล่นเลย เพราะคิดว่าเป็นโอกาสที่หายาก อยากจะใช้โอกาสในการแสดงความเป็นมนุษย์ที่เก่งกล้า สามารถล่าสัตว์ได้ เพราะเราไม่สามารถระบายความเก่งกล้ากับคนในสังคมได้ จึงมีคนที่มาระบายลงกับสัตว์ทุกครั้งที่มีโอกาส”
แต่จะมามัวนั่งสลดกับข่าวที่เกิดขึ้นแบบนี้ทุกครั้งก็คงไม่มีประโยชน์อะไร จึงแนะนำให้ทุกคนเลิกสลดแล้วลงมือแก้ไขเท่าที่ทำได้
“บอกตัวเองเลยว่าเราจะไม่สลดใจอีก แล้วเราก็จะเป็นคนแรกที่จะพัฒนาสำนึกในการอยู่ร่วมกับสัตว์ จะได้ไม่ต้องเสียใจให้กับสัตว์ที่คนอื่นทำร้าย เพราะหลายๆ คนที่สลดใจกับเหตุการณ์นี้ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะทำยังไงถ้าเจอเหตุการณ์เดียวกัน แต่ถ้าคนอื่นทำ ฉันจะออกมาวิจารณ์ อันนี้คือนิสัยอย่างหนึ่งของคนไทย
ถ้าทุกคนเห็นว่าครั้งนี้มันพลาดแล้วและมาร่วมกันด่า ผมว่ามันไม่มีประโยชน์ ทุกคนควรจะบอกตัวเองว่าเราจะทำยังไงไม่ให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นอีกโดยเริ่มจากตัวเรา สอนลูกสอนหลานเราว่าสัตว์เข้ามาอย่าทำร้ายนะลูก ลูกเราไปเจอที่ไหนก็จะไม่ทำ เจอคนอื่นทำก็พร้อมจะห้ามปราม และมันจะเป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆ อย่าไปมองว่าเป็นปัญหาของเจ้าหน้าที่หรือเป็นความเลวของคนอื่น เพราะคนทำเขาก็ไม่ได้คิดจะเลว แต่ความเลวของคนคนหนึ่งก็เกิดมาจากคนในบ้าน เราไม่สอนลูก แต่เราหวังว่าลูกโตขึ้นจะเป็นคนดี มันจะเป็นไปได้ยังไง”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วน: เพจ “คนอนุรักษ์” และ เฟซบุ๊ก “Rungsrit Kanjanavanit”