xs
xsm
sm
md
lg

อธิบาย “รัก” ด้วยเคมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากเอพี
ทำไมเห็นหน้าใครคนนั้นแล้วเกิดวูบวาบ อาการแบบนี้เรียกว่ารักหรือเปล่า...หลายคนคงตั้งคำถามทำนองนี้ในช่วงวัยว้าวุ่นและวุ่นรัก หรือจะเลยมาสู่วัยผู้ใหญ่แล้วหลายคนก็ยังมีอาการ

นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บรรยายว่าในช่วงวัยเด็กเราเล่นกับเพื่อนต่างเพศโดยไม่รู้สึกอะไร แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงประถมปลายจะเริ่มรู้สึกวูบวาบเมื่ออยู่ใกล้เพศตรงข้าม เพราะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

“เด็กหญิงจะเริ่มมีประจำเดือน ตั้งแต่ 8-9 ขวบ ซึ่งเด็กสมัยนี้โตเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว เพราะถูกเร่งด้วยแสง สี เสียง และอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น แต่ถ้าเด็กคนไหนมีประจำเดือนก่อน 8 ขวบถือว่าผิดปกติ” นพ.สุกมล กล่าว

ในผู้หญิงนั้นมีฮอร์โมนของความรักและการแสวงหา ซึ่ง นพ.สุกมล บอกว่าเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงถึงคลั่งไคล้ดารา ส่วนผู้ชายนั้นมีฮอร์โมนของความใคร่และความก้าวร้าว ซึ่งช่วงเช้าผู้ชายจะพบอวัยวะเพศแข็งตัว หรือมีความรู้สึก “หื่น” อันเป็นผลจากการหลังฮอร์โมนเพศ และทำให้เกิดอารมณ์ความใคร่ขึ้นมา

“ระหว่างความรักกับความใคร่ เป็นวงกลมซ้อนกันอยู่ เราจะเห็นว่าในวงกลมของความใคร่ส่วนหนึ่งไม่มีความรักเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรู้สึกแบบนี้เราพบได้ในกลุ่มผู้ใช้การขายบริการทางเพศ หรือกลุ่มเพศสัมพันธ์ชั่วคราวแบบ “รักยั่งยืนแค่คืนเดียว” เป็นการใช้ร่างกายของอีกฝ่ายบำบัดความใคร่ ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกรัก” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกล่าว

ส่วนความรักที่เจือด้วยความใคร่ในส่วนที่วงกลมซ้อนทับกันนั้น นพ.สุกมล กล่าวว่าเป็นความรู้สึกเสน่หา เป็นความรักแบบคู่รักมีให้กัน ส่วนความรักที่ไม่มีความใคร่เจือปนนั้นเรียกว่าความเมตตา

นพ.สุกมล ตัวอย่างอิทธิพลของฮอร์โมนที่อธิบายถึงพฤติกรรมหลายๆ อย่าง เช่น เด็กชายวัย 4-5 ขวบ ไม่รู้สึกอะไรเมื่อดูภาพผู้หญิงเปลือย หรือชายชราวัย 60-70 ปี มองผู้หญิงแล้วไม่รู้สึกอะไร เป็นผลจากวัยเด็กยังไม่หลั่งฮอร์โมนเพศ หรือฮอร์โมนลดลงเมื่ออายุมากขึ้น เป็นต้น

“เพศหญิงยังมีฮอร์โมนออกซิโตซิน เป็นฮอร์โมนแห่งความเป็นแม่ หรือฮอร์โมนแห่งความผูกพัน ซึ่งจะหลั่งหลังจากมีเซกส์ทำให้ผู้หญิงผูกพันกับคู่นอนของตน หลั่งหลังคลอดลูกและให้นมบุตร ทำให้ผูกพันกับลูกมากกว่าผู้ชาย ส่วนผู้ช่วยมีฮอร์โมนวาโซเพรสซิน ฮอร์โมนแห่งความรับผิดชอบ ทำให้รู้สึกต้องทำงานเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย”

“ฮอร์โมนเหล่าเป็นสารตามธรรมชาติที่ยังไม่มีสารทดแทน แต่ก็เริ่มมีบริษัทยาเริ่มพัฒนาฮอร์โมนออกซิโตซินให้ผู้ชายกิน เพื่อให้รักเดียวใจเดียว แต่นอกจากฮอร์โมนแล้วความรักยังเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทชื่อเซโรโทนนิน ซึ่งพบว่าคนที่หลงรักใครมากๆ หรือคนอกหักจะมีสารนี้ต่ำ ซึ่งเป็นอาการเดียวกับคนย้ำคิดย้ำทำและอาการเดียวกับโรคซึมเศร้า” นพ.สุกมลกล่าว

การบรรยายเกี่ยวกับฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่เกี่ยวเนื่องกับความรักนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสวนา “14 กุมภาพันธ์ รักแท้หรือแค่เคมี” ที่จัดขึ้นเมื่อ 13 ก.พ.57 ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต

พร้อมกันนี้ จิตแพทย์คนเดิมยังให้ข้อมูลที่น่าห่วงว่า ทุกๆ 4 นาที จะมี “แม่วัยรุ่น” หรือผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 19 ปี ให้กำเนิดลูก 1 ราย และประเมินว่ามีผู้หญิงทำแท้งในหลักแสนรายต่อปี แต่ไม่สามารถบอกตัวเลขที่ชัดเจนเพราะไม่มีการเก็บตัวเลขอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการทำแท้งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และมักกระทำในคลินิกเถื่อน และพบว่ามีผู้เสียชีวิตหรือติดเชื้อจากการทำแท้งเป็นจำนวนมาก

จากปัญหาแม่วัยรุ่นและการทำแท้งซึ่งพบว่ามีการติดเชื้อจนเสียชีวิต นพ.สุกมล ให้ข้อมูลว่านำไปสู่การให้ความรู้เพื่อป้องกัน 5 ระดับ

ระดับ 1 เป็นการให้ความรู้และควบคุมโดยพ่อแม่ คือ ในวัยเรียนอย่าเพิ่งมีแฟน

ระดับ 2 หากมีแฟนแล้วอย่าเพิ่งมีเพศสัมพันธ์ เป็นการให้ความรู้เพื่อป้องกันในระดับมัธยมศึกษา

ระดับ 3 หากมีเพศสัมพันธ์แล้วจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ท้อง เป็นการป้องกันในระดับอุมศึกษา ที่พบว่ามีการอยู่กันเป็นคู่ตามหอพัก

ระดับ 4 หากท้องแล้วจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ทำแท้ง และระดับ 5 ถ้าทำแท้งจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการติดเชื้อและตกเลือด

“จะให้ได้ผลต้องลงไปที่การเลี้ยงลูก เพราะสมัยนี้เลี้ยงลูกกันแบบเน้นสมองส่วนอยาก แต่ไม่เน้นสมองส่วนยับยั้งชั่งใจ ผมเคยพูดเรื่องนี้เมื่อ 10 กว่าปีก่อนว่าจะมีปัญหาเรื่องเด็กมีเซ็กซ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งต้องให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้องแต่ถูกต่อต้าน ต่อไปในอนาคตเราจะคล้ายฝรั่งที่การมีเซ็กซ์ในวัยเรียนเป็นเรื่องปกติ” นพ.สุกมล กล่าว พร้อมแนะทางออกที่ดีสำหรับการปลดปล่อยความรู้ทางเพศของเด็กในวัยเรียนทั้งหญิงและชายว่า “การช่วยตัวเอง” เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และเหมาะสมกับวัย







นพ.สุกมล
กำลังโหลดความคิดเห็น