xs
xsm
sm
md
lg

7 เรื่อง "ของลับ" ไม่ลับ ที่ผู้ชายไม่เคยรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครจะเชื่อว่า ก่อนหน้านี้ "ช้างน้อย" ของมนุษย์ก็มีกระดูกไม่ต่างจากสัตว์บางชนิดในปัจจุบัน และสภาพบางอย่างเช่น "โด่ไม่รู้ล้ม" หรือ กลางคืนไม่หลับไม่นอน แท้จริงแล้วเป็นปัญหาหรือไม่ "เครื่องเพศ" แม้จะถูกเก็บอยู่ในหมวดของลับของสงวน แต่การทำความรู้จักในฐานะอาวุธสืบเผ่าพันธุ์ ก็มีความจำเป็นไม่น้อย

ที่จริงแล้ว "ระบบสืบพันธุ์" เป็นส่วนที่มีการศึกษากลไกต่างๆ อยู่มากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "องคชาต" นับได้ว่าเป็นอวัยวะมนุษย์ ที่มีการทำวิจัยศึกษากันไม่น้อย แต่เรื่องราวของ "ช้างน้อย" กลับไม่ค่อยได้รับการเปิดเผยมากนัก "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จึงนำข้อมูลจาก "ไลฟ์ไซน์" (livescience.com) และ "เมนส์เฮล์ธ" (Menshealth.com) มานำเสนอ เพื่อทำความรู้จักในบางแง่มุมของสิ่งที่มนุษย์หลายคนเรียกว่า "เจ้าโลก"
ขนาดใครว่าไม่สำคัญ โดยเฉพาะขนาดของอวัยวะสืบพันธุ์มีส่วนต่อการเลือกคู่
1.ไซส์ไหนใช่มาตรฐาน

แน่นอนว่า เมื่อเอ่ยถึง "องคชาต" ประเด็นแรกที่มักจะได้รับการถกเถียง สำรวจ วิจัยกันอย่างมากที่สุดก็คือเรื่องของ "ขนาด" ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างมากมายหลายครั้ง และครั้งนี้ไลฟ์ไซน์ได้อ้างข้อมูลจากวารสารเซ็กซัวล์ เมดิซีน (Journal of Sexual Medicine) ที่สำรวจผู้ชายจำนวน 1,661 คน ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและรูปร่าง พบว่า ค่าเฉลี่ยของอวัยวะเพศชายเมื่อแข็งตัว จะมีความยาวประมาณ 5.56 นิ้ว (14 ซม.)

ความยาวองคชาตที่วัดจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนี้ วัดเมื่อขณะแข็งตัวซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 1.6 นิ้ว (4 ซม.) จนถึง 10.2 นิ้ว (26 ซม.) และไม่ใช่ว่าการแข็งตัวทุกครั้งจะมีความยาวเท่ากัน จากผลการสำรวจนี้ชี้ว่า หากน้องชายถูกกระตุ้นด้วยการร่วมเพศแบบออรัลเซ็กซ์ หรือ มีการสอดใส่จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า การถูกกระตุ้นด้วยการจินตนาการเพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ การแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย ก็คือการที่หลอดเลือดบริเวณองคชาตขยายตัว ทำให้ปริมาณเลือดไหลเวียนไปที่จุดดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การศึกษาชิ้นอื่นๆ ยังชี้ว่า การสูบบุหรี่มีผลทำให้ปริมาณเลือดไหลที่ไปจุดดังกล่าวลดลง ซึี่งส่งผลให้อวัยวะเพศขยายตัวน้อยลงประมาณ 0.4 นิ้ว (1 ซม.) ดังนั้นการสูบบุหรี่ไม่ใช่แค่ทำร้ายปอด แต่ทำอันตรายลึกไปถึงกล่องดวงใจด้วย

2. "ขนาด" ใครคิดว่าไม่สำคัญ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ความ "เล็ก-ใหญ่" ของเครื่องเพศนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อต้องลงสนามปฏิบัติภารกิจ เพราะผู้หญิงที่ถึงจุดกระสันต์ในช่องคลอดนั้น จะสำเร็จได้ง่าย หากอวัยวะของฝ่ายชายมีความยาวกว่า จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2012 ของวารสารเซ็กซัลว์ เมดิซีน

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการวิจัยชี้ชัดว่า ทำไมองคชาตที่ยาวกว่าถึงกระตุ้นช่องคลอดและปากมดลูกของฝ่ายหญิงได้ดีกว่า แต่ช่วยให้ฝ่ายชายสามารถปล่อยสเปิร์มเข้าสู่ช่องคลอดได้ดีกว่า

เมื่อใหญ่กว่าย่อมดีกว่า ทำให้ผู้หญิงนิยมที่จะเลือกชายร่างใหญ่ไว้ก่อน เพื่อความสบายใจ โดยผลการศึกษาปี 2013 ซึ่งลงรายละเอียดในเอกสารการประชุมวิชาการสภาวิทยาศาสตร์ สหรัฐฯ (Proceedings of the US Academy of Sciences) รายงานว่า ผู้หญิงมักจะเลือกผู้ชายที่ตัวสูงไว้ก่อน โดยเฉพาะสัดส่วนจากไหล่ถึงสะโพก เพราะเชื่อว่าจะมีขนาดน้องชายใหญ่กว่า และสร้างความสุขสมได้มากกว่าผู้ชายที่ตัวเตี้ย

3. "ข้าวเหนียว" หรือ "ข้าวเจ้า"

เมื่อสำรวจขนาดของ "น้องชาย" ในยามสงบอาจจะก็ไม่มีทางที่จะทำนายได้เลยว่า เมื่อถึงเวลาปฏิบัติการแล้วอาวุธของแต่ละนายจะขยายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการขยายตัวขององคชาตเมื่อเกิดความต้องการทางเพศ มีอยู่ 2 แบบคือ 1.องคชาตจะขยายตัวและยาวขึ้นมากกว่าเดิม (grower หรือ ข้าวเจ้า) และ 2.องคชาตจะขยายตัวและยาวไม่ต่างไปจากสภาพปกติ (shower หรือ ข้าวเหนียว)

นิตยสารเมนส์เฮล์ธ ได้สำรวจผู้ชายทั่วโลก (ไม่ได้ระบุจำนวนกลุ่มตัวอย่าง) พบว่า 79% เป็นพวกข้าวเจ้า และอีก 21% เป็นพวกข้าวเหนียว

นอกจากนี้ ยังมีสถิติระบุระยะเวลาในการถึงจุดสุดยอดไว้ว่า ในผู้ชายจะใช้เวลาสุขสมกับความรู้สึกนั้นนานที่สุด 6 วินาที ขณะที่ผู้หญิงจะคงความรู้สึกนี้ไว้ได้นานถึง 23 วินาที จากสถิตินี้ทำให้มีการกระเซ้าถึงผู้หญิงที่รักความเท่าเทียมว่า ถ้าเช่นนั้นควรปล่อยให้คู่นอนได้สำเร็จความใคร่ถึง 4 ครั้ง จึงจะใช้เวลาแห่งความสุขสมได้ยาวนานพอๆ กัน

4. เพราะมันเคยมี "กระดูก"

วิวัฒนาการของ "เจ้าโลก" นั้นเปลี่ยนไปมากมาย โดยช่วงหนึ่งองคชาตของมนุษย์มีกระดูกแกนกลาง แต่บรรพบุรุษได้ละทิ้ง "เดือย" ไว้ในช่วงวิวัฒนาการตั้งแต่ก่อนมนุษย์นีอันเดอร์ทัล (Neanderthals) และลักษณะของมนุษย์ยุคปัจจุบันก็แตกต่างไปจาก 700,000 ปีก่อนมาก ตามรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ (Nature) ปี 2010

นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่า กระดูกในองคชาตของมนุษย์โบราณนั้นมีหน้าที่อะไร แต่อาจจะเป็นได้ว่าเพื่อให้เกิดมีเพศสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว เพราะจะช่วยให้อัวยวะเพศแข็งตัวได้เร็วกว่าหากไม่มีกระดูก ซึ่งกระดูกในตำแหน่งเดียวกันนี้ก็ปรากฎอยู่ในสัตว์หลายชนิด ในปัจจุบันอย่างเช่น แมว หรือ สุนัข

อย่างลิงเอปส์ก็มีท่อนกระดูกที่องคชาต กระดูกชิ้นนี้ช่วยให้อวัยวะแข็งตัว ขณะที่มนุษย์ไม่มี โดยกลไกการแข็งตัวพึ่งพาแต่จากแรงดันเลือด ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าทำไมกระดูกชิ้นนี้ในมนุษย์เพศชายถึงหายไป

เรื่องนี้ ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) นักชีววิทยาได้เขียนอธิบายไว้ในหนงสือที่ชื่อแปลเป็นไทยได้ว่า "ยีนเห็นแก่ตัว" ("The Selfish Gene" ; Oxford University Press, 2006) ที่วิวัฒนาการมนุษย์เลือกที่จะไม่มีกระดูกในองคชาตนั้น ก็เพราะต้องการให้เพศหญิงได้ประเมินภาวะสุขภาพของคู่ เพราะหากร่างกายไม่แข็งแรง เลือดลมไม่ปกติ ก็จะไม่สามารถแข็งตัว อันนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ได้

5. "ตื่น" ยามวิกาล

ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มโสดหรือหนุ่มไม่สด ในยามกลางคืนก็เวลาที่ "องคชาต" ทำงาน ในบางคนน้องชายอาจแข็งตัวได้ 3-5 ครั้งต่อคืน โดยอยู่ในช่วงการหลับแบบ REM (rapid eye movement) ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังฝัน โดยไม่ว่าจะฝันถึงเรื่องวาบหวิวหรือไม่ก็ตาม

การตื่นตัวของน้องชายในยามหลับฝันนี้ ช่วยคงรูปขององคชาต เพราะหากไม่ได้แข็งตัวตามปกติ อาจเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพ และอาจร้ายแรงถึงกับหดตัวได้ นี่ถือเป็นกระบวนการทางสรีรศาสตร์ ซึ่งแพทย์มักสอบถามผู้ชายถึงสภาพการตื่นตัวในยามวิกาล ก็เพื่อวิเคราะห์ถึงเหตุอาการแข็งตัวผิดปกติขององคชาตได้

6. องคชาตผิิดปกติ

ปัญหาผิดปกติที่พบมากที่สุดก็คือ การช่วยตัวเองหรือมีเซ็กซ์อย่างรุนแรง จนทำให้เกิดบาดเจ็บ หรือจนกระทั่งองคชาตหัก

ส่วนอีกปัญหาหนึ่ง ที่พบเช่นกันคือ "ภาวะองคชาตแข็งค้าง" (priapism) โดยเจ้าน้องชายจะแข็งตัวต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 4 ชั่วโมง แม้ไม่ได้รับการกระตุ้นแล้ว ซึ่งอาการโด่ไม่รู้ล้ม ที่ฟังดูเหมือนจะดี แต่กลายเป็นปัญหาก็เพราะว่า ปริมาณเลือดที่มาคั่งเมื่อยามถูกกระตุ้น ไม่สามารถไหลกลับคืนสู่ร่างกายได้ ซึ่งอาการนี้อาจเกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจาง (sickle-cell anemia) หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย)

สภาวะดังกล่าวถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งต้องฉีดซูโดอีไพน์ฟรีน (pseudoepinephrine) เพื่อให้กล้ามเนื้อเรียบขององคชาตหดตัว

ยังมีความผิดปกติอีกกรณีที่เกิดน้อยมาก ก็คือการมีองคชาต 2 อันติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ตามสถิติมีโอกาสเป็นได้ทุกๆ 5-6 ล้านคน ซึ่งการมีองคชาต 2 อันนี้เรียกว่า "ไดฟาลลัส" (diphallus) และแน่นอนว่า การมีมากกว่าคนปกติไม่น่าจะเป็นเรื่องดี ซึ่งส่วนใหญ่เลือกที่จะตัดทิ้งเหลือเพียงอันเดียว
หนังหุ้มปลายองคชาตที่ยังไม่ได้ขริบ(ซ้าย) และที่ขริบแล้ว (ขวา) (ภาพ howstufworks)
7. ความจริงของหนังหุ้มปลาย

เด็กเมืื่อเกิดใหม่ เนื้อเยื่อบริเวณหนังหุ้มปลายองคชาต จะเป็นตัวเชื่อมส่วนหัวของลึงค์ โดยในท้องแม่ เนื้อเยื่อในเพศชายจะพัฒนาเป็นหนังหุุ้มองคชาต ขณะที่เพศหญิงจะพัฒนาเป็นกลีบคลุมปุ่มกระสันต์ (clitoral hood)

ด้านในของหนังหุ้มปลายองคชาตเป็นชั้นเยื่อเมือกที่เหมือนกับภายในหนังตาและภายในปาก ซึ่งมีสภาพชุ่มชื้น สภาวะแบบนี้ช่วยเพิ่มอัตราการติดต่อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้่ชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายองคชาต

ทั้งนี้ ที่บริเวณหนังหุ้มปลายนั้นมีเซลส์แลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans cells) อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเซลส์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และเชื้อเอชไอวี (HIV) จะแทรกซึมผ่านทางเซลส์นี้ นั่นเลยอธิบายได้ว่า ในชายแอฟริกันที่ขริบแล้ว จะมีอัตราติดเชื้อเอชไอวีต่ำกว่า 60% เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม

ขณะที่สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) ไม่ได้สนับสนุนหรือห้ามการขริบ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า การขริบมีทั้งข้อดีและความเสี่ยง แต่มีนักเคลื่อนไหวออกมาค้านการขริบ โดยอ้างการศึกษาว่า การขริบทำให้ผู้ชายมีความสุขทางเพศน้อยลง แต่รายงานชิ้นนี้ก็ยังไมได้รับการยอมรับ เพราะถูกตั้งข้อสงสัยว่าระเบียบวิธีวิจัยมีปัญหาและอคติ

ที่น่าสนใจคือ แพทย์สามารถปลูกผิวหนังของผู้ที่ถูกไฟไหม้ด้วยหนังหุ้มปลายองคชาต ที่ขริบจากเด็กทารก ซึ่งหนังหุ้มปลายของเด็กคนเดียวสามารถเพาะเลี้ยงจนกลายเป็นผิวหนังที่มีพื้นที่ 23,000 ตารางเมตร มากพอที่จะคลุมสนามกีฬาขนาดใหญ่ได้ทั้งสนาม






กำลังโหลดความคิดเห็น