ทีมนักวิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยงระหว่างลักษณะการอพยพของแซลมอนในมหาสมุทรกับสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งอาจช่วยอธิบายได้ว่า ปลาชนิดนี้สามารถแหวกว่ายน้ำเป็นระยะทางหลายพันไมล์ไปยังแม่น้ำที่เป็นบ้านเกิดได้อย่างไร
งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท ในสหรัฐฯ ซึ่งข่าวประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเผยว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ยืนนยันความเชื่อมโยงระหว่างปลาแซลมอนกับสนามแม่เหล็ก จากการทดลองหลายๆ ครั้ง ณ ศูนย์วิจัยฟักไข่โอเรกอนในลุ่มน้ำอัลซี
ทีมวิจัยนำลูกแซลมอนไปปล่อยยังจุดที่ห่างไกลจากมหาสมุทรบริเวณที่ลูกปลาเพื่อให้ได้รับสนามแม่เหล็กที่แตกต่างไป และลูกปลาก็ตอบสนองต่อสนามแม่เหล็กนั้นด้วยการว่ายไปตามทิศทางที่นำไปถึงศูนย์กลางของแหล่งเลี้ยงดูทางทะเล
นาธาน พุทแมน (Nathan Putman) นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากภาควิชาประมงและสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติของโอเรกอนสเตท เผยถึงความน่าตื่นเต้นของการทดลองนี้ ลูกปลาเหล่านั้นไม่เคยออกจากสถานที่เพาะฟัก และมั่นใจว่าลูกปลาไม่ได้เรียนรู้ระหว่างการทดลอง หากแต่เป็นพฤติกรรมที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด
เพื่อทดสอบสมมุติฐานทีมวิจัยได้สร้างลานขึ้นด้วยลวดทองแดงที่วางทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านลวดเหล่านั้น ก็จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก ที่พวกเขาสามารถควบคุมทั้งความเข้มและมุมเอียงของสนามได้ จากนั้นปล่อยลูกแซลมอนขนาด 2 นิ้วลงในถัง 5 แกลลอน ซึ่งหลังจากลูกแซลมอนปรับตัวแล้ว พวกเจาก็บตาดูทิศทางการว่ายน้ำของลูกปลา และบันทึกภาพไว้
ลูกปลาที่ได้รับสนามแม่เหล็กที่แทนขั้วเหนือจะว่ายลงใต้ ส่วนลูกปลาที่ได้สนามแม่เหล็กแทนขั้วใต้จะว่ายขึ้นเหนือ โดยลูกปลาแสดงอาการของการ “รู้แผน” โดยวัดว่าพวกมันอยู่ตรงไหนและจะว่ายไปตามทิศทางไหน โดยขึ้นอยู่กับสนามแม่เหล็กที่พวกมันได้รับ
พุทแมน ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ทีมวิจัยรู้สึกประหลาดใจคือ ลูกปลาเหล่านั้นได้รับสนามแม่เหล็กที่สร้างขึ้นแค่ 8 นาทีเท่านั้น และสนามแม่เหล็กนั้นก็ไม่แรงพอจะฝืนการเบนของเข็มทิศได้ ซึ่งปลาแซลมอนน่าจะมีสัมผัสที่ไวต่อสนามแม่เหล็กมากๆ เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกนั้นเป็นค่อนข้างอ่อน
แม้จะมีความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นว่า ระบบนำทางของปลาแซลมอนอาจถูกรบกวนจากสนามแม่เหล็กอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า ซึ่งเราก็ยังไม่ทราบแน่ชัด ทว่าพุทแมนกล่าวว่าแซลมอนเผชิญความท้าทายเหล่านั้นมานับพันๆ ปี ซึ่งรวมถึงการถูกรบกวนตามธรรมชาติจากก้อนเหล็กในเปลือกโลกด้วย
พุทแมนกล่าวว่าลูกแซลมอนมีความเสี่ยงสูงระหว่างครั้งแรกที่ลงสู่ทะเล เพราะพวกมันต้องปรับตัวเข้ากับน้ำเค็ม หาอาหาร เลี่ยงนักล่า และเริ่มต้นการเดินทางของตัวเอง สิ่งใดๆ ก็ตามที่จะทำให้การนำทางของพวกมันด้อยประสิทธิภาพลง เป็นเรื่องน่าห่วง เพราะหากพวกมันเลือกเส้นทางผิด และลงเอยในมหาสมุทรบริเวณที่ไม่อุดมสมบูรณ์ สุดท้ายพวกมันก็จะขาดแคลนอาหาร
“แต่ดูเหมือนสนามแม่เหล็กจะไม่ใช่ตัวช่วยในการนำทางเพียงอย่างเดียวในการนำทางของแซลมอน ดูคล้ายพวกมันจะมีเครื่องช่วยนำทางที่ช่วยให้พวกมันไปถึงยังที่พวกมันจะไป อาจจะรวมถึงทิศทางของดวงอาทิตย์ การได้กลิ่น หรืออื่นๆ ด้วย” พุทแมนกล่าว