***คำเตือน … บทความนี้มุ่งนำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ควรทดลองโดยพลการ***
อาจารย์นิติวิทย์ ม.เกษตรฯ อธิบายเหตุผลทำไมใช้ “ยาสีฟัน” ทำระเบิดได้ แจงเพราะมีสารที่เกิดออกซิเดชันกับตัวเองได้จนถูกนำไปใช้เป็นวัตถุระเบิดได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณมากเท่าหม้อหุงข้าว และยังต้องมีตัวจุดปะทุ
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์นิติวิทยาศาสตร์ ประจำสาขาเคมีอินทรีย์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงกรณีสหรัฐฯ เตือนอาจมีการทำระเบิดจากยาสีฟันเพื่อก่อการร้ายบนเครื่องบิน
ทั้งนี้ นอกจากฟลูออร์ไรด์ที่เป็นองค์ประกอบเคมีหลักในยาสีฟันแล้ว รศ.ดร.วีรชัย ระบุว่า ยาสีฟันยังมีอลูมินัมไฮดรอกไซด์ (Al(OH)3) แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) แคลเซียมไฮโดรเจนฟอสเฟต ไฮดรอกซีอพาไทต์ (Ca5(PO4)3OH) และอื่นๆ ซึ่งสารกลุ่มเหล่านี้เกิดออกซิเดชันได้อย่างรุนแรง และเกิดออกซิเดชันกับตัวเอง (Self oxidation) แบบลูกโซ่ จนนำไปสู่การเป็นวัตถุระเบิดได้
จากบทความเรื่องระเบิดปุ๋ยเคมีที่ รศ.ดร.วีรชัย ได้เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ นั้น อธิบายว่าวัตถุระเบิดมี 2 กลุ่มหลักๆ คือ วัตถุระเบิดแรงดันต่ำ ที่ทำให้เกิดการลุกไหม้อย่างรุนแรง (Deflagration) และวัตถุระเบิดแรงดันสูงที่ต้องมีการปะทุ (Detonation) ซึ่งระเบิดทีเอ็นทีเป็นตัวอย่างประเภทหลังที่รู้จักกันดี และยังมีปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรตที่มีประสิทธิภาพในการระเบิดพอๆ กับทีเอ็นที แต่ราคาถูกกว่า
“กลไกการระเบิดจะเกิดจากปฏิกิริยาลูกโซ่ในสารวัตถุระเบิดนั้นๆ จนถึงจุดหนึ่งจะเกิดการลุกไหม้แผ่ขยายอย่างรวดเร็ว และหากภาชนะมีแรงอัด ก็จะเกิดการระเบิดออกมาในที่สุด” ข้อมูลจาก รศ.ดร.วีรชัย ระบุ พร้อมยกตัวอย่างกรณีกระเป๋าผู้โดยสารลุกไหม้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเกิดจากตัวอย่างปุ๋ยในกระเป๋าผู้โดยสาร
คลิปการกระเป๋าผู้โดยระเบิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ตามหลักการนั้นต้องจัดเก็บสารในกลุ่มแอมโมเนียมไนเตรตในที่เย็นและไม่แออัด เพราะหากมีความร้อนเหมาะสมสารกลุ่มนี้จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยออกซิเจนจากภายนอก เนื่องจากในสูตรโครงสร้างเคมีมีออกซิเจนถึง 3 อะตอม (NH4NO3) และยังเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันแบบลูกโซ่ ทำให้ความร้อนมากขึ้นจนถึง “จุดวาบไฟ” และลุกไหม้อย่างรวดเร็วเพราะมีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ
ส่วนการนำยาสีฟันไปทำระเบิดนั้น รศ.ดร.วีรชัย อธิบายว่าต้องมีตัวจุดปะทุ เพราะไม่สามารถระเบิดได้ด้วยตัวเอง โดยอาใช้ชนวนระเบิดทำให้เกิดเปลวไฟ เพื่อให้ยาสีฟันเกิดการลุกไหม้อย่างรวดเร็ว และต้องอัดยาสีฟันลงในภาชนะระบบปิด โดยปริมาณที่ใช้ต้องมากประมาณหม้อหุงข้าวขนาดเล็ก
อาจารย์นิติวิทยาศาสตร์ยกตัวอย่างกรณีระเบิดที่บอสตัน สหรัฐฯ ในการแข่งวิ่งมาราธอนนั้น ผู้ก่อการร้ายได้ใช้หม้อหุงข้าว ใส่วัตถุระเบิดกลุ่มแอมโมเนียมไนเตรต และอัดเศษโลหะชิ้นเล็กๆลงใน อัดให้แน่น และใช้ชนวนจุดระเบิด โดยเอาหม้อหุงข้้าวที่อัดวัตถุระเบิดและเศษโลหะใส่ในเป้ แล้วดึงชนวนระเบิดจากสายเป้
“การจุดปะทุทำได้หลายแบบนะครับ คือใช้คลื่นแสงก็ได้ คือสนามไฟฟ้าทำให้เกิดการติดไฟ เพื่อเป็นหัวเชื้อในการลุกไม้ต่อไปอย่างรวดเร็ว การทำเชื้อปะทุคือการทำอย่างไรก็ได้ ให้เกิดประกายไฟ ในการนี้สหรัฐฯ กลัวมาก หากนำยาสีฟันขึ้นเครื่อง เพราะเป็นวัตถุระเบิดได้ และเชื้อปะทุสามารถดัดแปลงจากวงจรอิเล็กทรอนิกส์โดยทำให้ลัดวงจร เช่น โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุค เป็นต้น ระเบิดกลุ่มนี้เรียกว่า ระเบิดแสวงเครื่องครับ” รศ.ดร.วีรชัย อธิบาย
คลิปการระเบิดของโรงงานปุ๋ยในเนวาดา สหรัฐฯ กลไกการระเบิดเกิดขึ้นเหมือนกับไฟไหม้กระเป๋าที่สนามบินสุวรรณภูมิ