xs
xsm
sm
md
lg

“โรงไฟฟ้าชีวมวล” ทางเลือกแก้ไฟตกในร้อยเอ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองชีวมวลในโรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชันที่รอกระบวนการสับละเอียดก่อนนำเข้ากระบวนการแก๊สซิฟิเคชัน หรือการเผาไหม้ในที่อับอากาศเพื่อให้ได้ก๊าซสำหรับจุดเครื่องยนต์หมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ขณะที่เวียดนามเพื่อนบ้านเรากำลังจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่โรงไฟฟ้าจากชีวมวลอาจเป็นทางเลือกสำหรับหลายชุมชนของไทยที่มีผลิตผลทางการเกษตรเหลือเฝือ

ต.โนนตาล เป็นตำบลแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ที่มีปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าและประสบปัญหา “ไฟตก” บ่อยๆ แต่หลังจากมีโอกาสไปดูงานด้านโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ประเทศสเปน เมื่อปี 2551 นายสถิตชัยย์ ฉิมสา นายกเทศมนตรีของร้อยเอ็ดในขณะนั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าแบบเดียวกันในชุมชน

“แนวคิดอันดับแรกที่อยากสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะอยากสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ประชาชนสามารถขายวัสดุการเกษตร ปลูกไม้ยูคาฯ หญ้าเนเปียร์ หรือไม้โตเร็วให้แก่โรงไฟฟ้าได้ ถ้าเสนอสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะได้ประโยชน์แค่นายทุน แต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย” สถิตชัยย์เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

โรงไฟฟ้าชีวมวลที่อดีตผู้บริหารท้องถิ่น 4 สมัยของร้อยเอ็ดนำกลับมาสร้างนั้นเป็นโรงไฟฟ้าแบบแก๊สซิฟิเคชัน ที่นำชีวมวลมาเผาไหม้ในที่อับอากาศให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เพื่อนำไปจุดเครื่องยนต์ให้ได้กำลังเครื่องยนต์สำหรับหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
 
ปัจจุบัน สถิตชัยย์ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท สลักเพชร รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และได้สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลระบบแก๊สซิฟิเคชันที่ทดลองเดินเครื่องมาตั้งแต่เดือน ส.ค.56 และกำลังติดตั้งมิเตอร์เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

“ก่อนสร้างเราตั้งประชาคมเพื่อสอบถามความเห็นชาวบ้านว่าเอาด้วยไหม แล้วก็แจกแจงไปว่าโรงไฟฟ้าแบบนี้เป็นยังไง รับรองว่าไม่มีควัน ไม่มีน้ำเสีย หากมีควันหรือน้ำเสียให้เห็น เราจะหยุดโรงไฟฟ้าทันที” สถิตชัยย์เผย

โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท สลักเพชร เป็นแบบแก๊สซิฟิเคชันแห่งแรกของจังหวัด ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลแบบเดิมที่อาศัยวิธีนำชีวมวลไปต้มน้ำให้ได้ไอเดือดสำหรับหมุนกังหันไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าแบบเผาชีวมวลขนาด 1 เมกะวัตต์ มีต้นทุน 50 ล้านบาท แต่โรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชันขนาดเดียวกันมีต้นทุน 90 ล้านบาท

นายนพดล คล้ายโต หนึ่งในทีมวิศวกรจาก บริษัท อัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเต็มส์ จำกัด ที่ปรึกษาและผู้ผลิตเครื่องจักรโรงไฟฟ้าให้แก่บริษัทสลักเพชร กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลแบบเผาเพื่อต้มน้ำนั้นใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ากิโลวัตต์ละ 1.5 กิโลกรัม ขณะที่โรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชันใช้เชื้อเพลิง 1 กิโลกรัม

“เราเริ่มเดินเครื่องมาตั้งแต่ ส.ค.ปีที่แล้ว ผลิตไฟฟ้า 350 กิโลวัตต์ ใช้ในโรงไฟฟ้าไป 50-55 กิโลวัตต์ ส่วนไฟฟ้าที่เหลือปล่อยทิ้งเป็น Free Load เพราะไฟฟ้าที่ผลิตออกมาไม่สามารถเก็บไว้ได้ แต่ปลาย ก.พ.นี้จะเริ่มขายได้จริง” นพดลกล่าว

วิศวกรจากอัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเต็มส์ เผยอีกว่า ที่ทางบริษัทเป็นผู้ออกแบบและผลิตเครื่องจักรในโรงไฟฟ้าเกือบทั้งหมด ยกเว้นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้านำเข้าจากสหรัฐฯ และมอเตอร์สำหรับหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นำเข้าจากอิตาลี และเทคโนโลยี

ผลิตโรงไฟฟ้าจากชีวมวลแก๊สซิฟิเคชันแบบเดียวกันนี้ยังได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ซื้อไปติดตั้งที่เมืองเซนได ในจังหวัดมิยางิ ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการแถลงข่าวในปลายเดือน ก.พ.57 ณ พื้นที่ก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่น

“หลักๆ พื้นที่สำหรับโรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชันขนาด 500 กิโลวัตต์ ต้องมีเชื้อเพลิงชีวมวลป้อนให้ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 15 ตัน ซึ่งที่นี่มีเหลือเฝือ ส่วนการออกแบบโรงไฟฟ้านั้นเราจะดูความต้องการลูกค้าว่าต้องการขายไฟฟ้ากี่หน่วย ซึ่งเราจะออกแบบให้คุ้มแก่การลงทุน และตัองดูที่ตั้งของโรงไฟฟ้าด้วยว่าโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าจะรับกระแสไฟฟ้าได้อีกเท่าไร สำหรับที่นี่รับเพิ่มได้อีก 2 เมกะวัตต์” นพดลระบุ

สำหรับเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวลของสลักเพชร หลักๆ ได้แก่ ไม้ยูคาลิปตัส ซังข้าวโพด ฟางข้าว วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่ง นพดล กล่าวว่า เชื้อเพลิงต่างชนิดกันมีการจัดการเชื้อเพลิงที่ต่างกันไปตามความหนาแน่นของเชื้อเพลิง โดยเชื้อเพลิงที่มีความหนาแน่น 750 กก.ต่อลูกบาศก์เมตร จะผ่านขั้นตอนการสับย่อยและไล่ความชื้นก่อนเข้ากระบวนการแก๊สซิเฟชัน ส่วนเชทชื้อเพลิงที่มีความหนาแน่นต่ำกว่านั้นจะผ่านการบด สับย่อย ไล่ความชื้น และอัดให้มีความหนาแน่นมากขึ้น

ทางด้าน สถิตชัยย์ เผยอีกว่าเขายังวางแผนคืนกำไรให้แก่ชุมชน โดยจะรับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลจากเด็กนักเรียนในราคาถุงละ 20 บาท โดยไม่คิดเป็นต้นทุน รวมถึงรับซื้อเศษไม้จากผู้สูงอายุในชุมชนด้วย

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท สลักเพชร ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และกระทรวงพลังงาน ภายใต้โครงการนำร่องเพื่อผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลในระดับชุมชน 7.4 ล้านบาท สำหรับมูลค่าลงทุนทั้งหมด 34 ล้านบาท

 
นายสถิตชัยย์ ฉิมสา

คนงานขนชีวมวลเข้าเครื่องผลิตก๊าซจากกระบวนการแก๊สซิฟิเคชัน ระหว่างที่ระบบอัตโนมัติในการลำเลียงชีวมวลยังไม่แล้วเสร็จ
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องจักรสีเขียวใต้ถุนอาคาร) )
โรงไฟฟ้าชีวมวลแบบแก๊สซิฟิเคชัน






กำลังโหลดความคิดเห็น