กระบี่ - กฟผ.ยันเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ที่ จ.กระบี่ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของภาคใต้ พร้อมย้ายเส้นทางลำเลียงถ่านหินตามชาวบ้านเสนอ จากท่าเทียบเรือสะพานช้าง มาเป็นท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว อยู่ระหว่างทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
นายเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมประชุมโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พบสื่อมวลชนที่ จ.กระบี่ ว่า กฟผ.ยังคงเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ที่อำเภอเหนือคลอง จ.กระบี่ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 28,000 ล้านบาท มีกำหนดส่งไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2562 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของภาคใต้ ที่เติบโตขึ้นปีละกว่า 200-300 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันภาคใต้ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 2,250 เมกกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้อยู่เกือบ 3,000 เมกะวัตต์ และต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางเข้ามาเสริมระบบอยู่เสมอ
ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กล่าวอีกว่า ในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา ทาง กฟผ.ได้ทำการสำรวจเส้นทางลำเลียงถ่านหินเส้นทางใหม่ ซึ่งเปลี่ยนจากเส้นทางเดิมคือ ที่ท่าเทียบเรือสะพานช้าง ต.คลองขนาน มาเป็นท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง เนื่องจากมีการต่อต้านจากมวลชน และเป็นความต้องการของประชาชนที่ให้มีการย้ายท่าเทียบเรือ ซึ่งท่าเรือคลองรั้ว อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าเดิม ประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันได้สำรวจเส้นทางเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะรายงานสำนักนโยบายและแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ชาวบ้านกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพนั้น ทาง กฟผ.ก็ตระหนัก และให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่างๆ มีความทันสมัยมากขึ้น การที่จะนำถ่านหินมาผลิตกระแสไฟฟ้าจะต้องมีระบบป้องกันที่ดีเยี่ยม และต้องลดมวลพิษให้มากที่สุด หากไม่ผ่าน สผ. ทาง กฟผ.ก็ไม่สามารถสร้างได้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำขั้นตอนทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และเปิดรับฟังความเห็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ ค.3 คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.2557 นี้ โดยมั่นใจว่า กฟผ.จะสามารถเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ได้แน่นอน
“หากโรงไฟฟ้ากระบี่สร้างได้ตามกำหนดจะลดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าลงได้ 2-3 ปี แต่จากนี้ไปอาจจะเกิดปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ขึ้นมาอีก เพราะทางโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช ก็จะปิดทำการเพราะหมดอายุการใช้งาน และในขณะเดียวกัน มาเลเซียก็จะหยุดจ่ายก๊าซให้โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ชั่วคราว ประมาณเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะทำให้ไฟฟ้าหายไปจากระบบประมาณ 470 เมกกะวัตต์ ประกอบกับภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยว และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงสูงตามไปด้วย ซึ่งได้มีการเตรียมแผนรองรับโดยการเชื่อมไฟฟ้ามาจากทางภาคกลางมาเสริม” นายเผ่าพงษ์ กล่าว