สุราษฎร์ธานี - กระทรวงพลังงาน เร่งรณรงค์ประหยัดพลังงาน หวั่นวิกฤตไฟฟ้าดับภาคใต้ ช่วงหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าชธรรมชาติไทย-มาเลเซีย หรือจีดีเอ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2557
นายหรอหยา จันทรัตนา พลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าชธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย (จีดีเอ) ในระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2557 เป็นระยะเวลา 28 วัน ว่า จะทำให้มีปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปประมาณ 420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ที่มีกำลังผลิตรวม 710 เมกะวัตต์ และใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงหลักจะต้องหยุดเดินเครื่อง ซึ่งกระทบต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ยังสูงกว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่
ทั้งนี้ จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รายงานว่า การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA-A18 จะส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของภาคใต้อยู่ที่ 2,306 เมกะวัตต์ จากการประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ ระบบไฟฟ้าภาคใต้จะมีความเสี่ยงในช่วง Peak Time เวลา 18.30-22.30 น. และกรณีวันที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 2,543 เมกะวัตต์ ระบบไฟฟ้าภาคใต้จะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมในช่วงบ่ายเวลา 13.30-15.30 น.
จากการประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้า และกำลังการผลิต จะเห็นว่าขาดกำลังผลิตประมาณ 100-250 เมกะวัตต์ โดยมีปัจจัยที่จะสามารถช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้ คือ การใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าคาดการณ์ และการรณรงค์ให้มีการลดการใช้ไฟฟ้า ซึ่งหากการรณรงค์ดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าจะต้องมีการส่งพลังไฟฟ้าผ่านสายส่งเชื่อมโยงภาคกลาง-ภาคใต้ เกินมาตรฐานรองรับความมั่นคง ซึ่งจะส่งผ่านพลังไฟฟ้าเกิน 700 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 950 เมกะวัตต์ แต่หากมีแนวโน้มมากกว่านี้ ทาง กฟผ. จะดำเนินการประสานไปยัง กฟภ. เพื่อหมุนเวียนดับไฟฟ้าบางส่วนตามแผนที่จัดเตรียมไว้ นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เตรียมความพร้อมรองรับในด้านต่างๆ ไว้ดังนี้ 1.ระบบผลิต ปรับแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าภาคใต้ โดยไม่ให้มีการบำรุงรักษาในช่วงที่แหล่ง JDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซฯ 2.ระบบส่ง และระบบป้องกัน จะทำการตรวจสอบอุปกรณ์ระบบส่งที่สำคัญ และระบบป้องกันต่างๆ ให้มีความพร้อมใช้งาน และ 3.เชื้อเพลิง กฟผ.จะจัดเตรียมปริมาณกักเก็บสำรอง และแผนการจัดส่งให้เพียงพอต่อการใช้งาน
นายหรอหยา กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นั้นได้มีแผนการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ โดยจะเน้นย้ำการไฟฟ้าเขตภาคใต้ ให้ตรวจสอบ บำรุงรักษาระบบจำหน่ายสายส่ง สถานีไฟฟ้า และอุปกรณ์ควบคุมป้องกันต่างๆ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และเตรียมแผนการปลดโหลด กรณีกำลังสำรองผลิตต่ำ ด้วยการตรวจสอบฟีดเดอร์ (วงจรจ่ายไฟ) ปริมาณโหลด (กำลังไฟฟ้าที่จ่าย) ให้เป็นไปตามแผน นอกจากนี้ จะเตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง น้ำมันเชื้อเพลิง และพนักงานควบคุมเครื่องให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา โดยจะมีการประสานงานกับ กฟผ.อย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามสถานการณ์และปฏิบัติการในกรณีต่างๆ อย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้ จะทำการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชน และผู้ประกอบการร่วมกันประหยัดไฟฟ้า หรือหลีกเลี่ยงการใช้ไฟในช่วงโหลดสูงสุดควบคู่กันไปด้วย
พร้อมกันนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดได้ร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีความต้องการพลังงานสูงสุด 2 ช่วงเวลา คือ ระหว่างช่วงเวลา 13.30-15.30 น. และช่วงเวลา 18.30-22.30 น. ของวันจันทร์-วันเสาร์ ตลอดช่วงเวลาการหยุดจ่ายก๊าซ โดยจะขอความร่วมมือจากกลุ่มอุตสาหกรรม 11 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงแรม การประมงในมหาสมุทรและการประมงชายฝั่งทะเล การผลิตน้ำแข็ง ห้างสรรพสินค้า การทำอาหารกระป๋อง โรงเลื่อยและไม้บาง ผลิตภัณฑ์ยางแผ่นเครป และยางอื่นๆ มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษา อาหารสัตว์สำเร็จรูป เหมืองหิน และปูนซีเมนต์ ซึ่งคาดว่าการขอความร่วมมือจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสามารถช่วยลดกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 200-300 เมกะวัตต์
“การปิดซ่อมท่อก๊าซแหล่ง JDA-A18 ครั้งนี้ ถือว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้อย่างมาก เนื่องจากปริมาณของก๊าซที่หายไปค่อนข้างเยอะ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ยังสูงกว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้า และการลดใช้ไฟฟ้า ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้ ก็มั่นใจภาคใต้ว่าจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ และไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับซ้ำรอยเหมือนเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 อย่างแน่นอน”