สทน.-สทน. ลงนามความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยจากเกาหลีใต้ หวังเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อปรับปรุงและบำรุงรักษาเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูอายุกว่า 50 ปีของไทย ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ
ข้อทมูลจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) แจ้งว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของไทย ได้สร้างผลผลิต ทั้งการฉายรังสีอัญมณีซึ่งเป็นสินค้าส่งออก และการสร้างมูลค่าทางสังคมอื่นๆ เช่น การผลิตสารไอโซโทปรังสีซึ่งใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรค การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ หรือ การพัฒนาบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย
ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กล่าวว่า การที่เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยของไทยสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัยมามากกว่า 50 ปีนั้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันสูงของเครื่องปฏิกรณ์และการดูแลรักษาเครื่องปฏิกรณ์อย่างดี และเพื่อให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของไทยอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานและมีความปลอดภัยระดับสูงสุด วิศวกรและช่างเทคนิคที่รับผิดชอบในการดูแลเครื่องปฏิกรณ์ จะต้องบำรุง ดูแลรักษาระบบและส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องปฏิกรณ์ด้วยความเข้มงวดอย่างเป็นระบบ การบำรุงรักษาประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ตามมาตรฐานที่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) กำหนด
“ด้วยอายุเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูที่มาถึง 51 ปีแล้วนั้น การดูแลรักษาเครื่องปฏิกรณ์ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเครื่องปฏิกรณ์ฯ จะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีความรู้เชิงลึกในเรื่องเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ฯ และรวมถึงมีความรู้และความชำนาญด้านระบบย่อยประกอบเครื่องปฏิกรณ์ฯ ต่างๆ เป็นอย่างดี ซึ่งตลอดระยะเวลาการใช้งานของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูของไทย วิศวกรและช่างเทคนิคที่รับผิดชอบได้มีการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพมาเป็นลำดับ โดยเริ่มจากการรับความรู้และเทคโนโลยีในการบำรุงรักษาจากผู้ผลิตเครื่องปฏิกรณ์ฯ ในช่วงเริ่มต้นมาจนกระทั่งสามารถบำรุงดูแลรักษาเครื่องปฏิกรณ์ได้เองในปัจจุบัน” ดร.สมพรระบุ
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สทน.กล่าวว่า การบริหารและดูแลรักษาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของไทยในอนาคตจะมีความท้าทายมากขึ้นทั้งจากความต้องการใช้การประโยชน์เครื่องปฏิกรณ์ที่หลากหลายมากขึ้นสืบเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและทั้งจากอายุของเครื่องปฏิกรณ์ที่มากขึ้น บุคลากรที่รับผิดชอบเครื่องปฏิกรณ์จึงมีแนวทางที่จะพัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญหลักในการดูแลและรักษาให้สามารถใช้งานเครื่องปฏิกรณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงต่อไป การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมคือ ให้บุคลากรมีความสามารถทัดเทียมกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรของเครื่องปฏิกรณ์ฯ ในอนาคตจะเน้นการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพึ่งตนเองในด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น ศูนย์เครื่องปฏิกรณ์ฯ จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยการออกแบบและสร้างระบบใหม่ทดแทนระบบเดิมที่เริ่มเสื่อมสภาพเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองด้วย
ข้อมูลจาก สทน.ระบุว่าโครงการนำร่องของยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ โครงการออกแบบและปรับปรุงระบบวัดและควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ปปว.-1/1 โดยในโครงการนี้วิศวกรและช่างเทคนิคของศูนย์เครื่องปฏิกรณ์ฯ โดยใช้วิศวกรและช่างเทคนิคชาวไทยดำเนินโครงการนี้ทั้งหมด ขณะที่ ดร.ชนาธิป ทิพยกุล วิศวกรนิวเคลียร์ ศูนย์เครื่องปฏิกรณ์ กล่าวว่า ในโครงการนี้วิศวกรและช่างเทคนิคของศูนย์เครื่องปฏิกรณ์ จะทำการออกแบบและเปลี่ยนระบบวัดและควบคุมซึ่งเปรียบเสมือน “สมอง” ของเครื่องปฏิกรณ์ที่มีหน้าที่ควบคุมและสั่งงานการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์ วิศวกรและช่างเทคนิคของศูนย์เครื่องปฏิกรณ์เทคโนโลยีได้ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีนี้ภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของสถาบันวิจัยพลังงานปรมาณูเกาหลี (Korea Atomic Energy Research Institute: KAERI) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ผ่านความร่วมมือระหว่าง สทน. และปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการออกแบบระบบใหม่
“ความพยายามอย่างสูงของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของไทยในการดูแลรักษาและพัฒนาเทคโนโลยีทั้งหมดนี้เพื่อนำเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของไทยที่มีอยู่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และหลากหลายมากขึ้นพร้อมทั้งรักษาให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยของไทยยังคงความเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไป ซึ่งในที่สุดจะส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ดร.สมพรกล่าว