xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก 6 ชนิดใหม่พืชไทย “วงศ์ชาฤาษี” : บุหงาการะเกตุ (5)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บุหงาการะเกตุ (Bunga Karaket) ชื่อวิทยาศาสตร์ ไมโครชิริตา การาเกตอี (Microchirita karaketii D.J.Middleton & Triboun)  ไม้ล้มลุกปีเดียว สูงได้ถึง 60 ซม. ที่มาของชื่อ เป็นการต่อคำระหว่างบุหงา ที่แปลว่า ดอกไม้ รวมกับพืชชนิดใหม่นี้ถูกตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เป็นเกียรติแก่คุณปรีชา การะเกตุ นักพฤกษศาสตร์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้ร่วมสำรวจระหว่างค้นพบพืชชนิดนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีความหมายว่า พืชที่เป็นเกียรติแก่นายปรีชา การะเกตุ

ลักษณะใบ
ใบเรียงตรงข้าม ก้านใบยาว 0.5-2 ซม. แผ่นใบรูปไข่ กว้าง 3.5-19 ซม. ยาว 5.1-25 ซม. ปลายเรียว โคนรูปหัวใจ

ลักษณะดอก
ช่อดอกเกิดบนใบ ก้านดอกยาว 4.5-9 ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน 5 แฉก ยาว 4.3-9 มม. สามแฉกล่างแยกจากกัน สองแฉกบนเชื่อมติดกัน 1-5 มม. ไม่สมมาตร แฉกกว้าง 1-1.6 มม. ยาว 1-6 มม. กลีบดอกสีขาว ในหลอดด้านล่างมีแถบสีเหลืองและมีปื้นสีม่วงทั้งสองข้าง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นเป็นหลอด ถึงแฉกบนยาว 1-1.3 ซม. ถึงแฉกล่างยาว 1.2-1.4 ซม. ปลายหลอดแยกเป็น 5 แฉก รูปกลมกว้าง แฉกบนกว้าง 2.8-4.7 มม. ยาว 2.7-3.5 มม. แฉกคู่ข้างกว้าง 4-5.8 มม. ยาว 2.5-5 มม. แฉกคู่ล่างกว้าง 3.8-5.5 มม. ยาว 3-4.7 มม.

อวัยวะสืบพันธุ์
เกสรเพศผู้เชื่อมอยู่ในหลอดกลีบดอกสูงจากโคน 5.2-6.5 มม. ก้านชูอับเรณูยาว 2.8-3.2 มม. อับเรณูกว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 1.2 มม. ปลายติดกัน เกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์มีเพียงก้านชูอับเรณู ยาวประมาณ 3 มม. ติดอยู่เหนือโคนหลอดกลีบดอกประมาณ 3 มม. รังไข่รูปกระสวย ยาว 3.5-5 มม. ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว 6-7 มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นสองแฉก ยาวประมาณ 1.2 มม. ผลอ่อนยาวได้ถึง 5 ซม. โค้งเล็กน้อย มีกลีบเลี้ยงติดทน

แหล่งที่พบ
ภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว) พบตามป่าผลัดใบแบบผสม ตามภูเขาหินปูน ที่ความสูง 530-750 ม. จากระดับน้ำทะเล

ดอกบาน ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน

***
บุหงาการะเกตุ เป็นหนึ่งในพืชไทยชนิดใหม่ในวงศ์ชาฤาษี (Family Gesneriaceae) ที่ค้นพบโดยนักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการไทยฟอเรสต์บูลเลติน (Thai Forest Bulletin) ในเดือน ธ.ค.2556










กำลังโหลดความคิดเห็น