xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก 6 ชนิดใหม่พืชไทย “วงศ์ชาฤาษี” : มาลัยฟ้อนเล็บ (3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มาลัยฟ้อนเล็บ (Malai Fon Lep) ชื่อวิทยาศาสตร์ ไมโครชิริตา วูดีอิ  (Microchirita woodi D.J.Middleton & Triboun) ไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นสูงได้ถึง 50 ซม. ที่มาของชื่อเป็นการต่อคำระหว่าง มาลัย ที่แปลว่า พวงดอกไม้ ซึ่งลักษณะของดอกของพืชชนิดนี้บานรวมกันเป็นกลุ่มคล้ายกับพวงมาลัย ปะปนอยู่กับช่อผลซึ่งมีลักษณะเรียวยาว คล้ายกับเล็บฟ้อนในการร่ายรำของสาวชาวเหนือ จึงความหมายว่า พืชที่มีดอกเหมือนพวงมาลัยและอยู่ในความสุขระหว่างการร่ายรำ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ เดวิด วูด (David Wood) ผู้เชี่ยวชาญสกุลคำหยาด (Microchirit) ระดับโลก

ลักษณะใบ
ใบเรียงตรงข้าม ก้านใบยาว 0.3-1 ซม. แผ่นใบรูปไข่ กว้าง 4.6-21.5 ซม. ยาว 8-30 ซม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ

ลักษณะดอก
ช่อดอกเกิดบนใบ ก้านดอกยาว 0.7-1.4 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แคบ กว้าง 1-2 มม. ยาว 5.7-10.5 มม. กลีบดอกสีขาวอมเหลืองถึงสีเหลืองอ่อน โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นเป็นหลอด สีเขียวอ่อน ยาว 1.2-1.6 ซม. ถึงแฉกบนยาว 1.2-1.6 ซม. ถึงแฉกล่างยาว 1.6-2 ซม. ปลายหลอดแยกเป็น 5 แฉก แฉกบนรูปกลมกว้างถึงรูปไข่ แฉกบนกว้าง 4-6.6 มม. ยาว 3-4.2 มม. แฉกคู่ข้างกว้าง 5.5-7 มม. ยาว 4.5-5.7 มม. แฉกคู่ล่างกว้าง 6.2-8 มม. ยาว 5-7.5 มม.

อวัยวะสืบพันธุ์
เกสรเพศผู้เชื่อมอยู่ในหลอดกลีบดอกสูงจากโคน 0.9-1.2 ซม. ก้านชูอับเรณูยาว 2-2.5 มม. อับเรณูกว้าง 1.9-2.2 มม. ยาว 1.3-1.8 มม. เกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์ยาวประมาณ 0.2 มม. รังไข่ยาว 5.5-7.5 มม. ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว 6-7.5 มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นสองแฉก ยาวประมาณ 0.8 มม. ผลอ่อนโค้งเล็กน้อย กว้างประมาณ 1 มม. ยาวถึง 4.6 ซม.

แหล่งที่พบ
ทางภาคเหนือ ในเขตจังหวัดน่าน (อำเภอเมือง) ขึ้นตามเขาหินปูน ในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ

ดอกบาน ช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนตุลาคม

 

***
มาลัยฟ้อนเล็บเป็นหนึ่งในพืชไทยชนิดใหม่ในวงศ์ชาฤาษี (Family Gesneriaceae) ที่ค้นพบโดยนักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการไทยฟอเรสต์บูลเลติน (Thai Forest Bulletin) ในเดือน ธ.ค.2556









กำลังโหลดความคิดเห็น