ข้าวตอกโยนก (Kao Tog Yonok) ชื่อวิทยาศาสตร์ ไมโครชิริตา อัลบิฟลอรา (Microchirita albiflora D.J.Middleton & Triboun) ไม้ล้มลุกปีเดียว สูง 0.25-1 ม. เป็นพืชที่มีดอกสีขาวขนาดเล็กคล้ายข้าวตอกสำหรับบูชา ผนวกกับพืชชนิดนี้พบบนยอดดอยตุง จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพระธาตุซึ่งสร้างมาตั้งแต่อาณาจักรโยนกนาค ซึ่งนับเป็นอาณาจักรแรกบนแผ่นดินไทย จึงมีความหมายว่า ข้าวตอกสำหรับบูชาในอาณาจักรโยนก ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ระบุถึงพืชที่มีดอกสีขาว
ลักษณะใบ
ใบเรียงตรงข้าม ก้านใบยาว 2-9.5 ซม. แผ่นรูปไข่ กว้าง 6-9.5 ซม. ยาว 8.5-20.5 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปหัวใจ
ลักษณะดอก
ช่อดอกเกิดบนใบ ก้านดอกยาว 2-3 ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน 5 กลีบ รูปไข่แคบ กว้าง 1.5-2.3 มม ปลายเรียวแหลม กลีบดอกสีม่วงเข้ม โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปกลมกว้าง ปลายมนกลม ด้านล่างของหลอดยาว 9-9.5 มม. ด้านบนยาวประมาณ 1 ซม. ห่างจากแฉกบนประมาณ 4 มม. แฉกบนกว้างประมาณ 6 มม. ยาวประมาณ 4 มม. มีส่วนเว้าระหว่างแฉกประมาณ 2.5 มม. แฉกข้างกว้างประมาณ 9.5 มม. ยาวประมาณ 6 มม. แฉกล่างกว้างประมาณ 1.3 ซม. ยาวประมาณ 8.5 มม.
อวัยวะสืบพันธุ์
เกสรเพศผู้เชื่อมอยู่ในหลอดกลีบดอกบริเวณส่วนที่เริ่มผายกว้าง ที่สมบูรณ์ 2 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.5 มม. เกลี้ยง อับเรณูกว้างประมาณ 2.5 มม. ยาวประมาณ 1.5 มม. เกลี้ยง ยกเว้นส่วนรอยต่อที่อับเรณูอันบนกับส่วนก้านชูอับเรณูมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์ 3 อัน มีเพียงเป็นก้านชูอับเรณูติดอยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก อันกลางยาวประมาณ 1 มม. คู่ข้างยาวประมาณ 1 มม. รังไข่รูปกระสวย ยาวประมาณ 5 มม. ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 7 มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นสองแฉกแบน ยาวประมาณ 1.2 มม. ผลอ่อนสีเขียว โค้ง แต่ไม่บิด กว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 4 มม.
แหล่งที่พบ
ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในเขตจังหวัดจันทบุรี (อำเภอแก่งหางแมว) พบตามหน้าผาหินปูนแบบเปิดหรือบริเวณปากถ้ำ
ดอกบาน ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม
***
ข้าวตอกโยนกเป็นหนึ่งในพืชไทยชนิดใหม่ในวงศ์ชาฤาษี (Family Gesneriaceae) ที่ค้นพบโดยนักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการไทยฟอเรสต์บูลเลติน (Thai Forest Bulletin) ในเดือน ธ.ค.2556